การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกฟ้องขับไล่นายโทผู้เช่าออกจากบ้านเช่าของตน ซึ่งนายโทไม่ชําระค่าเช่าเป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 120,000 บาท ที่ศาลจังหวัดนครปฐม นายบุญใหญ่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐม ได้จ่ายสํานวนให้นายบุญช่วยและนายบุญมีผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครปฐมเป็นองค์คณะพิจารณา พิพากษาคดี นายบุญช่วยแต่เพียงผู้เดียวได้ประทับรับฟ้องคดีนี้และออกคําสั่งให้ส่งหมายเรียกและ สําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลย ปรากฏว่าก่อนวันนัดชี้สองสถานนายบุญมีเห็นว่าคดีนี้มีการเรียกค่าเช่า มาด้วย และค่าเช่านั้นเพียงแค่ 120,000 บาท จึงปรึกษากับนายบุญช่วยทําการออกคําสั่งโอนคดีนี้ กลับไปยังศาลแขวง ดังนี้

ก การออกคําสั่งให้ “ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลย” ที่กระทําโดยนายบุญช่วยแต่เพียงผู้เดียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ข ความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาทั้งสองคนนี้ที่ให้มีการโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าว พิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(2) ออกคําสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกฟ้องขับไล่นายโทผู้เช่าออกจากบ้านเช่าของตน ซึ่งนายโท ไม่ชําระค่าเช่าเป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 120,000 บาทนั้น เป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจ คํานวณเป็นราคาเงินได้ ถือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครปฐม ตามมาตรา 18 ไม่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 และมาตรา 25 (4)

ก. การที่นายบุญใหญ่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครปฐมได้จ่ายสํานวนให้นายบุญช่วย และนายบุญมีผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครปฐมเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี และนายบุญช่วยแต่เพียงผู้เดียว ได้ประทับรับฟ้องคดีนี้และออกคําสั่งให้ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยนั้น การออกคําสั่งดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการออกคําสั่งที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจที่จะทําได้ตามมาตรา 24 (2) เนื่องจาก เป็นคําสั่งที่มิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีหรือทําให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลแต่อย่างใด

ข. การที่นายบุญมีเห็นว่าคดีนี้มีการเรียกค่าเช่ามาด้วย และค่าเช่านั้นเพียงแค่ 120,000 บาท จึงปรึกษากับนายบุญช่วยทําการออกคําสั่งโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวย่อมไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะคดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ซึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีการเรียกค่าเช่ามาด้วยก็ตาม แต่คําขอหลักเป็นการฟ้องขับไล่ จึงไม่มีการเรียกร้องกรรมสิทธิ์ให้กลับมาเป็นของผู้เรียกร้อง จึงมิใช่คดีมีทุนทรัพย์ 120,000 บาท แต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 อีกทั้งถ้าจะมีการโอนคดีกลับไปยัง ศาลแขวงตามมาตรา 19/1 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องปรากฏว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของ ศาลแขวงนั้น แต่ได้นําไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดและศาลจังหวัดต้องไม่เด้ประทับรับฟ้องตั้งแต่แรกด้วย แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดในการพิจารณาพิพากษาคดีแล้วจึงไม่อาจโอนคดีไปยังศาลแขวงได้ จึงไม่จําต้องพิจารณาว่าการโอนคดีดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบตามมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง

สรุป

ก. การออกคําสั่งให้ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยที่กระทําโดยนายบุญช่วยแต่เพียงผู้เดียวชอบด้วยกฎหมาย

ข. ความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาทั้งสองที่ให้มีการโอนคดีนี้กลับไปยังศาลแขวงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายสมควรเป็นโจทก์ฟ้องนายระทม ข้อหาโกงเจ้าหนี้ต่อศาลจังหวัดสุโขทัย ศาลมีคําพิพากษาว่านายระทมมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 แต่ให้รอการกําหนดโทษไว้ มีกําหนดสองปี คดีถึงที่สุด ต่อมาอีกหนึ่งปี นายระทมไปลักทรัพย์ของนายชะเอมในจังหวัดตาก พนักงานอัยการได้ฟ้องนายระทมที่ศาลจังหวัดตากในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 และ ขอให้ศาลกําหนดโทษนายระทมในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ นายระทมให้การรับสารภาพ นายชวลิต ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตากเจ้าของสํานวนพิจารณาแล้วจึงมีคําพิพากษาให้จําคุกนายระทม ข้อหาลักทรัพย์มีกําหนด 1 ปี และให้กําหนดโทษนายระทมข้อหาโกงเจ้าหนี้ให้จําคุก 1 ปี นายระทม ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจําคุกข้อหาละ 6 เดือน เมื่อนําโทษในคดีก่อนบวกกับโทษ ในคดีนี้แล้ว คงจําคุกนายระทมรวม 12 เดือน ท่านเห็นว่าคําพิพากษาของนายชวลิตชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด (ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่ง “เมื่อปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตาม คําแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกําหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทําความผิด อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกสําหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกําหนดโทษที่รอการกําหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอ การลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา 26) แต่อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาคนเดียว มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าวไม่ได้ (มาตรา 25 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายระทมในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ต่อศาลจังหวัดตากซึ่งเป็นศาลชั้นต้นตามมาตรา 26 แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 25 ด้วย ดังนั้น เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท จึงอยู่ในอํานาจของผู้พิพากษา คนเดียวในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ การพิจารณาของนายชวลิตจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตาม มาตรา 25 (5)

และการที่นายชวลิตพิพากษาลงโทษจําคุกนายระทมข้อหาลักทรัพย์มีกําหนด 1 ปี และ ให้กําหนดโทษนายระดุมข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยให้จําคุก 1 ปี นายระทมให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจําคุกข้อหาละ 6 เดือนนั้น คําพิพากษาของนายชวลิตย่อมชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 25 (5) เพราะโทษสุทธิแต่ละข้อหาที่ลงโทษนายระทมนั้นไม่เกิน 6 เดือน ส่วนการที่นายชวลิตได้นําโทษในคดีก่อน มาบวกเข้ากับโทษในคดีหลังรวมเป็นโทษจําคุก 12 เดือนนั้น เป็นการปฏิบัติตาม ป.อาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ที่บังคับให้ศาลในคดีหลังต้องกําหนดโทษในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีหลังเท่านั้น

สรุป

คําพิพากษาของนายชวลิตชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. นายดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกงในคดีแพ่งซึ่งมีจํานวนทุนทรัพย์สามแสนบาทต่อศาลจังหวัดอ่างทอง(จังหวัดอ่างทองไม่มีศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ) นายเก่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดอ่างทองได้เป็นองค์คณะ พิจารณาคดีดังกล่าว ต่อมาในทางพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องมีราคาถึงห้าแสนบาท นายยิ่งศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอ่างทองจึงได้ให้นายตรีผู้พิพากษาประจําศาลในศาล จังหวัดอ่างทองเป็นองค์คณะร่วมพิจารณาคดีด้วยจนเสร็จ และได้ร่วมกันทําคําพิพากษาให้นายโกง ชดใช้เงินให้นายดีจํานวนห้าแสนบาท การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25 (4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกงในคดีแพ่งซึ่งมีจํานวนทุนทรัพย์ สามแสนบาทต่อศาลจังหวัดอ่างทองนั้น เมื่อเป็นคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท และในจังหวัดอ่างทองไม่มีศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ คดีดังกล่าวจึงอยู่ในอํานาจการพิจารณาของ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นตามมาตรา 25 (4)

แต่อย่างไรก็ดีเมื่อในทางพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องมีราคาถึงห้าแสนบาท ซึ่งเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวตามมาตรา 25 (4) แต่ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวตามมาตรา 26 กรณีนี้จึงถือว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 28 ประกอบมาตรา 31 (4) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงมีอํานาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ของศาลนั้นเข้าร่วมเป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามมาตรา 28 (3) ดังนั้น การที่นายยิ่งศักดิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอ่างทองได้มอบหมายให้นายตรีผู้พิพากษาประจําศาลในศาลจังหวัดอ่างทอง เป็นองค์คณะร่วมพิจารณาคดีด้วยจนเสร็จ และได้ร่วมกันทําคําพิพากษาให้นายโกงชดใช้เงินให้นายดีจํานวน ห้าแสนบาท การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

Advertisement