การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. (ก) การโอนคดีตามมาตรา 16 วรรคสามและสี่ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีความแตกต่างกันอย่างไร

(ข) นายเอกนําเอาคดีอาญาคดีหนึ่งเกิดเหตุที่เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร (เขตลาดพร้าวอยู่ในเขตอํานาจของศาลอาญาและศาลแขวงพระนครเหนือ) ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และ ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทไปยื่นฟ้องที่ศาลอาญา กรณีนี้ศาลอาญาจะมีคําสั่งอย่างไรกับคดีนี้ของนายเอก

ธงคําตอบ

(ก) การโอนคดีตามมาตรา 16 วรรคสามและวรรคสี่ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีความ แตกต่างกันอย่างไรนั้น เห็นว่า

มาตรา 16 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา และ คดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา ศาลแพ่งหรือศาลอาญาแล้วแต่กรณี อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้ พิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจ”

หลักเกณฑ์การโอนคดีตามมาตรา 16 วรรคสาม คือ

1 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา

2 คดีนั้นได้เกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา

3 ศาลแพ่งหรือศาลอาญาอาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจ

ส่วนมาตรา 16 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้น ในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ”

หลักเกณฑ์การโอนคดีตามมาตรา 16 วรรคสี่ คือ

1 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด

2 คดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในเขตอํานาจของศาลแขวง

3 ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าตามมาตรา 16 วรรคสามและวรรคสี่ จะแตกต่างกัน ตรงที่ว่ามาตรา 16 วรรคสาม เป็นกรณีที่คดีเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา แต่ได้ฟ้องคดีนั้นต่อศาลแพ่ง หรือศาลอาญา ดังนี้ ศาลแพ่งหรือศาลอาญาอาจใช้ดุลพินิจรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ หรือมีคําสั่งโอนคดีไปยัง ศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอํานาจได้ แต่ในส่วนของมาตรา 16 วรรคสี่นั้น เป็นกรณีที่คดีเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและ อยู่ในเขตอํานาจของศาลแขวง แต่มีการนําคดีนั้นยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด ดังนี้ ศาลจังหวัดจะใช้ดุลพินิจรับคดีไว้ พิจารณาพิพากษาไม่ได้ จะต้องมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

(ข) หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 16 วรรคท้าย “ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขต ของศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ”

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับเม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีอาญาที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีอาญาที่นายเอกนําไปฟ้องนั้น มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี และ ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท จึงอยู่ในเขตอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) เมื่อปรากฏ ข้อเท็จจริงว่านายเอกได้นําคดีไปยื่นฟ้องที่ศาลอาญา ดังนั้น ศาลอาญาซึ่งมีอํานาจเทียบเท่าศาลจังหวัดจึงต้องโอนคดี กลับไปยังศาลที่คดีอยู่ในเขตอํานาจตามมาตรา 16 วรรคท้าย ซึ่งก็คือศาลแขวงพระนครเหนือนั่นเอง

สรุป ศาลอาญาจะต้องมีคําสั่งโอนคดีอาญาของนายเอกไปยังศาลแขวงพระนครเหนือ

 

ข้อ 2. นายจนได้กู้เงินนายรวยเมื่อถึงกําหนดชําระหนี้นายจนไม่ยอมชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชําระจํานวน 5 แสนบาท ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 นายรวยได้ยื่นฟ้องนายจนต่อศาลแพ่ง ขอให้ชําระเงิน จํานวนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นายจนได้ทํานิติกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่ นายเฮง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีราคาสามแสนบาท ตามราคาประเมินของกรมที่ดิน นายรวยเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการทํานิติกรรมดังกล่าว จึงมาฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การให้ที่ดินของนายจน เนื่องจากนายจนไม่มีทรัพย์อื่นใด เมื่อยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นายเฮงแล้ว หากศาลแพ่งพิพากษาให้นายรวยชนะคดีข้างต้น นายรวยย่อมเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถบังคับคดี ให้ได้เงินที่นายจนกู้ยืมไปคืน ศาลแพ่งสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาสามแสนบาท อยู่ในอํานาจและเขตอํานาจของศาลแขวงพระนครเหนือ ต้องไปยื่นฟ้องคดีที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จึงจะถูกต้อง การสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 วรรคแรก “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25 (4) ประกอบกับมาตรา 17) จะต้องนําคดีนั้นไปฟ้องที่ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งแล้วแต่กรณี

กรณีตามอุทาหรณ์เป็นเรื่องที่นายจนลูกหนี้ได้ทํานิติกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นายเฮง ซึ่ง นายจนไม่มีทรัพย์สินใดอีก ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237

การที่นายรวยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินของนายจนเป็นเพียงคดีที่ ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเท่านั้น มิได้เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มาเป็นของนายรวยหรือนายรวยได้รับประโยชน์ แต่อย่างใด เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์พิพาทกลับมาเป็นของลูกหนี้ ฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ (คําพิพากษาฎีกาที่ 919/2508 (ประชุมใหญ่))

เมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงจึงไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีจึงอยู่ในอํานาจของศาลแพ่ง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19 วรรคแรก คําสั่งของศาลแพ่งที่ไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม จ่ายสํานวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้แก่นายดําผู้พิพากษาศาลจังหวัด และนางสาวสวย ผู้พิพากษาประจําศาล ศาลจังหวัดนครพนมเป็นองค์คณะพิจารณา พิพากษา องค์คณะดังกล่าวได้สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ยังไม่ได้สืบพยานจําเลย นายเอกได้โอน สํานวนคดีไปให้นายเขียว และนายขาวผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมเป็นองค์คณะพิจารณา พิพากษาแทน โดยให้ความเห็นว่า เพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม นายดําจึงโต้แย้งว่า นายเอกไม่มีอํานาจทําความเห็นในการโอนสํานวนคดี ผู้มีอํานาจทําความเห็นจะต้องเป็นตน ซึ่งเป็น ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุด ท่านเห็นว่า การโต้แย้งของนายดําฟังขึ้นหรือไม่ (ในศาลจังหวัดนครพนมมีนายเอกผู้พิพากษา หัวหน้าศาลนายแดงผู้พิพากษาอาวุโส นายดํา นายเขียว นายขาว และนางสาวสวย ผู้พิพากษาศาลจังหวัด และผู้พิพากษาประจําศาลตามลําดับ)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 33 “การเรียกคืนสํานวนคดีหรือการโอนสํานวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทําได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณา หรือพิพากษาอรรถคดีของศาสนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ที่มิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทําได้

ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณีไม่อาจ ปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสํานวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น ให้รองประธานศาลฎีการองประธาน ศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับ ในศาลนั้น เป็นผู้มีอํานาจในการเสนอความเห็นแทน ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีหนึ่งคนหรือมีหลายคนแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสํานวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็น ผู้มีอํานาจในการเสนอความเห็น

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง…”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยหลักแล้วเมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล จ่ายสํานวนคดีให้แก่ องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาคดีไปจนเสร็จสํานวน จะเรียกคืนสํานวนคดี หรือโอนสํานวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้ เว้นแต่

1 เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และ

2 ในกรณีของศาลจังหวัด ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้น เสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีนั้น หรือให้โอนสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนมได้จ่ายสํานวนคดีให้ นายดําและนางสาวสวยเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องหนึ่ง และต่อมานายเอกได้โอนสํานวนคดีไปให้ นายเขียวและนายขาวเป็นองค์คณะแทนนั้น การกระทําของนายเอกย่อมไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ทั้งนี้เพราะเมื่อปรากฏว่าการพิจารณาพิพากษาคดีจะทําให้กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม นายเอก ซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจะสามารถเรียกคืนสํานวนคดีหรือโอนสํานวนคดีจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบ สํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นซึ่งมิได้เป็นองค์คณะ ในสํานวนคดีนั้นได้เสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดี หรือให้โอนสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น ดังนั้น การโต้แย้งของนายดําที่ว่านายเอกไม่มีอํานาจทําความเห็นในการโอนสํานวนคดีจึงฟังขึ้น

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าในศาลนั้นมีนายดํา นายเขียว และนายขาว เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเรียงตามลําดับอาวุโส และนายดําได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้น ดังนั้น ผู้ที่จะเสนอ ความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีจึงต้องเป็นนายเขียวซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงไปมิใช่นายดํา การโต้แย้ง ของนายดําที่ว่าผู้มีอํานาจทําความเห็นจะต้องเป็นตน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป การโต้แย้งของนายดําที่ว่านายเอกไม่มีอํานาจทําความเห็นในการโอนสํานวนคดีนั้นฟังขึ้น แต่การโต้แย้งที่ว่านายดําเป็นผู้มีอํานาจทําความเห็นนั้นฟังไม่ขึ้น

Advertisement