การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายอาทิตย์เป็นคนจังหวัดลพบุรี ทําหนังสือสั่งซื้อไม้แปรรูปจากนายเกสรที่จังหวัดแพร่โดยการส่งไปทางไปรษณีย์ เมื่อนายเกสรได้รับคําสั่งซื้อไม้แปรรูปแล้วที่จังหวัดแพร่ก็ตกลงและส่งไม้แปรรูปไปให้ นายอาทิตย์ที่จังหวัดลพบุรี นายอาทิตย์ก็ได้รับไม้ไปเรียบร้อยแล้วที่จังหวัดลพบุรี ปรากฏว่า เมื่อถึงกําหนดชําระราคาไม้นายอาทิตย์ไม่ยอมจ่าย นายเกสรจึงฟ้องนายอาทิตย์เป็นคดีแพ่งต่อ ศาลจังหวัดแพร่ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจังหวัดแพร่มีอํานาจพิจารณาคดีระหว่างนายเกสรกับนายอาทิตย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

วินิจฉัย

การติดตามการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาซื้อขายไม้แปรรูประหว่างนายอาทิตย์กับนายเกสร เป็นสัญญา ระหว่างบุคคลที่อยู่ห่างกันโดยระยะทาง สัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อคําสนองกลับมาถึงผู้เสนอ ซึ่งจากข้อเท็จจริง นายอาทิตย์ทําคําเสนอไปยังนายเกสร แม้นายเกสรจะไม่ได้ทําคําสนองตอบกลับมา แต่นายเกสรก็ได้ส่งของคือ ไม้แปรรูปกลับมาให้นายอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นคําสนองโดยปริยาย ดังนั้น เมื่อไม้แปรรูปถูกส่งกลับมายังจังหวัดลพบุรี มูลคดีจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดลพบุรี อีกทั้งจําเลยคือนายอาทิตย์ก็มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดลพบุรี นายเกสรจึง สามารถฟ้องนายอาทิตย์ได้ต่อศาลจังหวัดลพบุรีเท่านั้น ไม่สามารถฟ้องต่อศาลจังหวัดแพร่ได้ เพราะศาลจังหวัดแพร่ ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้

สรุป ศาลจังหวัดแพร่ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีระหว่างนายเกสรกับนายอาทิตย์

 

ข้อ 2. นายชุมแสงขับรถชนนายเรย์โดยประมาท นายเรย์จึงฟ้องนายชุมแสงเป็นคดีแพ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ต่อมาบริษัท ประกัน จํากัด ยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็นจําเลยร่วมอ้างว่า หากนายชุมแสงแพ้ ตนอาจถูกนายชุมแสงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากตนได้ เพราะตนรับประกันภัยรถยนต์ของนายชุมแสงอยู่ ให้ท่านวินิจฉัยว่า บริษัท ประกัน จํากัด จะสามารถยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้องขอ ต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย”

(3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี  (ก) ตามคําขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทําเป็นคําร้อง แสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหาก ศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี…”

วินิจฉัย

การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดย คําพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง ส่วนการร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (3) กฎหมายให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขอต่อศาลให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีได้ โดยอาศัยเหตุว่า ตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทนถ้าหากศาลพิจารณา ให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่บริษัท ประกัน จํากัด ยื่นคําร้องสอดขอเข้ามาเป็นจําเลยร่วม โดยอ้างว่าหากนายชุมแสงแพ้ตนอาจถูกนายชุมแสงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากตนได้ เพราะตนรับประกันภัยรถยนต์ของนายชุมแสง อยู่นั้น ถือเป็นการร้องสอดว่าตนอาจถูกฟ้องเพื่อไล่เบี้ย หากศาลพิจารณาให้นายชุมแสงแพ้คดี ซึ่งกรณีนี้ จะต้องเป็นไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (3) คือจะต้องให้ศาลออกหมายเรียกบริษัท ประกัน จํากัด เข้าไปในคดี บริษัทฯ จะสมัครใจยื่นคําร้องสอดเข้ามาเองโดยอาศัย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (3) หาได้ไม่ อีกทั้งบริษัทฯ ก็มิได้มี ส่วนได้เสียในอันที่จะใช้สิทธิร้องสอดได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ดังนั้น บริษัท ประกัน จํากัด จึงไม่สามารถ ยื่นคําร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้

สรุป

บริษัท ประกัน จํากัด ไม่สามารถยื่นคําร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้ ตามเหตุผล ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 1 ถึงจําเลยที่ 3 ได้ร่วมกันทําสัญญากู้เงินโจทก์ไปเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อครบกําหนดตามสัญญาโจทก์ทวงถามแล้ว แต่จําเลยทั้งสามไม่ยอมชําระ จึงขอให้ศาลบังคับให้ จําเลยทั้งสามชําระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ ในชั้นยื่นคําให้การ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การรับสารภาพตามฟ้อง จําเลยที่ 2 มิได้ยื่นคําให้การภายใน กําหนด โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ ส่วนจําเลยที่ 3 ยื่นคําให้การตัดฟ้องโจทก์ว่าคดีของ โจทก์ขาดอายุความ ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนี้

(1) ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า จําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การหรือไม่ การที่จําเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคําให้การถือว่าเป็นการกระทําแทนจําเลยที่ 2 หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) โจทก์จะต้องดําเนินกระบวนการพิจารณาสําหรับจําเลยที่ 2 ต่อไปอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

(2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความ ร่วมคนอื่นด้วย”

มาตรา 177 วรรคแรก “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคําฟ้องให้จําเลยแล้ว ให้จําเลยทําคําให้การ เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน”

มาตรา 197 วรรคแรก “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การ ภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ”

มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้น เสียจากสารบบความ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(1) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคแรก เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกจากศาลให้ยื่นคําให้การ แล้วจําเลยย่อมมีหน้าที่ยื่นคําให้การภายใน 15 วัน ดังนั้นการที่จําเลยที่ 2 มิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดโดยมิได้รับ อนุญาตจากศาล ย่อมถือว่าจําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 วรรคแรก และการที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 3 ยื่นคําให้การ ก็ถือเป็นการกระทําเฉพาะตัว แม้ว่าจําเลยทั้งสามจะเป็นจําเลยร่วมกันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ก็ไม่ถือว่าเป็นการทําแทนจําเลยที่ 2 แต่อย่างใด เพราะจําเลยทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคแรก มิฉะนั้นจะมีผลเป็นการขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 วรรคแรก

(2) เมื่อจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลย ขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคแรก จึงจะชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายใน ระยะเวลาดังกล่าว ศาลจะมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง

สรุป

(1) จําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การ และการที่จําเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคําให้การ ไม่ถือว่าเป็นการกระทําแทนจําเลยที่ 2

(2) โจทก์จะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้ จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัด

 

ข้อ 4. จากข้อเท็จจริงในข้อ 3.

ศาลวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีสําหรับจําเลยที่ 2 เพราะเหตุขาดนัดโดยไม่รอการวินิจฉัยกับจําเลยอื่น ๆ จะชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่

(2) คําให้การรับสารภาพของจําเลยที่ 1 จะมีผลผูกพันคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

และถ้าศาลฟังว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจริงตามข้อต่อสู้ของจําเลยที่ 3 ศาลจะยกฟ้องจําเลยที่ 3 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ”

มาตรา 198 ตรี วรรคแรก “ในคดีที่จําเลยบางคนขาดนัดยื่นคําให้การ ให้ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การนั้นไปก่อนและดําเนินการ พิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ยื่นคําให้การต่อไป แต่ถ้ามูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกัน มิได้ให้ศาลรอการพิพากษาหรือมีคําสั่งขี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดําเนินการพิจารณาสําหรับ จําเลยที่ยื่นคําให้การเสร็จสิ้นแล้วก็ให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีสําหรับจําเลยทุกคน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(1) ตามกฎหมาย ในคดีที่มีจําเลยหลายคน หากจําเลยบางคนขาดนัดยื่นคําให้การ และ มูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ศาลจะต้องรอการวินิจฉัยสําหรับจําเลยที่ขาดนัด ยื่นคําให้การไว้ก่อน เพื่อรวมการวินิจฉัยสําหรับจําเลยทุกคน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ตรี วรรคแรก)

จากข้อเท็จจริง การที่ศาลวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีสําหรับจําเลยที่ 2 เพราะเหตุขาดนัด ยื่นคําให้การโดยไม่รอการวินิจฉัยกับจําเลยอื่น ๆ กระบวนการพิจารณาของศาลย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีนี้มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกกันชําระมิได้ ศาลจึงต้องรอการวินิจฉัยสําหรับจําเลยที่ 2 ไว้ก่อน เพื่อรวมการวินิจฉัยสําหรับจําเลยทุกคนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ตรี

(2) ในเรื่องของจําเลยร่วมนั้น หากเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แล้ว บรรดา กระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น กฎหมายให้ถือว่าได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วม คนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1))

จากข้อเท็จจริง คําให้การรับสารภาพตามฟ้องของจําเลยที่ 1 ย่อมไม่มีผลถึงจําเลยที่ 2 และ 3 ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการพิจารณาที่เป็นการเสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1)

ส่วนคําให้การของจําเลยที่ 3 ที่ยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์ เมื่อศาลฟังว่าคดีโจทก์ ขาดอายุความจะยกฟ้องจําเลยที่ 3 ย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการพิจารณา ซึ่งทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งและไม่เป็นการเสื่อมเสียถึงคู่ความคนอื่นแต่อย่างใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1)

สรุป

(1) การที่ศาลวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีสําหรับจําเลยที่ 2 เพราะเหตุขาดนัดโดยไม่รอ การวินิจฉัยกับจําเลยอื่น ๆ ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

(2) คําให้การรับสารภาพของจําเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันจําเลยที่ 2 และที่ 3 และถ้า ศาลฟังว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ จะยกฟ้องจําเลยที่ 3 ย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย

 

Advertisement