การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายทรงกลดได้ยื่นฟ้องขับไล่นายเคี้ยงออกจากที่ดินมีมูลค่า 3 แสนบาทของตนที่ศาลจังหวัดมีนบุรี (ศาลจังหวัดมีนบุรีไม่มีศาลแขวงอยู่ในเขตท้องที่มีนบุรีด้วย) โดยมีนายหนึ่งและนายสองเป็นองค์คณะ พิจารณาพิพากษา นายเคี้ยงยื่นคําให้การต่อสู้ว่าที่ดินผืนนี้เป็นของตนไม่ใช่ของนายทรงกลดโดยอ้าง พยานหลักฐานชัดแจ้ง ในวันนัดพิจารณานัดแรกนายสองป่วยกะทันหันต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นาน 1 เดือน คดีนี้จึงมีเพียงนายหนึ่งเพียงผู้เดียวพิจารณาคดีนี้ไปจนกระทั่งพิพากษาคดี โดยได้ พิพากษาให้นายทรงกลดชนะคดี กรณีนี้คําพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 18 “ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ใน อํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 18 คดีแพ่งที่ศาลจังหวัด โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้อง เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท อีกทั้งในเขตจังหวัดจะต้องไม่มีศาลแขวงอยู่ในท้องที่ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทรงกลดได้ยื่นฟ้องขับไล่นายเคี้ยงออกจากที่ดิน โดยหลักแล้ว คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเคี้ยงยื่นคําให้การต่อสู้ว่าที่ดินผืนนี้เป็นของตน ไม่ใช่ของนายทรงกลด คดีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทว่าเป็นของนายทรงกลดหรือนายเคี้ยง ส่งผลให้คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์

เมื่อคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ก็ต้องมีการตีราคาที่ดินพิพาท เมื่อปรากฏว่าที่ดินมีมูลค่า 3 แสนบาท จึงถือว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 แสนบาท ศาลจังหวัดมีนบุรีโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอํานาจรับ พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งคดีนี้ได้ตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 18 เนื่องจากท้องที่มีนบุรีไม่มีศาลแขวงอยู่ ในท้องที่ ดังนั้น เมื่อคดีนี้มีองค์คณะ คือ นายหนึ่งและนายสอง แต่ตอนหลังเหลือเพียงนายหนึ่งเพราะนายสอง ป่วยกะทันหัน คดีนี้จึงยังคงสามารถพิจารณาพิพากษาได้โดยนายหนึ่งเพียงลําพังคนเดียว คําพิพากษาของศาลจังหวัด มีนบุรีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สรุป คําพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีจึงชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายธามต้องการฟ้องเรียกเงินตามเช็ค 3 ฉบับ ฉบับละ 200,000 บาท ที่ไม่สามารถขึ้นเงินได้จากนายเล้ง จึงได้รวมทุนทรัพย์ของเช็คทั้ง 3 ฉบับเข้าด้วยกันแล้วยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นายเล้งยื่นคําให้การคัดค้านว่าคดีนี้ต้องคิดทุนทรัพย์แยกกันและต้องนําไปฟ้องที่ศาลแขวง สมุทรปราการเพราะทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท คําให้การต่อสู้คดีของนายเล้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ใน อํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25 (4) ประกอบกับมาตรา 17) จะต้องนําคดีไปฟ้องที่ศาลจังหวัดตามมาตรา 18

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธามต้องการฟ้องเรียกเงินตามเช็ค 3 ฉบับจากนายเล้ง จึงได้ รวมทุนทรัพย์ของเช็คทั้ง 3 ฉบับเข้าด้วยกัน แล้วยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ คนเดียวฟ้องจําเลยคนเดียวตามเช็คหลายฉบับ หาใช่กรณีที่โจทก์คนเดียวฟ้องจําเลยหลายคนตามเช็คหลายฉบับ อันจะต้องแยกทุนทรัพย์ไม่ ดังนั้น จึงต้องรวมทุนทรัพย์ของเช็คทุกฉบับเข้าด้วยกัน การกระทําดังกล่าวของ นายธามจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เช็คทั้ง 3 ฉบับ มีทุนทรัพย์รวมกันเกิน 3 แสนบาท จึงไม่สามารถ ฟ้องคดีนี้ที่ศาลแขวงสมุทรปราการได้ตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) จะต้องนําคดีไปยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัด ตามมาตรา 18 ดังนั้น คําให้การต่อสู้คดีของนายเล้งที่ว่าคดีนี้ต้องคิดทุนทรัพย์แยกกัน และต้องนําคดีไปฟ้องที่ ศาลแขวงสมุทรปราการ เพราะทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําให้การต่อสู้คดีของนายเล้งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. นายเอกผู้พิพากษาศาลแขวงได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจําเลยมีทุนทรัพย์สามแสนบาท เมื่อพิจารณาเสร็จขณะที่ทําคําพิพากษาอยู่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทุนทรัพย์ดังกล่าวมีราคาสี่แสนบาท นายเอกเห็นว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ จึงนําคดีไปให้นายโทผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวง ตรวจสํานวนลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะร่วมกับนายเอกทําคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คําพิพากษาของนายเอกและนายโทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25 (4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลแขวงซึ่งมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมี อํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ (ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้อง) ไม่เกิน 3 แสนบาท (มาตรา 25 (4) ประกอบกับมาตรา 17)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกผู้พิพากษาศาลแขวงได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจําเลย มีทุนทรัพย์ 3 แสนบาทนั้น นายเอกย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ตามมาตรา 25 (4) ประกอบ กับมาตรา 17 แต่เมื่อต่อมาปรากฏว่าทุนทรัพย์ดังกล่าวมีราคาสี่แสนบาท คดีจึงเกินอํานาจศาลแขวงที่จะ พิจารณาพิพากษา ดังนั้น นายเอกผู้พิพากษาศาลแขวงจะต้องมีคําสั่งจําหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ และคืนฟ้องให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นําคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอํานาจ นายเอกจะนําคดีไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวง ตรวจสํานวนลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะร่วมกับนายเอกทําคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 29 (3) และมาตรา 31 เนื่องจากหลักกฎหมายดังกล่าวเป็น การให้อํานาจแก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นเท่านั้น มิได้ให้อํานาจแก่ผู้พิพากษาในการ พิจารณาคดีในศาลแขวงแต่อย่างใด อีกทั้งถ้าให้อํานาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลแขวงดําเนินการดังกล่าวได้ ก็จะเป็น การขยายอํานาจของศาลแขวงให้มีอํานาจเหมือนศาลจังหวัดหรือศาลชั้นต้นอื่น

ดังนั้น การที่นายเอกไม่สั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่นําคดีไปให้นายโทผู้พิพากษา หัวหน้าศาลแขวงตรวจสํานวนลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะร่วมกับนายเอกทําคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คําพิพากษา ของนายเอกและนายโทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาของนายเอกและนายโทไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement