การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ 1 นายสมบูรณ์ทำสัญญาหมั้น น.ส.ดารา ด้วยแหวนหมั้น 1 วง เมื่อทำสัญญาหมั้นกันแล้ว นายสมบูรณ์ได้ชักชวนให้ น.ส.ดาราลาออกจากงาน และมาอยู่กินกันฉันสามีภริยาที่บ้านของนายสมบูรณ์ ต่อมานางปราณีแฟนเก่าของนายสมบูรณ์ได้ทะเลาะกับสามีและตกลงทำหนังสือหย่ากันโดยตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันเรียบร้อยแล้ว แม้จะเกรงใจทางครอบครัวของนายสมบูรณ์แต่ด้วยเป็นเพื่อนสนิทกัน นางปราณีได้ติดต่อปรึกษาหารือกับนายสมบูรณ์ ทำให้นายสมบูรณ์มีจิตใจรักใคร่จนได้หลับนอนกับนางปราณี น.ส.ดารา ไม่พอใจ และไม่ต้องการสมรสกับนายสมบูรณ์ แต่ต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบูรณ์และนางปราณี จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายคนนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบูรณ์ ได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.ดารา ด้วยแหวนหมั้น 1 วงนั้น เมื่อมีการส่งมอบแหวนหมั้นให้แก่หญิงแล้ว ย่อมเป็นการหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก

ตามข้อเท็จจริง ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า น.ส.ดารา ไม่ต้องการสมรสกับนายสมบูรณ์จะทำได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมบูรณ์ได้หลับนอนกับนางปราณีซึ่งทะเลาะเบาะแว้งกับสามีอยู่นั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ซึ่งทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443 ดังนั้น น.ส.ดาราจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องสมรสกับนายสมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องคืนแหวนหมั้นให้นายสมบูรณ์

และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า น.ส.ดาราต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบูรณ์และนางปราณี จะทำได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมบูรณ์ได้ร่วมหลับนอนกับนางปราณีภริยาของผู้อื่นภายหลังการหมั้นนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงที่นายสมบูรณ์คู่หมั้นได้กระทำภายหลังการหมั้น ตามมาตรา 1444 ทั้งนี้ เพราะนางปราณีเพียงแต่ได้ทำหนังสือหย่ากับสามีแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า จึงทำให้การหย่ายังไม่สมบูรณ์ (มาตรา 1514 และ 1515) การสมรสจึงยังไม่สิ้นสุด การกระทำของนายสมบูรณ์จึงเป็นการทำชู้กับภริยาของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อเหตุที่ทำให้ น.ส.ดารา บอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของนายสมบูรณ์ซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น นายสมบูรณ์จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้แก่ น.ส.ดารา นั่นเอง กล่าวคือ น.ส.ดารา มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายหรือชื่อเสียงตามมาตรา 1440(1) และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ น.ส.ดาราได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส คือการที่ตนต้องลาออกจากงานตามมาตรา 1440(3) ส่วนค่าทดแทนเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้ใช้จ่าย หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริต และตามสมควรตามมาตรา 1440(2) นั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า น.ส.ดาราได้ใช้จ่ายไปในการนี้จึงไม่มีสิทธิเรียก

ส่วนกรณีของนางปราณีนั้น การที่นางปราณีร่วมหลับนอนกับนายสมบูรณ์ นางปราณีย่อมรู้หรือควรจะรู้ว่านายสมบูรณ์เป็นคู่หมั้นของ น.ส.ดารา เพราะนางปราณีเป็นแฟนเก่าและเป็นเพื่อนสนิทของนายสมบูรณ์ ดังนั้น น.ส.ดารา จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากนางปราณีผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนได้เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1443 แล้ว (มาตรา 1445)

สรุป น.ส.ดารา สามารถบอกเลิกสัญญาหมั้นเพื่อไม่ต้องสมรสกับนายสมบูรณ์ และฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบูรณ์และนางปราณีได้

 

ข้อ 2 นายนพพรได้ข่มขู่อันถึงขนาดให้ น.ส.เมตตา จดทะเบียนสมรสด้วย เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วนายนพพรได้ยกที่ดินหนึ่งแปลงให้ น.ส.เมตตา และยกรถยนต์ 1 คัน ให้บิดาของ น.ส.เมตตา สองเดือนต่อมา น.ส.เมตตาได้หนีพ้นจากการข่มขู่ของนายนพพร อีกสองเดือนต่อมา น.ส.เมตตาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสุชาติซึ่งเคยชอบพอกัน แต่ก็ไม่ทราบว่านายสุชาติถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ในระหว่างนั้นเอง น.ส.เมตตาได้ขายที่ดินให้แก่ น.ส.อุไร เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย นายนพพรไม่พอใจจึงต้องการบอกล้างการให้ที่ดินและรถยนต์ เช่นนี้ จะทำได้หรือไม่ และการสมรสจะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 521 อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ

(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

(3) ถ้าผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมอบมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

มาตรา 1502 การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา 1507 วรรคแรก ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนพพรได้ข่มขู่อันถึงขนาดทำให้ น.ส.เมตตา จดทะเบียนสมรสด้วย ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1507 ย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายนพพรกับ น.ส.เมตตาตกเป็นโมฆียะ แต่การสมรสยังไม่สิ้นสุดลง เพราะการสมรสจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว ตามมาตรา 1502

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว นายนพพรได้ยกที่ดินหนึ่งแปลงให้ น.ส.เมตตา การให้ที่ดินดังกล่าว จึงถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 ที่ดินจึงตกเป็นสินส่วนตัวของ น.ส.เมตตา ตามมาตรา 1471(3) เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา น.ส.เมตตาจึงมีอำนาจจัดการได้โดยลำพังตามมาตรา 1473 ดังนั้น น.ส.เมตตา จึงมีสิทธิขายที่ดินให้แก่ น.ส.อุไรได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส แม้ว่า น.ส.เมตตา ได้ขายที่ดินให้แก่ น.ส.อุไรไปแล้ว นายนพพรก็ยังมีสิทธิบอกล้างการให้ที่ดินแก่ น.ส.เมตตาได้ โดยนายนพพรสามารถบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตตามมาตรา 1469 เมื่อ น.ส.อุไรไม่ทราบว่าที่ดินที่ตนซื้อมาจาก น.ส.เมตตาเป็นที่ดินที่นายนพพรยกให้ น.ส.เมตตา จึงถือว่า น.ส.อุไรสุจริต ดังนั้น การที่นายนพพรใช้สิทธิบอกล้างการให้ที่ดินซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของ น.ส.อุไร กล่าวคือ น.ส.อุไรยังคงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น นายนพพรจะเรียกที่ดินคืนจาก น.ส.อุไรไม่ได้

ส่วนการที่นายนพพร ยกรถยนต์ให้บิดาของ น.ส.เมตตานั้น ถือเป็นการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 521 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบิดาของ น.ส.เมตตา ได้ประพฤติเนรคุณต่อนายนพพรผู้ให้ตามมาตรา 531 แต่อย่างใด ดังนั้น นายนพพรจะบอกล้างการให้รถยนต์ดังกล่าวไม่ได้

และกรณีการสมรสระหว่าง น.ส.เมตตา กับนายสุชาตินั้น ถือเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 กล่าวคือ เป็นกรณีที่ น.ส.เมตตาทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ (สมรสซ้อน) เพราะศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายนพพรกับ น.ส.เมตตา ดังนั้น การสมรสระหว่าง น.ส.เมตตากับนายสุชาติจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

สรุป นายนพพรบอกล้างการให้ที่ดินได้ แต่ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ น.ส.อุไร และจะบอกล้างการให้รถยนต์ไม่ได้ ส่วนกรณีการสมรสนั้น การสมรสระหว่างนายนพพรกับ น.ส.เมตตามีผลเป็นโมฆียะ แต่การสมรสระหว่าง น.ส.เมตตากับนายสุชาติ มีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 นายสกลจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.รัตนาโดยทราบดีว่า น.ส.รัตนาได้เคยอยู่กินกับนายมนูญมาก่อน ต่อมานายมนูญได้พยายามกลับมาตีสนิทขอคืนดี และได้ใช้กำลังปลุกปล้ำข่มขืน น.ส.รัตนา นายมนูญให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบดูแล น.ส.รัตนาต่อไป นายสกลโกรธมากจึงต้องการฟ้องหย่า แต่ น.ส.รัตนาต่อสู้ว่านายสกลทราบดีอยู่แล้วว่า น.ส.รัตนาเคยอยู่กินกับนายมนูญ ดังนี้ นายสกลจะฟ้องหย่า น.ส.รัตนาได้หรือไม่ และจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

มาตรา 1517 วรรคแรก เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ(2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา 1523 วรรคสองและวรรคสาม สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516(1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมนูญได้ใช้กำลังปลุกปล้ำข่มขืน น.ส.รัตนานั้น ไม่ถือว่า น.ส.รัตนาเป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับนายมนูญเป็นอาจิณตามมาตรา 1516(1) และไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ น.ส.รัตนาประพฤติชั่วอันเป็นเหตุให้นายสกลซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516(2)(ก) ดังนั้น นายสกลจะฟ้องหย่า น.ส.รัตนาไม่ได้

และการที่ น.ส.รัตนาได้ต่อสู้ว่านายสกลทราบดีอยู่แล้วว่า น.ส.รัตนาได้เคยอยู่กินกับนายมนูญมาก่อน ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1517 วรรคแรก และมาตรา 1523 วรรคสาม ที่จะถือว่าเป็นการที่สามีคือนายสกลได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของนายมนูญ

ดังนั้น เมื่อการกระทำของนายมนูญที่ปลุกปล้ำข่มขืน น.ส.รัตนาซึ่งถือว่าเป็นการล่วงเกิน น.ส.รัตนา ภริยาของนายสกลไปในทำนองชู้สาว นายสกลจึงสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้ตามมาตรา 1523 วรรคสอง

สรุป นายสกลจะฟ้องหย่า น.ส.รัตนาไม่ได้ แต่ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้

 

ข้อ 4 นายถวิลกับนางอำไพเป็นสามีภริยากัน ต่อมาได้ทำบันทึกเป็นสัญญาระหว่างสมรสให้นางอำไพ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของนายถวิล โดยมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงในสัญญาระหว่างสมรสนี้ ต่อมานายถวิลและนางอำไพทะเลาะกัน นายถวิลจึงขอบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสที่ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสให้แก่นางอำไพ แต่นางอำไพไม่สนใจได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายสมคิดโดยอ้างว่า ได้ทำข้อตกลงกันไว้ไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงในสัญญาระหว่างสมรสไว้แล้วจึงทำได้โดยลำพัง เพราะเป็นสินส่วนตัวของตน เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

มาตรา 1480 วรรคแรก การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายถวิลทำบันทึกเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 ให้นางอำไพมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสที่เป็นส่วนของนายถวิล โดยมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงในสัญญาระหว่างสมรสนี้นั้น ย่อมทำให้ที่ดินสินสมรสทั้งหมดตกเป็นสินส่วนตัวของนางอำไพตามมาตรา 1471(3) เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา นางอำไพจึงมีอำนาจจัดการที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวนี้ได้ตามลำพังตามมาตรา 1473

แต่อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 โดยตกลงกันไม่ให้ยกเลิกข้อตกลงนั้นไม่สามารถทำได้ (ฎ. 5974/2538) ดังนั้น นายถวิลจึงขอบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสได้ในระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 และเมื่อบอกล้างสัญญาแล้วย่อมทำให้ที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นสินสมรสเช่นเดิม

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางอำไพได้โอนขายที่ดินสินสมรสดังกล่าวให้กับนายสมคิดโดยลำพังจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1476(1) ที่กำหนดว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายถวิลจึงมีสิทธิฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480

แต่อย่างไรก็ดี หากนายสมคิดได้มาซื้อที่ดินสินสมรสนี้ไปโดยสุจริต กล่าวคือ ไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายถวิลกับนางอำไพ ดังนี้ นายถวิลย่อมไม่สามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินได้เพราะบทบัญญัติมาตรา 1480 นี้ คุ้มครองบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

สรุป กรณีดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่า นายถวิลสามารถบอกเลิกสัญญาระหว่างสมรสได้ และสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างนางอำไพกับนายสมคิดได้ เว้นแต่ถ้านายสมคิดจะได้ซื้อที่ดินไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นายถวิลจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนไม่ได้

Advertisement