การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสุธรรมได้อยู่กินฉันสามีภริยากับ น.ส.สมหญิง แต่ต่อมาได้ทะเลาะเบาะแว้งกันจึงตกลงทําหนังสือหย่าร้างกันโดยมีข้อตกลงว่าจะไม่เรียกร้องทรัพย์สินระหว่างกัน นายสุธรรมได้ทํา สัญญาหมั้นกับ น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร 1 วง และได้อยู่กินร่วมกัน แต่ต่อมา น.ส.น้ำผึ้งได้ทราบว่า นายสุธรรมได้อยู่กินกับ น.ส.สมหญิงมาก่อนจึงไม่พอใจ น.ส.น้ำผึ้งจึงได้ทําสัญญาหมั้นกับนายดนัย ที่มาชอบพอด้วยแหวนเพชร 1 วง แต่เมื่อนายดนัยได้ทราบว่า น.ส.น้ำผึ้งได้หมั้นหมายและเคยอยู่กิน กับนายสุธรรมมาก่อนก็ไม่พอใจ จึงต้องการฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืน และฟ้องเรียกค่าทดแทนจากน.ส.น้ำผึ้ง และจากนายสุธรรมด้วย เช่นนี้ จะทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”

มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น”

มาตรา 1445 “ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 การที่นายสุธรรมได้อยู่กินฉันสามีภริยากับ น.ส.สมหญิงโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น ถือว่าทั้งสองไม่ได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย (มาตรา 1457)

2 การที่นายสุธรรมได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.น้ำผึ้ง ด้วยแหวนเพชร 1 วง ถือว่าการหมั้น ระหว่างนายสุธรรมกับ น.ส.น้ำผึ้งมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก

3 การที่ น.ส.น้ำผึ้งได้ทราบว่านายสุธรรมได้เคยอยู่กินกับ น.ส.สมหญิงมาก่อนจึงไม่พอใจ และได้ทําสัญญาหมั้นกับนายดนัยด้วยแหวนเพชร 1 วงนั้น ถือว่าการหมั้นระหว่าง น.ส.น้ำผึ้งกับนายดนัยมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก แม้ว่าในขณะที่หมั้นกับนายดนัยนั้น น.ส.น้ำผึ้งจะมีคู่หมั้นคือนายสุธรรมอยู่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 1438 ได้บัญญัติไว้ว่า การหมั้นนั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ กล่าวคือ นายสุธรรมจะร้องขอให้ศาลบังคับให้ น.ส.น้ำผึ้งสมรสกับตนไม่ได้นั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายดนัยได้ทราบว่า น.ส.น้ำผึ้งได้หมั้นหมายและเคยอยู่กินกับนายสุธรรม มาก่อน ดังนี้นายดนัยย่อมถือว่ามีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้นได้ ตามมาตรา 1442 และมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและให้ น.ส.น้ำผึ้งคืนของหมั้นแก่นายดนัยได้

แต่นายดนัยจะเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.น้ำผึ้งตามมาตรา 1444 ไม่ได้ และจะเรียกค่าทดแทน จากนายสุธรรมตามมาตรา 1445 ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่นายสุธรรมได้อยู่กินร่วมกันกับ น.ส.น้ำผึ้งนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่นายดนัยจะได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.น้ำผึ้ง

สรุป

นายดนัยสามารถฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนได้เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นกับ น.ส.น้ำผึ้ง แต่จะเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.น้ําผึ้งและจากนายสุธรรมไม่ได้

 

ข้อ 2 บิดา มารดา นางสาวสุดสวย อนุญาตให้นางสาวสุดสวยซึ่งมีอายุย่างเข้า 17 ปีแล้วหมั้นกับนายสมยศรูปหล่อพ่อรวย ด้วยแหวนเพชรมูลค่า 10 ล้านบาท แม้นายสมยศจะอายุมากกว่าถึง 20 ปี หลังจาก นางสาวสุดสวยอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ จึงแอบไปจดทะเบียนสมรสกับนายหนุ่มซึ่งเป็นคู่รักกัน มาก่อนแล้ว และอายุอยู่ในวัยใกล้เคียงกันเรียนจบและมีงานทําแล้วอายุก็เพียง 25 ปีเท่านั้น การหมั้นระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายสมยศ การสมรสระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายหนุ่มมีผล ในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1435 “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ”

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอัน เป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การ สมรสนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การหมั้นระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายสมยศ

การที่นางสาวสุดสวยหมั้นกับนายสมยศนั้น แม้การหมั้นจะมีของหมั้นคือแหวนเพชร มูลค่า 10 ล้านบาท และได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของนางสาวสุดสวยตามมาตรา 1436 และมาตรา 1437 วรรคแรกก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะหมั้นนั้นนางสาวสุดสวยยังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงถือว่า การหมั้นนั้นฝ่าฝืนมาตรา 1435 ดังนั้นการหมั้นระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายสมยศจึงมีผลเป็นโมฆะ

2 การสมรสระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายหนุ่ม

การที่นางสาวสุดสวยได้จดทะเบียนสมรสกับนายหนุ่มในขณะที่นางสาวสุดสวยมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์นั้น ถือว่าในขณะสมรสนางสาวสุดสวยยังเป็นผู้เยาว์อยู่ เมื่อการสมรสนั้นไม่ได้รับความยินยอม จากบิดามารดาของนางสาวสุดสวย จึงถือว่าการสมรสนั้นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 การสมรสระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายหนุ่มจึงมีผลเป็นโมฆี่ยะตามมาตรา 1509

สรุป การหมั้นระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายสมยศเป็นโมฆะ

การสมรสระหว่างนางสาวสุดสวยกับนายหนุ่มเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3 นายเพชรและนางพลอยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายเพชรทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายธงจํานวน 50,000 บาท โดยนางพลอยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินนั้น นายเพชรได้นําเงิน ดังกล่าวไปใช้จ่ายในการพานางสาวแหวนผู้หญิงที่นายเพชรแอบคบอยู่ไปเที่ยวต่างประเทศ ต่อมา นายเพชรทําสัญญาค้ำประกันการเข้าทํางานของนางสาวแหวนกับบริษัทแห่งหนึ่ง หลังจากนั้น นางพลอยทราบเรื่องทั้งหมด นางพลอยโกรธมาก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) หนี้ที่นายเพชรได้ไปทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายธง จํานวน 50,000 บาทเป็นหนี้ประเภทใดของครอบครัว และใครจะต้องรับผิดในหนี้นั้น

(ข) นางพลอยจะฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกันการเข้าทํางานของนางสาวแหวนได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีก ฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิ เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน”

มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทําด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายเพชรได้ทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายธง จํานวน 50,000 บาท โดยนายเพชรได้นําเงิน ดังกล่าวไปใช้จ่ายในการพานางสาวแหวนผู้หญิงที่นายเพชรแอบคบอยู่ไปเที่ยวต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นหนี้ ที่นายเพชรก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่การที่นางพลอยได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินนั้น ถือได้ว่านางพลอยได้ให้สัตยาบันในหนี้นั้นแล้ว หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่นายเพชรและนางพลอยจะต้องรับผิด ร่วมกันตามมาตรา 1490(4)

(ข) การที่นายเพชรได้ทําสัญญาค้ำประกันการเข้าทํางานของนางสาวแหวนนั้น ไม่ใช่นิติกรรมที่ เกี่ยวข้องกับสินสมรสแต่อย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่ใช่การจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นนางพลอยจึงฟ้องศาลเพื่อขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกัน การเข้าทํางานของนางสาวแหวนไม่ได้ (มาตรา 1480 วรรคแรก)

สรุป

(ก) การที่นายเพชรทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายธง 50,000 บาท เป็นหนี้ร่วมที่นายเพชร และนางพลอยต้องรับผิดร่วมกัน

(ข) นางพลอยจะฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกันการเข้าทํางานของนางสาวแหวน ไม่ได้

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานางไข่จับได้ว่านายไก่และนางมะเมียะสาวใช้ร่วมประเวณีกันเป็นอาจิณ นายไก่และนางมะเมียะก็ขออภัยนางไข่ก็ให้อภัย และคิดว่า ดีเหมือนกันสามีไม่ไปเหลวไหลนอกบ้าน จึงยินยอมให้มีความสัมพันธ์เช่นเดิมต่อไปได้ ต่อมา นางมะเมียะตั้งครรภ์นายไก่ยิ่งหลงรักนางมะเมียะมากยิ่งขึ้น และยกย่องให้นางมะเมียะเป็นภริยา อีกคนหนึ่ง เมื่อนางมะเมียะคลอดบุตรแล้วทําให้นางไข่โกรธมาก ตามพฤติกรรมข้างต้น นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่ และเด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคแรก “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยก เป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1518 “สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทําการอันแสดง ให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ได้ร่วมประเวณีกับนางมะเมียะเป็นอาจิณนั้นถือว่า เป็นเหตุฟ้องหย่าที่นางไข่สามารถฟ้องหย่านายไกได้ตามมาตรา 1516(1) แต่เมื่อนางไข่ได้ให้อภัยในการกระทําของ นายไก่ที่ทํามาแล้ว สิทธิฟ้องหย่ายอมหมดไปตามมาตรา 1518

และในกรณีที่นางไข่ได้ยินยอมให้นายไก่มีความสัมพันธ์กับนางมะเมียะต่อไปนั้นถือว่านางไข่ รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้นายไก่สามีร่วมประเวณีกับนางมะเมียะได้ถึงเป็นอาจิณ นางไข่ก็จะฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ ไม่ได้ตามมาตรา 1517 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตามการที่นายไก่ได้ยกย่องให้นางมะเมียะเป็นภริยาอีกคนนั้น นางไข่ถือว่า เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516(1) เพราะการที่นางไข่ได้ยินยอมให้นายไก่สามีร่วมประเวณีกับนางมะเมียะนั้น มิได้หมายความว่านางไข่ได้ยินยอมให้นายไก่ยกย่องให้นางมะเมียะเป็นภริยาอีกคนแต่อย่างใด

ส่วนเด็กนั้นเมื่อเกิดจากนางมะเมียะซึ่งมิได้สมรสกับนายไก่ย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนางมะเมียะแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางมะเมียะนับตั้งแต่คลอด และอยู่รอดเป็นทารก

สรุป

นางไข่สามารถฟ้องหย่านายไก่ได้ด้วยเหตุที่นายไก่ยกย่องนางมะเมียะเป็นภริยาและ เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางมะเมียะนับแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก

 

Advertisement