การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายพิชัยได้ทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาเพื่อที่จะให้เป็นของหมั้นแก่นางสาวอุสา ในวันทําสัญญาหมั้น นายพิชัยได้ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้แก่นางสาวอุสาและตกลงจะทําการสมรสกันในเดือนถัดไป ต่อมานายพิชัยได้กลับไปคืนดีอุปการะเลี้ยงดูนางสาวนัยนาแฟนเก่าเนื่องจากตั้งครรภ์ นางสาวอุสา ไม่พอใจนายพิชัยที่ผิดสัญญาหมั้นกับตนจึงต้องการฟ้องฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกค่าทดแทน เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิชัยได้ทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาเพื่อที่จะให้เป็นของหมั้นแก่ นางสาวอุสานั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันทําสัญญาหมั้นนายพิชัยได้ส่งมอบแต่ทะเบียนรถยนต์ให้แก่นางสาวอุสาโดยไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นางสาวอุสาด้วยแต่อย่างใด ดังนี้ แม้ว่าจะได้มีการตกลงว่าจะทําการ สมรสกันในเดือนถัดไปก็ตาม การทําสัญญาหมั้นดังกล่าวถือว่าขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ เป็นการหมั้นที่ฝ่ายชายมิได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง ดังนั้น การหมั้นระหว่างนายพิชัยกับ นางสาวอุสาจึงมีผลไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง

และเมื่อการหมั้นดังกล่าวไม่สมบูรณ์ การที่นายพิชัยได้กลับไปคืนดีอุปการะเลี้ยงดูนางสาวนัยนา แฟนเก่าเนื่องจากตั้งครรภ์ นางสาวอุสาจะถือว่าเป็นกรณีที่นายพิชัยผิดสัญญาหมั้นกับตน และจะฟ้องนายพิชัย ฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ไม่ได้

สรุป

นางสาวอุสาจะฟ้องนายพิชัยฐานผิดสัญญาหมั้นและเรียกค่าทดแทนไม่ได้

 

ข้อ 2 นางสาวนุชนาถอายุ 19 ปี ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายพรชัยอายุ 25 ปี ซึ่งมีฐานะดีแต่มาทราบภายหลังว่านายพรชัยมีภริยาแล้ว ด้วยความเสียใจนางสาวนุชนาถได้แอบไปจดทะเบียนสมรสกับ นายนิวัติอายุ 22 ปี โดยไม่บอกให้ใครทราบแม้แต่บิดามารดา และไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์อยู่กับ นายพรชัย นายพรชัยรักนางสาวนุชนาถมากจึงได้จดทะเบียนหย่ากับภริยาของตนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อนางสาวนุชนาถทราบจึงจดทะเบียนสมรสกับนายพรชัย เช่นนี้ การสมรสจะมีผลอย่างไร บุตรที่ เกิดมาจะเป็นบุตรของใคร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1509 “การสมรสที่ได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้น เป็นโมฆียะ”

มาตรา 1510 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอม ของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์”

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวนุชนาถอายุ 19 ปี ได้แอบไปจดทะเบียนสมรสกับนายนิวัติ อายุ 22 ปี โดยไม่บอกให้ใครทราบแม้แต่บิดามารดานั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1454 ประกอบ มาตรา 1436 (1) ดังนั้น การสมรสระหว่างนางสาวนุชนาถและนายนิวัติจึงตกเป็นโมฆยะตามมาตรา 1509 บิดามารดาของนางสาวนุชนาถสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1510 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรา 1510 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นอันระงับเมื่อ คู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ (มาตรา 1510 วรรคสอง) ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านางสาวนุชนาถ ตั้งครรภ์อยู่ บิดามารดาของนางสาวนุชนาถจึงขอเพิกถอนการสมรสอีกไม่ได้ และมีผลทําให้การสมรสระหว่าง นางสาวนุชนาถและนายนิวัติมีผลสมบูรณ์

เมื่อการสมรสระหว่างนางสาวนุชนาถกับนายนิวัติมีผลสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อนางสาวนุชนาถ ได้มาจดทะเบียนสมรสกับนายพรชัยอีก จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 คือเป็นการสมรสในขณะที่ตน มีคู่สมรสอยู่ ดังนั้นการสมรสระหว่างนางสาวนุชนาถกับนายพรชัยจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

ส่วนบุตรที่เกิดมานั้น ย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางสาวนุชนาถและนายนิวัติตาม มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติหลักไว้ว่า เด็กที่เกิดแต่หญิงในขณะที่เป็นภริยาชาย (นายนิวัติ) ให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี

สรุป การสมรสระหว่างนางสาวนุชนาถกับนายนิวัติมีผลสมบูรณ์ แต่การสมรสระหว่าง นางสาวนุชนาถกับนายพรชัยเป็นโมฆะ ส่วนบุตรที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางสาวนุชนาถและนายนิวัติ

 

ข้อ 3 นายถวิลกับนางวีณาสามีภริยามีความไม่เข้าใจกันขัดแย้งกันตลอดเวลา นายถวิลได้รู้จักกับนางสาวน้ำหวานอย่างสนิทสนมจนมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน เมื่อนายถวิลไปประชุมสัมมนาที่ ต่างจังหวัดนางสาวน้ำหวานก็ไปและร่วมรับประทานอาหารและพักห้องเดียวกันเป็นที่รู้จักของ เพื่อน ๆ นายถวิลโดยทั่วไป นางวีณามีบุตรกับนายถวิลสองคน นางวีณาเคยโต้เถียงกับนางสาวน้ำหวาน และนางสาวน้ำหวานอ้างว่าไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายถวิล แต่นายถวิลได้ไปมาหาสู่กับ นางสาวน้ำหวานตลอดมา เช่นนี้ นางวีณาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวน้ำหวานได้หรือไม่ นางวีณาจะต้องฟ้องหย่านายถวิลด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1523 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม

มาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทํานองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทน จากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทํานองชู้สาวก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อนายถวิลไปประชุมสัมมนาที่ต่างจังหวัดนั้น นางสาวน้ำหวานก็ไปและร่วมรับประทานอาหารและพักห้องเดียวกันกับนายถวิลจนเป็นที่รู้จักของเพื่อน ๆ นายถวิล โดยทั่วไป การกระทําดังกล่าวถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดกันเป็นพิเศษเกินกว่า ความสัมพันธ์ในระดับคนรู้จักในการทํางานทั่วไป และการที่นางสาวน้ำหวานไปพักที่ห้องพักเดียวกันนั้น แม้ผู้เห็น เหตุการณ์จะเป็นเพื่อนนายถวิลและพนักงานโรงแรม ก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว

ดังนั้น นางวีณาภริยาย่อมสามารถอ้างเหตุดังกล่าวเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) และเมื่อศาลพิพากษา ให้หย่ากัน นางวีณาย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากนายถวิลและนางสาวน้ำหวานตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 1523 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านางวีณาจะฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากนางสาวน้ำหวานโดยเฉพาะนั้น นางวีณาจะต้องได้รับความเสียหาย หรือนางสาวน้ําหวานจะต้อง ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับสามีตน หรือจะต้องได้มีการฟ้องหย่ากันแล้วแต่อย่างใด ดังนั้นนางวีณาจึงสามารถ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวน้ําหวานที่ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนได้ โดยไม่ต้อง ฟ้องหย่านายถวิลตามมาตรา 1523 วรรคสอง

สรุป นางวีณาสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวน้ำหวานได้โดยไม่ต้องฟ้องหย่านายถวิล

 

ข้อ 4 นายพินิจกับนางอุสาจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาในระหว่างสมรสได้ทําสัญญากันให้นายพินิจสามารถจัดการสินสมรสได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยที่นางอุสาไม่ต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด ต่อมานายพินิจ ได้ทําสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของนายนครเพื่อนร่วมงาน และทําสัญญาตามกฎหมาย ให้นายอุทัยซึ่งทํามาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตเช่าที่ดินสินสมรสมีกําหนดระยะเวลา 5 ปี เพื่อนําเงินค่าเช่า มาใช้จ่ายในครอบครัว นางอุสาไม่พอใจที่ไม่บอกให้ทราบก่อนจึงต้องการฟ้องเพิกถอนการทําสัญญา ดังกล่าว เช่นนี้ จะทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อน สมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีก ฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิ เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาระหว่างสมรสที่นายพินิจกับนางอุสาได้ทําต่อกันโดยให้นายพินิจ สามารถจัดการสินสมรสได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยที่นางอุสาไม่ต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใดนั้นย่อมใช้บังคับ ไม่ได้ เพราะกรณีที่สามีหรือภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ได้ก็ต่อเมื่อได้ ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมารตรา 1465 และมาตรา 1466 เท่านั้น (มาตรา 1476/1) ดังนั้นเมื่อ นายพินิจและนางอุสาไม่ได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายพินิจและนางอุสาในเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสินสมรสจึงต้องบังคับกันตามมาตรา 1476

การที่นายพินิจได้ทําสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของนายนครเพื่อนร่วมงานนั้น ไม่ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1476 (8) เพราะมิได้นําทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสไปเป็นประกันหรือ หลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล เป็นการทําสัญญาที่มีผลผูกพันนายพินิจสามีแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้ก่อให้เกิด ภารติดพันแก่สินสมรส ดังนั้น การทําสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่การจัดการสินสมรสที่นางอุสาภริยาจะต้อง ให้ความยินยอมหรือต้องจัดการร่วมกันแต่อย่างใด นางอุสาจึงฟ้องเพิกถอนการทําสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตาม มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ไม่ได้

ส่วนการทําสัญญาตามกฎหมายให้นายอุทัยซึ่งทํามาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตเช่าที่ดินซึ่งเป็น สินสมรสมีกําหนดระยะเวลา 5 ปี เพื่อนําเงินค่าเช่ามาใช้จ่ายในครอบครัวนั้น เป็นการจัดการสินสมรสที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติมาตรา 1476 (3) เพราะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ซึ่งสามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือ ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น เมื่อการทําสัญญาให้เช่าดังกล่าวไม่ได้รับความยินยอมจากนางอุสา นางอุสาย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการทํานิติกรรมดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น นายอุทัยซึ่งทํามาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ย่อมถือว่า นายอุทัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ดังนั้น นางอุสาจึงไม่สามารถฟ้องให้ศาล เพิกถอนการทํานิติกรรมดังกล่าวได้

สรุป นางอุสาจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการค้ําประกัน และการทําสัญญาให้เช่า ดังกล่าวไม่ได้

 

Advertisement