การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสมคิดและ  น.ส.มณี  เป็นเพื่อนเรียนหนังสือด้วยกันที่กรุงเทพฯ  ในวันปีใหม่  นายสมคิดได้ให้แหวนเพชร  น.ส.มณี  หนึ่งวง  และทั้งสองได้ตกลงวางแผนชีวิตในอนาคตที่จะสมรสกัน  น.ส.มณีกลับบ้านที่จังหวัดเลย  บิดามารดาให้  น.ส.มณีทำสัญญาหมั้นกับ  นายจุฑา  ด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง  น.ส.มณีสนิทสนมกับนายจุฑาอย่างรวดเร็ว  จนมีความสัมพันธ์ทางเพศกันโดยนายจุฑาไม่ทราบว่า  น.ส.มณีมีนายสมคิดอยู่ก่อนแล้ว  เมื่อนายสมคิดทราบก็ไม่พอใจต้องการฟ้องเรียกแหวนเพชรคืนจาก  น.ส.มณี  และฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายจุฑา  เช่นนี้  จะสามารถทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1442  ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น  ทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น  ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา  1445  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา  1442  หรือมาตรา  1443  แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นายสมคิดให้แหวนเพชรแก่  น.ส.มณี  ในวันปีใหม่  ถือเป็นการให้โดยเสน่หา  ตามมาตรา  521  ไม่ก่อให้เกิดเป็นสัญญาหมั้นตามมาตรา  1437  วรรคแรกแต่อย่างใด  แม้จะมีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้แก่หญิง  แต่ก็ไม่อาจฟังได้ว่าให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น  นายสมคิดจึงฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนฐานผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา  1439  หรือจะอ้างเหตุบอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442  ไม่ได้เพราะไม่มีการหมั้นเกิดขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น  นายสมคิดจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายจุฑา  เพราะได้ร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นแล้วตามมาตรา  1445  ไม่ได้  เพราะนายจุฑาไม่ทราบว่านายสมคิดเป็นแฟนกับ  น.ส.มณี  และไม่มีการหมั้นเกิดขึ้น  จึงไม่สามารถปรับใช้บทมาตรา  1445  ได้

สรุป  นายสมคิดไม่สามารถฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนจาก  น.ส.มณี  และไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากนายจุฑาได้

 

ข้อ  2  นายเทพและนางพิณเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  หลังจากสมรส  นายเทพได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในระหว่างที่พระภิกษุเทพอุปสมบทอยู่  นางพิณประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน  นายจ้างปลดนางพิณออกจากงาน  โดยนางพิณได้รับเงินค่าชดเชยจากนายจ้างมาจำนวน  100,000  บาท  ต่อมาพระภิกษุเทพสึกจากสมณเพศ  นายเทพได้ให้ที่ดินที่นายเทพซื้อไว้ก่อนสมรสกับนางพิณ  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากนั้นนายเทพและนางพิณมีปัญหาในชีวิตสมรส  ทั้งสองประสงค์จะหย่ากัน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก.      ถ้านายเทพและนางพิณหย่ากัน  เงินค่าชดเชยที่นางพิณได้รับมา  100,000  บาท  นางพิณจะต้องแบ่งเงินดังกล่าวนี้ให้กับนายเทพหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.      ถ้าหลังจากที่ทั้งสองหย่ากันได้  6  เดือน  นายเทพจะบอกล้างการให้ที่ดินแก่นางพิณได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1533  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

วินิจฉัย

ก.      เงินค่าชดเชยจำนวน  100,000  บาท  เป็นเงินที่นายจ้างให้แก่นางพิณตามสิทธิที่นางพิณพึงได้ตามกฎหมาย  ไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างให้นางพิณโดยเสน่หา  แม้นางพิณได้เงินค่าชดเชยมาในระหว่างที่นายเทพอุปสมบทอยู่ก็ตาม  ก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส  เพราะการอุปสมบทไม่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง  เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(1)  ดังนั้น  ถ้านายเทพและนางพิณหย่ากัน  นางพิณจะต้องแบ่งเงินค่าชดเชยดังกล่าวให้กับนายเทพครึ่งหนึ่งตามมาตรา  1553  (ฎ.93/2531)

ข.      การที่นายเทพได้ให้ที่ดินที่นายเทพซื้อไว้ก่อนสมรสอันเป็นสินส่วนตัวของนายเทพตามมาตรา  1471(1)  ให้กับนางพิณถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส  นายเทพมีสิทธิที่จะบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสนี้ในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่  หรือภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  ตามมาตรา  1469  ดังนั้น  เมื่อทั้งสองหย่ากันได้เพียง  6  เดือน  นายเทพจึงบอกล้างการให้ที่ดินแก่นางพิณได้ 

สรุป

ก.      เงินค่าชดเชย  นางพิณต้องแบ่งแก่นายเทพครึ่งหนึ่ง

ข.      นายเทพบอกล้างการให้ที่ดินแก่นางพิณได้

 

ข้อ  3  ก  จดทะเบียนสมรสกับ  ข  ก่อนจดทะเบียน  ก  มีรถยนต์  1  คัน  เงินฝากในธนาคาร  1  แสนบาท  ในระหว่างสมรส  ก  ขายรถ และนำเงินที่ได้มารวมกับเงินที่ฝากในธนาคาร  ซื้อรถยนต์ให้  ข  เป็นของขวัญวันครบรอบแต่งงาน  ขณะเดียวกัน  ข  ได้รับมรดกเป็นสวน  1  แปลงจากบิดาตน  ทั้งสองขัดใจกันตกลงหย่ากัน  นอกจากทรัพย์สินที่ว่าไว้ข้างต้น  ยังมีรายได้จากการทำสวนเป็นเงิน  20,000  บาท  ให้ท่านแบ่งทรัพย์สินให้แก่คนทั้งสอง

ธงคำตอบ

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

(3)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมอบมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

มาตรา  1472  วรรคแรก  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1533  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

วินิจฉัย

รถยนต์และเงินฝากในธนาคาร  1  แสนบาท  เป็นสินส่วนตัวของนาย  ก.  เพราะเป็นทรัพย์สินที่นาย  ก.  มีอยู่ก่อนสมรส  ตามมาตรา  1471(1)

สำหรับรถยนต์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวนั้น  เมื่อขายได้เงินมา  เงินที่ได้มานั้นก็เป็นสินส่วนตัวของ  ก.  ตามมาตรา  1472  วรรคแรก  แม้จะทำการขายและได้เงินมาในระหว่างสมรสก็ตาม

การที่  ก.  นำเงินที่ได้จากการขายรถซึ่งเป็นสินส่วนตัวมารวมกับเงินที่ฝากในธนาคารซึ่งเป็นสินส่วนตัวเช่นกันไปซื้อรถยนต์ให้  ข.  รถยนต์ที่ซื้อมานั้นย่อมเป็นสินส่วนตัวของ  ก.  ตามมาตรา  1472  วรรคแรก  เมื่อ  ก.  ยกรถยนต์ให้  ข.  รถยนต์จึงเป็นสินส่วนตัวของ  ข.  ตามมาตรา  1471(3)  เพราะ  ข.  ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา

ส่วนสวน  1  แปลงนั้น  ข.  ได้รับมรดกมาในระหว่างสมรส  จึงเป็นสินส่วนตัว  ตามมาตรา  1471(3)  และรายได้จากการทำสวนเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส  จึงเป็นสินสมรส  ตามมาตรา  1474(1)  ซึ่งสินสมรสนี้เมื่อหย่ากันให้แบ่งชายและหญิงเท่ากัน  ตามมาตรา  1533

 

ข้อ  4  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  และมีบุตรด้วยกันคือหนึ่ง  หลังจากนั้นไม่นานนายไก่ก็ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางขวดและมีบุตรด้วยกันคือสอง  นายไก่สำนึกผิดที่เป็นเหตุทำให้นางไข่เสียใจจนขอไปบวชชี  เวลาผ่านไปปีกว่าแล้วก็ไม่ยอมสึก  ไปขอร้องให้สึกเพื่อมาตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยกันก็ไม่ยอม

ก.      นายไก่ฟ้องหย่านางไข่ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.      หนึ่งและสอง  เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใครนับตั้งแต่เมื่อใด

ธงคำตอบ 

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4/2)  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา  1536  วรรคแรก  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

ก.      นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา  1516(4)  ไม่ได้  เพราะการที่นางไข่ไปบวชชีได้ขออนุญาตนายไก่แล้ว  แม้เวลาจะผ่านไปปีกว่าแล้วก็ตาม  ก็ไม่ถือว่านางไข่จงใจละทิ้งนายไก่ไปเกินกว่า  1  ปี

แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้ถือได้ว่านายไก่และนางไข่สมัครใจแยกกันอยู่  เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข  ซึ่งจะนำไปเป็นเหตุฟ้องหย่าได้เมื่อสามีภริยาแยกกันอยู่เกิน  3  ปีแล้ว  ตามมาตรา  1516(4/2)  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเวลาผ่านไปเพียงปีกว่า  นายไก่จึงไม่อาจยกเหตุนี้ไปเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

ข.      หนึ่งเป็นบุตรที่เกิดระหว่างสมรสจากบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  หนึ่งจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก  ตามมาตรา  1536  วรรคแรก

ส่วนสองนั้นเกิดจากนายไก่และนางขวด  ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน  จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางขวดแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก  ตามมาตรา  1546

สรุป

ก.      นายไก่ฟ้องหย่านางไข่ไม่ได้

ข.      หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  ส่วนสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางขวดแต่เพียงผู้เดียว

Advertisement