การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสุรพลได้ชอบพอกับ น.ส.หฤทัย ในวันปีใหม่นายสุรพลได้ให้สร้อยทอง 1 บาท แก่ น.ส.หฤทัย และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายสุรพลได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.หฤทัยด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงิน 500,000 บาท ต่อมานายสุรพลทราบว่า น.ส.หฤทัย ได้แอบอยู่กินกับนายชาติชาย นายสุรพลเห็นว่า น.ส.หฤทัยผิดสัญญาการหมั้นหมายกับตน จึงต้องการฟ้องเรียกสร้อยทอง 1 บาท แหวนเพชร และ เงิน 500,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุรพลได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.หฤทัยด้วยแหวนเพชร 1 วง และ เงิน 500,000 บาท นั้น ถือว่าการหมั้นมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะได้มีการส่งมอบของหมั้น ให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว แต่การที่นายสุรพลได้ให้สร้อยทองแก่ น.ส.หฤทัย ในวันปีใหม่นั้น สร้อยทองดังกล่าวไม่ถือว่า เป็นของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะถือว่าเป็นการให้โดยเสน่หา (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 521) ดังนั้น เมื่อเป็นการหมั้นที่สมบูรณ์หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้ (มาตรา 1439)

และหากกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ชายคู่หมั้นย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชายได้ตามมาตรา 1442 แต่เหตุสําคัญที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีความสําคัญต่อชายคู่หมั้น ถึงขนาดไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เช่น หญิงคู่หมั้นไปแอบอยู่กินกับชายอื่น เป็นต้น

ตามข้อเท็จจริง การที่ น.ส.หฤทัย ได้แอบอยู่กินกับนายชาติชายนั้นไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น ตามมาตรา 1439 แต่ถือเป็นกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทําให้นายสุรพลไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ตามมาตรา 1442 ดังนั้น นายสุรพลจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและให้ น.ส.หฤทัยคืนของหมั้นคือ แหวนเพชร และเงิน 500,000 บาท ให้แก่นายสุรพลได้ แต่จะเรียกคืนสร้อยทองไม่ได้

สรุป นายสุรพลมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น และฟ้องเรียกคืนแหวนเพชร และเงิน 500,000 บาท ได้ แต่จะฟ้องเรียกคืนสร้อยทองไม่ได้

 

ข้อ 2 นายกมลพ่อหม้ายอายุ 52 ปี ได้จัดพิธีหมั้นกับ น.ส.ทับทิม อายุ 18 ปี ด้วยเงิน 1 ล้านบาท โดยบิดามารดาให้ความยินยอม และจะไปฮันนีมูนสองสัปดาห์แล้วกลับมาจดทะเบียนสมรส แต่เมื่อกลับมา น.ส.ทับทิมได้หลบหนีไปจดทะเบียนสมรสกับนายสมคิดซึ่งชอบพอกัน แต่มีอายุมากกว่าเพียง 1 ปี โดยบิดามารดาไม่ทราบ นายกมลไม่พอใจต้องการฟ้องยกเลิกการสมรส และให้มาจดทะเบียนสมรสกับตน และหาก น.ส.ทับทิมตั้งครรภ์แล้วก่อนมาจดทะเบียนสมรสกับนายสมคิด บุตรที่เกิดมาจะเป็นบุตรของใคร เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1435 “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว บาท การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ”

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้น เป็นโมฆียะ”

มาตรา 1510 วรรคแรก “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าว ในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้”

มาตรา 1560 “บุตรเกิดระหว่างสมรสซึ่งศาลพิพากษาให้เพิกถอนภายหลังนั้นให้ถือว่าเป็นบุตร ชอบด้วยกฎหมาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกมลได้จัดพิธีหมั้นกับ น.ส.ทับทิมอายุ 18 ปี โดยบิดามารดาให้ ความยินยอมถูกต้องตามมาตรา 1435 วรรคแรก และมาตรา 1436 (1) และเมื่อมีการส่งมอบเงิน 1 ล้านบาท เป็นของหมั้น จึงถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ดังนั้น เมื่อมีการหมั้นแล้ว การที่ น.ส.ทับทิมไปจดทะเบียนสมรสกับนายสมคิด จึงเป็นการผิดสัญญาหมั้น (ตามมาตรา 1439) ซึ่งนายกมลมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนและเรียกของหมั้นคืนจาก น.ส.ทับทิมได้ แต่นายกมลจะฟ้องให้ น.ส.ทับทิมทําการสมรสด้วยไม่ได้ตามมาตรา 1438 ที่กําหนดว่า การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้

สําหรับการจดทะเบียนสมรสระหว่าง น.ส.ทับทิมกับนายสมคิด โดยบิดามารดาของ น.ส.ทับทิม ไม่ทราบนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1509 การสมรสจึงมีผลเป็นโมฆียะ ซึ่ง ตามมาตรา 1510 กําหนดให้ เฉพาะบิดามารดาเท่านั้นที่จะฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสได้ ดังนั้นนายกมลจึงไม่มีสิทธิ ฟ้องให้ยกเลิกการสมรสระหว่าง น.ส.ทับทิมกับนายสมคิด

อย่างไรก็ตาม หากมีการฟ้องให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะดังกล่าว บุตรของ น.ส.ทับทิม ที่เกิดมาจะถือว่าเป็นบุตรที่เกิดระหว่างสมรสซึ่งศาลพิพากษาให้เพิกถอนในภายหลัง โดยกฎหมายให้ถือว่าเป็นบุตร ชอบด้วยกฎหมายของน.ส.ทับทิมกับนายสมคิดตามมาตรา 1560

สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่านายกมลจะฟ้องยกเลิกการสมรส และฟ้องให้ น.ส.ทับทิมมาจดทะเบียน สมรสกับตนไม่ได้ และบุตรที่เกิดมาภายหลังศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสย่อมถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของนายสมคิดกับ น.ส.ทับทิม

 

ข้อ 3 นายสุกิจและนางรื่นฤดีเป็นสามีภริยากัน ต่อมานายสุกิจได้ชักชวนนางรื่นฤดีให้ไปมีเพศสัมพันธ์เป็นกลุ่มกับกลุ่มคนที่รู้จักกัน แต่นางรื่นฤดีไม่ยินยอม ต่อมานายสุกิจได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับ น.ส.น้ำทองซึ่งเป็นครอบครัวที่รู้จักกันโดยคู่สมรสของ น.ส.น้ำทอง ก็รู้จักกับคู่สมรสของนายสุกิจ นางรื่นฤดีเห็นว่า ไม่ถูกต้องจึงต้องการฟ้องหย่า และเรียกค่าทดแทนจากนายสุกิจและ น.ส.น้ำทอง แต่นายสุกิจอ้างว่านางรื่นฤดีทราบเรื่องนี้ได้ยินยอมจึงฟ้องหย่าไม่ได้ เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(3) สามีหรือภริยาทําร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยาม อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทําการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทํานั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน เกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคํานึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคแรก “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1523 วรรคแรก “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยา หรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็น เหตุแห่งการหย่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุกิจได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับ น.ส.น้ำทอง ซึ่งเป็นครอบครัวที่รู้จักกันนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายสุกิจเป็นชู้หรือมีชู้กับภริยาผู้อื่นตามนัยมาตรา 1516 (1) แล้ว ดังนั้นนางรื่นฤดีย่อม สามารถฟ้องหย่านายสุกิจได้ นายสุกิจจะอ้างว่าการกระทําของตนนั้นนางรื่นฤดีได้ยินยอมแล้วตามมาตรา 1517 วรรคแรกไม่ได้ เพราะจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางรื่นฤดีได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจกับนายสุกิจแต่อย่างใด และนอกจากนี้นางรื่นฤดียังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุกิจสามีและ น.ส.น้ําทองผู้เป็นเหตุแห่งการ หย่านั้นได้เมื่อศาลได้พิพากษาให้หย่ากันแล้วตามมาตรา 1523 วรรคแรก

และนอกจากนั้น การกระทําของนายสุกิจถือว่าเป็นการประพฤติชั่วทําให้นางรื่นฤดีได้รับ ความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516 (2) (ก) อีกด้วย ดังนั้นนางรื่นฤดีสามารถฟ้องหย่านายสุกิจได้อีก เพราะเหตุดังกล่าวนี้ แต่นางรื่นฤดีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุกิจและ น.ส.น้ําทองไม่ได้ เพราะการฟ้องหย่า และสามารถเรียกค่าทดแทนกันได้ตามมาตรา 1523 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นการฟ้องหย่าเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) เท่านั้น

สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่านางรื่นฤดี สามารถฟ้องหย่านายสุกิจได้ เพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) และ (2) แต่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุกิจและ น.ส.น้ำทองได้ก็แต่เฉพาะการฟ้องหย่าเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) เท่านั้น

 

ข้อ 4 นายสมิงกับนางลัดดาเป็นสามีภริยากัน วันหนึ่งนายสมิงได้เขียนสัญญาให้นางลัดดาสามารถจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 (1) ได้เพียงลําพัง เพื่อให้นางลัดดามีความสะดวกในการทํานิติกรรม บิดานางลัดดาได้ให้เงิน 5 ล้านบาทแก่นางลัดดา และได้นําไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยมา 500,000 บาท นางลัดดามีสลากออมสินก่อนสมรส 1 ล้านบาท และโชคดีถูกรางวัล 2 ล้านบาท ในระหว่างสมรส วันหนึ่งนางลัดดาได้เอาเงิน 500,000 บาท ให้ น.ส.กาญจนาโดยเสน่หา และเอาเงินรางวัล 2 ล้านบาท ให้นายอํานาจเพื่อนร่วมงานกู้ นายสมิงไม่เห็นด้วยจึงต้องการฟ้องเพิกถอน แต่นางลัดดาอ้างว่าทําได้ เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1465 วรรคแรก “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อน สมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ” มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือ พื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1476/1 วรรคแรก “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”

มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การจัดการสินสมรสตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 1476 (1) – (8) นั้น สามีภริยาจะต้อง จัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามมาตรา 1480 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม สามีภริยาอาจตกลงจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ก็ได้โดยทําเป็นสัญญาก่อนสมรสตามมาตรา 1476/1 วรรคแรก ประกอบมาตรา 1465 วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมิงได้เขียนสัญญาให้นางลัดดาสามารถจัดการสินสมรสตาม มาตรา 1476 (1) ได้เพียงลําพังนั้น เมื่อไม่ได้ทําสัญญากันไว้ก่อนสมรสตามมาตรา 1465 วรรคแรก แต่ได้ทํา สัญญากันในระหว่างสมรส สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาก่อนสมรส แต่ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส ดังนั้น สัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวจึงใช้บังคับไม่ได้ เพราะตามกฎหมายถ้าสามีภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่าง ไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้เท่านั้น (มาตรา 1476/1 วรรคแรก)

ดังนั้น การที่นางลัดดาได้ทํานิติกรรมต่าง ๆ ตามอุทาหรณ์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายสมิง นั้น นายสมิงจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

การที่นางลัดดาได้เอาเงิน 500,000 บาท ให้ น.ส.กาญจนาโดยเสน่หา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายสมิงนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บิดาของนางลัดดาได้ให้เงินโดยเสน่หาแก่นางลัดดา 5 ล้านบาท เงินดังกล่าวย่อมถือเป็นเงินส่วนตัวของนางลัดดาตามมาตรา 1471 (3) นางลัดดาย่อมมีอํานาจจัดการตามมาตรา 1473 แต่อย่างไรก็ตาม การที่นางลัดดานําเงินไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 500,000 บาท เงินจํานวนนี้ย่อมถือเป็น สินสมรสตามมาตรา 1474 (3) เพราะถือเป็นดอกผลของสินส่วนตัว ดังนั้น การที่นางลัดดาได้เอาเงิน 500,000 บาท ให้ น.ส.กาญจนา จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1474 (5) นายสมิงจึงสามารถฟ้องศาลให้เพิกถอนนิติกรรมได้ตาม มาตรา 1480 วรรคแรก

การที่นางลัดดาได้เอาเงินรางวัล 2 ล้านบาท ให้นายอํานาจเพื่อนร่วมงานกู้นั้น เมื่อปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า นางลัดดามีสลากออมสินก่อนสมรส 1 ล้านบาท สลากออมสินจํานวนนี้ย่อมถือเป็นสินส่วนตัวตาม มาตรา 1471 (1) นางลัดดาย่อมมีอํานาจจัดการตามมาตรา 1473 และเมื่อปรากฏว่า นางลัดดาได้ถูกรางวัล 2 ล้านบาท ในระหว่างสมรส รางวัล 2 ล้านบาทนี้ ย่อมถือเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรส ได้มาระหว่างสมรส ดังนั้น การที่นางลัดดาได้เอาเงินรางวัล 2 ล้านบาทให้นายอํานาจเพื่อนร่วมงานกู้จึงเป็นการ ฝ่าฝืนมาตรา 1476 (4) นายสมิงสามารถฟ้องศาลให้เพิกถอนนิติกรรมได้ตามมาตรา 1480 วรรคแรก

สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่า นายสมิงสามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมทั้ง 2 นิติกรรมดังกล่าวได้ ข้ออ้าง ของนางลัดดาที่อ้างว่าสามารถทําได้นั้น ฟังไม่ขึ้น

Advertisement