การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นางใจดีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 00001 อนุญาตให้นายมีบุญปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย นายมีบุญได้ปลูกสร้างบ้านและทางราชการได้ออกหมายเลขทะเบียนบ้านเลขที่ 1/1 ให้ ระหว่างที่ นายมีบุญอาศัยอยู่มีคนนํารถยนต์มาจอดทิ้งไว้หน้าบ้านของนายมีบุญ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ นายมีบุญจึงใช้รถยนต์คันนี้อย่างเปิดเผยและแสดงความเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน อีก 10 ปี ต่อมานางใจดีได้แบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็น 2 แปลง ยกให้แก่นายเดชและนายเรืองบุตรของนางใจดี คนละแปลง โดยนายเรืองได้รับที่ดินส่วนที่มีบ้านของนายมีบุญตั้งอยู่ นายมีบุญเกรงจะมีปัญหาเกี่ยวกับ ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนี้ของตน นายมีบุญจึงไปขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในบ้านและรถยนต์นี้ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่จดทะเบียนให้ นายมีบุญจึงยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคําสั่งว่า บ้านเลขที่ 1/1 และรถยนต์ที่นายมีบุญได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นกรรมสิทธิ์ของนายมีบุญ

ท่านเห็นว่า นายมีบุญมีอํานาจยื่นคําร้องขอดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็น คําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมีบุญได้ยื่นคําร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคําสั่งว่า บ้านเลขที่ 1/1 ที่นางใจดีเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 00001 อนุญาตให้นายมีบุญปลูกบนที่ดินดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย และรถยนต์ที่นายมีบุญได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์เป็นกรรมสิทธิ์ของนายมีบุญนั้น ไม่มีกฎหมายใด สนับสนุนรับรองให้นายมีบุญกระทําเช่นนั้นได้ หากนายมีบุญถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านและรถยนต์ ดังกล่าว นายมีบุญก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอํานาจได้อย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 (ตามนัยคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2551 และ 10545/2553)

ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นายมีบุญ จึงไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น

สรุป

นายมีบุญไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น

 

ข้อ 2. นายสมบูรณ์มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงรายมีตําแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท เอดี จํากัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้มีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบกิจการเกี่ยวกับ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เอดี จํากัด โดยนายสมบูรณ์ได้ซื้อที่ดินจากนายมงคล ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ ในจังหวัดเชียงรายเพื่อจะจัดทําหมู่บ้านจัดสรรที่จังหวัดเชียงรายจึงได้ไปติดต่อบริษัท ทําโฮม จํากัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างมีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครเข้ามาเป็น ผู้ดําเนินการก่อสร้างบ้านจัดสรรให้ โดยนายสมบูรณ์เดินทางมาดูแบบการจัดสร้างและทําสัญญา ก่อสร้างที่สํานักงานของบริษัท ทําโฮม จํากัด ต่อมาบริษัท ทําโฮม จํากัด ได้ก่อสร้างบ้านในพื้นที่ จังหวัดเชียงรายมาได้ครึ่งหนึ่ง บริษัท เอดี จํากัด เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของบริษัทไม่ได้จ่ายเงิน ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญา บริษัท ทําโฮม จํากัด จึงต้องการฟ้องให้บริษัท เอดี จํากัด รับผิด จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย

ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลจังหวัดเชียงรายมีอํานาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เอดี จํากัด ซึ่งมีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายสมบูรณ์เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ และบริษัท เอดี จํากัด โดยนายสมบูรณ์ได้ซื้อที่ดินจากนายมงคล ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงรายเพื่อจะทําหมู่บ้านจัดสรรที่จังหวัดเชียงรายและได้ทําสัญญากับบริษัท ทําโฮม จํากัด ซึ่งมีสํานักงานและจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดําเนินการก่อสร้างบ้านจัดสรรให้ โดยได้ทําสัญญากัน ที่สํานักงานของบริษัท ทําโฮม จํากัด และต่อมา บริษัท เอดี จํากัด ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัท ทําโฮม จํากัด ตาม ระยะเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญา บริษัท ทําโฮม จํากัด จึงต้องการพ้องให้บริษัท เอดี จํากัด รับผิด จึงยื่นฟ้องต่อ ศาลจังหวัดเชียงรายนั้น เมื่อสัญญาระหว่างบริษัท เอดี จํากัด กับบริษัท ทําโฮม จํากัด เป็นสัญญาจ้างทําของ และการฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นบุคคลสิทธิ ซึ่งมิใช่เป็นการฟ้องร้องกันเกี่ยวด้วยทรัพยสิทธิใน อสังหาริมทรัพย์จึงไม่สามารถนํา ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิมาบังคับ ดังนั้น บริษัท ทําโฮม จํากัด จะฟ้องบริษัท เอดี จํากัด ต่อศาลจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาลไม่ได้ บริษัท ทําโฮม จํากัด จะต้องคดีต่อศาล ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) คือต้องเสนอคําฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลคือศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล คือศาลแพ่งในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่ใช่ศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น และไม่ใช่ศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนา อยู่ในเขตศาล ศาลจังหวัดเชียงรายจึงไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้

สรุป

ศาลจังหวัดเชียงรายไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้

 

ข้อ 3. ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของต่อจากบิดาที่ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองเมื่อ 60 ปีก่อน ขอให้ศาลมีคําสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและฟ้องแย้งว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางจําปา เมื่อปี 2523 บิดาของผู้ร้องขายที่ดินพิพาทแก่บริษัท รุ่งเรือง จํากัด แต่บริษัทยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงอนุญาตให้บิดาของผู้ร้องอยู่อาศัยและดูแลที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2527 บริษัท รุ่งเรือง จํากัด ขายที่ดินพิพาทแก่นางจําปา ผู้ตาย โดยผู้ตายอนุญาตให้บิดาของผู้ร้องอยู่อาศัย ผู้ร้องอยู่ในที่ดิน พิพาทโดยอาศัยสิทธิของบิดาผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่ประสงค์ให้ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปขอให้ยกคําร้อง และให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท และส่งมอบคืนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อยกับใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้านนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ผู้คัดค้านไม่มีอํานาจฟ้องแย้งเพราะคดีนี้เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท และ ฟ้องแย้งเคลือบคลุม เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านอาศัยสิทธิใดในการคัดค้าน เพราะสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างกัน ทําให้ผู้ร้องหลงต่อสู้ ท่านเห็นว่า ผู้คัดค้านมีอํานาจฟ้องแย้งหรือไม่ และฟ้องแย้งของผู้คัดค้านเคลือบคลุมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 172 วรรคสอง “คําฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และ คําขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น”

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

มาตรา 188 “ในคดีไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้

(4) ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดี โดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความ และให้ดําเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท.”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผย อย่างเป็นเจ้าของต่อจากบิดาที่ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองเมื่อ 60 ปีก่อน ขอให้ศาลมีคําสั่งว่าผู้ร้องเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่มีผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง ปรปักษ์นั้น เมื่อคดีนี้เริ่มต้นอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท แต่มีผู้คัดค้านตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 188 (4) ได้บัญญัติให้ ดําเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาท ดังนั้น เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคําร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็น คดีม่มีข้อพิพาทและมีผู้คัดค้านเข้ามา ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้นย่อมมีฐานะเป็นจําเลย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิ ฟ้องแย้งผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 188 (4)

และการที่ผู้คัดค้านบรรยายว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางจําปาผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวาร พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท และส่งมอบคืนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อย กับใช้ค่าเสียหาย เดือนละ 50,000 บาทแก่ผู้คัดค้านนับแต่วันฟ้องแย้ง จนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทนั้น เป็นการบรรยายฟ้องว่า ผู้คัดค้านฟ้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางจําปา ผู้ตาย อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคําขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่ง ข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ดังนั้น การฟ้องแย้งของผู้คัดค้านจึงไม่เคลือบคลุม (ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 385/2544)

สรุป

ผู้คัดค้านมีอํานาจฟ้องแย้ง และฟ้องแย้งของผู้คัดค้านไม่เคลือบคลุม

 

 

ข้อ 4. คดีเดิมจําเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอกตามคําสั่งศาลชั้นต้นได้ใช้สิทธิในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกขอฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่ง ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเอกแก่จําเลยหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 3,000,000 บาท โจทก์เป็น ภริยาของนายเอกโดยการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายให้การต่อสู้ในคดีเดิมว่ารถยนต์คันพิพาท เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอกและโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวม ในรถยนต์คันพิพาท ซึ่งศาลชั้นต้นบังคับโจทก์ให้ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่จําเลยตามคําขอ โจทก์อุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจําเลยเป็นคดีนี้ว่าโจทก์เป็น ภริยาของนายเอกโดยการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมีทรัพย์สินทํามาหาได้ร่วมกันหลายรายการ รวมทั้งรถยนต์คันพิพาท ราคาประมาณ 3,000,000 บาท ซึ่งมีชื่อนายเอกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมานายเอกถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจําเลยใช้ราคารถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,500,000 บาท หากจําเลยไม่สามารถชําระได้ก็ให้นํารถยนต์คันดังกล่าวออกขายทอดตลาด นําเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง จําเลยให้การต่อสู้ในคดีนี้ว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน และเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับในคดีเดิม ขอให้ยกฟ้อง ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจําเลยในคดีนี้ฟังขึ้นหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 144 “เมื่อศาลใดมีคําพิพากษา หรือคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่ง คดีแล้ว ห้ามมิให้ดําเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วนั้น

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ํากับคดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และจําเลยในคดีเดิมกับจําเลยและโจทก์ในคดีนี้จะเป็นบุคคลเดียวกันซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน และในคดีเดิมของศาลชั้นต้นจําเลยได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเอก ขอให้โจทก์ คืนรถยนต์คันพิพาทให้จําเลยหรือใช้ราคา โจทก์ให้การว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยา โดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอก และโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในรถยนต์คันพิพาท กรณีจึงมีประเด็นว่ารถยนต์ คันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเอกหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ของศาลอุทธรณ์ว่ารถยนต์คันพิพาทโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับนายเอก ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์มรดก ของนายเอกด้วยหรือไม่อันเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีเดิม ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเด็น ที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีก่อนเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยในคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อคดีดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ดังนั้นข้อต่อสู้ของจําเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

กรณีที่ 2 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีเดิมจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทั้งประเด็นในคดีก่อนและคดีนี้ยังเป็น เรื่องเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อคดีเดิมจําเลยเป็นโจทก์ฟ้องคดี ส่วนโจทก์ในคดีนี้เป็นจําเลยในคดีเดิม โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ใช่โจทก์ในคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังนั้นข้อต่อสู้ของจําเลย ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

กรณีที่ 3 ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อในคดีเดิมมีประเด็นพิพาทว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเอก ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายเอกซึ่งรวมถึงรถยนต์คันพิพาทด้วยหรือไม่ อันเป็นประเด็น เดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับ คดีเดิมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 ดังนั้นข้อต่อสู้ของจําเลยในข้อนี้จึงฟังขึ้น

สรุป

ข้อต่อสู้ของจําเลยในคดีนี้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีเดิมฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อต่อสู้ของจําเลยที่ว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้ เป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิมฟังขึ้น

 

Advertisement