การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายรุ่งเรืองทําสัญญาหมั้น น.ส.อรทัย โดยตกลงจะให้แหวนเพชร 1 วง และทอง 5 บาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ได้ทําสัญญาหมั้น นายรุ่งเรืองได้ส่งมอบแหวนเพชร 1 วง แต่ทอง 5 บาท ไม่สามารถส่งมอบได้ทัน จึงทําสัญญากู้เงินจํานวน 100,000 บาท ให้ไว้แทน และได้ตกลงว่าจะจดทะเบียนสมรส กันในเดือนธันวาคม ต่อมาในเดือนมิถุนายน น.ส.อรทัยได้ลาออกจากงานไปอยู่กินฉันสามีภริยา และช่วยทํางานให้แก่นายรุ่งเรืองที่บ้าน ปรากฏว่าในเดือนตุลาคม นายรุ่งเรืองได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.สุดาด้วยทอง 5 บาท โดยไม่ทราบว่า น.ส.สุดาได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้ว เช่นนี้

(ก) น.ส.อรทัย เห็นว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นและต้องการฟ้องเรียกของหมั้นที่เป็นเงิน 100,000 บาท

(ข) นายรุ่งเรืองอ้างว่าสัญญาหมั้น น.ส.สุดาใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการทําสัญญาซ้อน และน.ส.สุดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น” ”

มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายรุ่งเรืองได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.อรทัยด้วยแหวนเพชร 1 วง และได้ตกลงว่าจะจดทะเบียนสมรสกันในเดือนธันวาคมนั้น การหมั้นระหว่างนายรุ่งเรืองกับ น.ส.อรทัยย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก ต่อมาการที่นายรุ่งเรืองได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.สุดาด้วยทอง 5 บาท ในเดือนตุลาคมนั้น ไม่ถือว่า เป็นกรณีที่นายรุ่งเรืองผิดสัญญาหมั้น เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 นั้น จะต้อง เป็นกรณีที่นายรุ่งเรืองได้ปฏิเสธไม่ยอมสมรสกับ น.ส.อรทัยแล้ว หรือไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.อรทัย เมื่อถึง เดือนธันวาคมแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงยังไม่ถึงเดือนธันวาคมและไม่ปรากฏว่านายรุ่งเรืองได้ปฏิเสธไม่ยอมสมรสกับ น.ส.อรทัยแต่อย่างใด อีกทั้งแม้ว่านายรุ่งเรืองจะได้หมั้นกับ น.ส.สุดาก็ตาม นายรุ่งเรืองก็สามารถที่จะจดทะเบียนสมรส กับ น.ส.อรทัยได้ เพราะ น.ส.สุดาไม่อาจฟ้องบังคับให้นายรุ่งเรืองสมรสกับตนได้นั่นเอง (มาตรา 1438) ดังนั้น น.ส.อรทัยจะถือว่านายรุ่งเรืองผิดสัญญาหมั้นไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายรุ่งเรืองได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.สุดา ในขณะที่ได้มีการหมั้นกับ น.ส.อรทัยอยู่ก่อนแล้วนั้น น.ส.อรทัยสามารถถือเป็นเหตุสําคัญอันเกิดกับชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควร สมรสกับชายนั้น เพื่อบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยไม่ต้องคืนของหมั้นได้ตามมาตรา 1443

ส่วนกรณีที่นายรุ่งเรืองตกลงว่าจะให้ทอง 5 บาท แก่ น.ส.อรทัย แต่ไม่สามารถส่งมอบได้ทัน จึงทําสัญญากู้เงินจํานวน 100,000 บาท ให้ไว้แทนนั้น ไม่ถือว่าเป็นการให้ของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ให้ไว้ในเวลาทําสัญญาหมั้นและซึ่งหญิงได้รับไว้แล้ว ดังนั้น น.ส.อรทัยจะฟ้องเรียกเงิน 100,000 บาท ตามสัญญากู้ในฐานะเป็นของหมั้นไม่ได้ (ฎีกาที่ 1852/2506)

(ข) การที่นายรุ่งเรืองได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.สุดาด้วยทอง 5 บาท และในขณะที่หมั้นนั้น นายรุ่งเรืองมีคู่หมั้นอยู่ก่อนแล้วคือ น.ส.อรทัยนั้น สัญญาหมั้นระหว่างนายรุ่งเรืองกับ น.ส.สุดาก็มีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมายตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะนายรุ่งเรืองสามารถที่จะสมรสกับ น.ส.สุดาในภายหลังได้ และ ตามกฎหมาย น.ส.อรทัยก็ไม่สามารถบังคับให้นายรุ่งเรืองสมรสกับตนได้ (มาตรา 1438) อีกทั้งตามกฎหมายก็มิได้ บัญญัติว่าการหมั้นในขณะที่ตนมีคู่หมั้นอยู่แล้วเป็นการทําสัญญาหมั้นซ้อน หรือมีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ น.ส.สุดาเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วนั้น ก็มิได้ มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ทําการหมั้นแต่อย่างใด ดังนั้น น.ส.สุดาจึงสามารถทําสัญญาหมั้นกับนายรุ่งเรืองได้

สรุป

(ก) น.ส.อรทัยจะถือว่านายรุ่งเรืองผิดสัญญาหมั้น และจะฟ้องเรียกของหมั้นที่เป็นเงิน

100,000 บาท ไม่ได้

(ข) นายรุ่งเรืองจะอ้างว่าสัญญาหมั้น น.ส.สุดาใช้ไม่ได้ เพราะเป็นการทําสัญญาซ้อนและ น.ส.สุดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้

 

ข้อ 2 นายดําจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ฟ้าใส ซึ่งเป็นน้องสาวของตน โดย น.ส.ฟ้าใสไม่ทราบเพราะมารดา ได้ยก น.ส.ฟ้าใสให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายขาวตั้งแต่ยังแบเบาะ ซึ่งนายดําทราบดีแต่นิ่งเฉย ไม่บอกกล่าว ในระหว่างสมรสนั้นเอง นายดําได้มอบเงินให้ น.ส.ฟ้าใสไว้ใช้จ่ายทุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาท ต่อมา น.ส.ฟ้าใสทราบความจริงว่าเป็นน้องสาว จึงเห็นว่าไม่ควรใช้ชีวิตสมรสร่วมกัน อีกต่อไป ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) น.ส.ฟ้าใสจะฟ้องให้การสมรสสิ้นสุดลงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(2) นายดําจะเรียกเงินที่ให้ น.ส.ฟ้าใสไว้ใช้จ่ายทุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาท คืนได้หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1450 “ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วม บิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทําการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”

มาตรา 1461 “สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1496 “คําพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็น โมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้”

มาตรา 1499 วรรคแรก “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือ มาตรา 1458 ไม่ทําให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิ์ที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคําพิพากษาถึงที่สุด ให้เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายดําจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ฟ้าใส ซึ่งเป็นน้องสาวของตนนั้น ถือว่าเป็น การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1450 เพราะเป็นการสมรสระหว่างพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน และมีผลเป็นโมฆะตาม มาตรา 1495 ดังนั้น น.ส.ฟ้าใสในฐานะคู่สมรสจึงสามารถฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเพื่อให้ การสมรสสิ้นสุดลงได้ตามมาตรา 1496 วรรคสอง

(2) เงินที่นายดําได้มอบให้ น.ส.ฟ้าใสไว้ใช้จ่ายทุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาทนั้น เมื่อได้ให้ ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ และศาลยังไม่มีคําพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่สามีให้ เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูตามมาตรา 1461 และเมื่อเป็นเงินที่ น.ส.ฟ้าใสได้มาเพราะการสมรสและโดยสุจริต เพราะ น.ส.ฟ้าใสไม่ทราบว่าเป็นน้องสาว น.ส.ฟ้าใสจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 วรรคแรก ดังนั้นนายดํา จะเรียกเงินดังกล่าวคืนไม่ได้

สรุป

(1) น.ส.ฟ้าใสจะฟ้องให้การสมรสสิ้นสุดลงได้

(2) นายดําจะเรียกเงินที่ให้ น.ส.ฟ้าใสไว้ใช้จ่ายทุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาท คืนไม่ได้

 

ข้อ 3 นายเกษมและนางแก้วเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายก้อง นายเกษมกู้เงินมาซื้อรถยนต์โดยผ่อนชําระเงินกู้ด้วยเงินเดือนของนายเกษมจนครบถ้วน และใส่ชื่อนายเกษม ในทะเบียนรถยนต์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายเกษมและนางแก้วทะเลาะกัน ทั้งสองคนตัดสินใจ แยกกันอยู่ นางแก้วไปกู้เงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนของนายก้องจํานวน 10,000 บาท โดยนายเกษมไม่ได้ รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้เงินนั้นแต่อย่างใด ต่อมานายเกษมเอาเงินเก็บของตนเองซื้อ สลากกินแบ่งรัฐบาล นายเกษมถูกรางวัลได้รับเงินมา 1,000,000 บาท นางแก้วขอแบ่งเงินรางวัลที่ นายเกษมได้รับ แต่นายเกษมไม่ยินยอม นายเกษมอ้างว่าเงินรางวัลนี้เป็นของนายเกษมแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นทั้งคู่ประสงค์จะหย่าขาดกัน ดังนี้ ทรัพย์สินที่นายเกษมและนางแก้วมีจะต้องแบ่งกันอย่างไร และนายเกษมจะต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้จํานวน 10,000 บาท ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

 

มาตรา 1488 “ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชําระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่าง สมรส ให้ชําระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชําระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น”

มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ”

มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1533 “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเกษมและนางแก้วเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย และต่อมา ทั้งสองทะเลาะกันและตัดสินใจแยกกันอยู่นั้น เมื่อทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน จึงถือว่าทั้งสองยังเป็นสามี ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 1501)

สําหรับทรัพย์สินที่เป็นรถยนต์นั้น แม้นายเกษมจะกู้เงินมาซื้อและผ่อนชําระเงินกู้ด้วยเงินเดือน ของนายเกษมจนครบถ้วน และการที่นายเกษมถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับเงินมา 1,000,000 บาท โดยที่ นายเกษมได้เอาเงินเก็บของตนเองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ทั้งรถยนต์และเงินรางวัล 1,000,000 บาท ย่อมถือว่า เป็นสินสมรส เพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสตามมาตรา 1474 (1) ดังนั้น เมื่อทั้งสองประสงค์ ที่จะหย่ากัน นายเกษมและนางแก้วจึงต้องแบ่งรถยนต์และเงินรางวัล 1,000,000 บาท คนละครึ่งตามมาตรา 1533

ส่วนหนี้เงินกู้จํานวน 10,000 บาท ที่นางแก้วกู้มาจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนของนายก้องนั้น มิใช่ หนี้ส่วนตัวที่นางแก้วจะต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียวตามมาตรา 1488 แต่เป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 (1) เพราะ เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ดังนั้น แม้นายเกษมจะไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้เงินรายนี้ก็ตาม นายเกษมก็ต้องร่วมกันรับผิดกับนางแก้ว

สรุป

ทรัพย์สินที่นายเกษมและนางแก้วจะต้องแบ่งกันเมื่อทั้งสองหย่ากันคือ รถยนต์และ รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นสินสมรส และนายเกษมจะต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้จํานวน 10,000 บาทด้วย

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน คือเด็กชายเป็ด ต่อมานายไก่และนางไข่ทะเลาะกันเพราะนายไก่กล่าวหาว่านางไข่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยจึงตกลงหย่ากัน โดยทําเป็น หนังสือลงลายมือชื่อทั้ง 2 ฝ่าย และมีพยาน 2 คน หลังจากนั้นนายไก่ก็ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา กับนางนก และมีลูกด้วยกันคือ เด็กหญิงหนู นางไข่บอกให้นายไก่เลิกกับนางนก นายไก่ก็ไม่ยอม อ้างว่านางไข่กับตนสิ้นสุดการสมรสแล้ว

(1) การหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(2) นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่มีภริยาน้อยได้หรือไม่

(3) เด็กชายเป็ด เด็กหญิงหนู เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”

มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายไก่เเละนางไข่ได้ตกลงหย่ากันโดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อสองคนนั้น แม้จะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 แต่เมื่อนายไก่และนางไข่ยังไม่ได้จดทะเบียน การหย่า การหย่าโดยความยินยอมระหว่างนายไก่และนางไข่จึงยังไม่สมบูรณ์ (ตามมาตรา 1515)

(2) การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางนก และมีลูกด้วยกันคือเด็กหญิงหนู ในขณะที่นายไก่ยังมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนางไข่ (เพราะการหย่ายังไม่สมบูรณ์) ถือว่าเป็นกรณีที่สามี ได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันาริยาตามมาตรา 1516 (1) ดังนั้น นางไข่จึงสามารถฟ้องหย่านายไก่เพราะ มีภริยาน้อยได้

(3) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอด เป็นทารก เพราะเกิดขณะนายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเด็กหญิงหนูเป็นบุตรชอบด้วย กฎหมายของนางนกแต่เพียงผู้เดียว นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก เพราะเกิดในขณะที่นายไก่และนางนก มิได้จดทะเบียนสมรสกัน (ตามมาตรา 1457 ประกอบมาตรา 1546)

สรุป

(1) การหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่มีผลไม่สมบูรณ์

(2) นางไข่ฟ้องหย่านายไก่เพราะมีภริยาน้อยได้

(3) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่ ส่วนเด็กหญิงหนูเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางนกแต่เพียงผู้เดียว

Advertisement