การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นางปูและนางปลาเป็นพี่น้องฝาแฝดเหมือน นางปูเป็นคู่รักกับนายกุ้ง โดยนายกุ้งไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่านางปูมีคู่แฝด ในวันจดทะเบียนสมรสนางปูติดสอบเข้ารับราชการ นางปลาก็เลยไปจดทะเบียนสมรสแทนเพราะนางปลาก็แอบรักนายกุ้งเช่นกัน เวลาผ่านไปได้หนึ่งอาทิตย์นายกุ้ง เพิ่งทราบว่าหญิงซึ่งตนอยู่กินร่วมกันนั้นมิใช่นางปูจึงโกรธมาก หนีนางปลาไปอยู่กินร่วมกัน ฉันสามีภริยากับนางหอย และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายกบ

(1) การสมรสระหว่างนางปลาและนายกุ้ง มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(2) นางปลาจะฟ้องหย่านายกุ้งได้หรือไม่

(3) เด็กชายกบเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1502 “การสมรสที่เป็นโมฆยะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1503 “เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทําการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509″

มาตรา 1505 วรรคแรก “การสมรสที่ได้กระทําไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสําคัญผิดตัวคู่สมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นางปลาสวมรอยทําการจดทะเบียนสมรสกับนายกุ้ง โดยที่นายกุ้งไม่ทราบว่า เป็นนางปลา แต่สําคัญผิดคิดว่าเป็นนางปู เพราะนางปูและนางปลาเป็นพี่น้องฝาแฝดกันนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ นายกุ้งได้ทําการสมรสโดยสําคัญผิดตัวคู่สมรส ดังนั้น การสมรสระหว่างนางปลาและนายกุ้งจึงเป็นโมฆยะตาม มาตรา 1505 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การสมรสที่เป็นโมฆียะดังกล่าวนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่มี การฟ้องศาลให้พิพากษาเพิกถอนการสมรส จึงถือว่าการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง และถือว่านางปลาและนายกุ้ง ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ (มาตรา 1502)

2 การที่นายกุ้งไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางหอยนั้น ถือว่านายกุ้งยกย่องเลี้ยงดู หญิงอื่นฉันภริยา อันเป็นเหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516(1) ดังนั้น นางปลาจึงฟ้องหย่านายกุ้งได้

3 ส่วนเด็กชายกบนั้น เมื่อเกิดจากนางหอยซึ่งมิได้ทําการสมรสกับนายกุ้ง ย่อมเป็นบุตร โดยชอบด้วยกฎหมายของนางหอยแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางหอย นับตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

สรุป

(1) การสมรสระหว่างนางปลาและนายกุ้งมีผลเป็นโมฆียะ

(2) นางปลาจะฟ้องหย่านายกุ้งได้

(3) เด็กชายกบเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางหอยนับตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

 

ข้อ 2 นายพิภพอายุ 23 ปี และบิดามารดาได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.อุสา อายุ 16 ปี 10 เดือน ด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงิน 200,000 บาท ได้ตกลงกันว่าจะจดทะเบียนสมรสอีก 1 ปีข้างหน้า เมื่อผ่านไปหนึ่งปี น.ส.อุสาได้รู้จักกับนายสําราญซึ่งเป็นเพื่อนกับนายพิภพซึ่งชอบพอกันจึงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา และไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนายพิภพตามที่ทําสัญญาหมั้นไว้ นายพิภพไม่พอใจจึงต้องการฟ้อง เรียกของหมั้นคืนและเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.อุสา เช่นนี้ สามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใดจงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 412 “ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจํานวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืน เต็มจํานวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน”

มาตรา 413 “เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจํานวนเงิน และบุคคลได้รับไว้ โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจําต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้น สูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย”

มาตรา 1435 “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่ อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”

วินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายในเรื่องการหมั้นนั้น ชายและหญิงจะหมั้นกันได้ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หากชายและหญิงทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีผลทําให้ การหมั้นนั้นเป็นโมฆะ (ตามมาตรา 1435) กล่าวคือ จะมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการหมั้นเกิดขึ้นเลย และทั้งสองฝ่าย จะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยหากฝ่ายใดได้ทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งมาจะต้องนําบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ มาใช้บังคับ คือมาตรา 412 และ 413

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิภพได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.อุสานั้น แม้การหมั้นจะมีของหมั้น คือแหวนเพชร 1 วง และเงินอีก 200,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส.อุสายังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงถือว่าการหมั้นนั้นฝ่าฝืนมาตรา 1435 วรรคแรก และมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง น.ส.อุสาจึงต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมนั้น ซึ่งได้แก่ แหวนเพชรและเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นายพิภพ โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 412 และ 413 ดังนั้น นายพิภพจึงฟ้องเรียกของหมั้น คืนจาก น.ส.อุสาได้ (ฎีกาที่ 3072/2547)

และเมื่อผ่านไป 1 ปี แม้ น.ส.อุสาจะมีอายุ 17 ปี 10 เดือนแล้วก็ตาม แต่เมื่อการหมั้นระหว่าง นายพิภพกับ น.ส.อุสามีผลเป็นโมฆะ และถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการหมั้นเกิดขึ้นเลย ดังนั้น การที่ น.ส.อุสา ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนายพิภพจึงไม่อาจเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ได้ นายพิภพจึงไม่อาจเรียก ค่าทดแทนจาก น.ส.อุสาตามมาตรา 1440 ได้

สรุป นายพิภพสามารถฟ้องเรียกของหมั้นคืนจาก น.ส.อุสาได้ แต่จะเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.อุสาไม่ได้

 

ข้อ 3 นายชอบและนางพรเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายชอบได้ยกสร้อยเพชรที่นายชอบซื้อมาก่อนสมรสให้กับนางพร ต่อมานายซอบแอบไปคบกับนางสาวขวัญซึ่งเป็นเลขาของนายชอบ นายชอบเล่าเรื่องที่เคยให้สร้อยเพชรแก่นางพรให้นางสาวขวัญทราบ นางสาวขวัญบอกให้นายชอบไปขอ สร้อยเพชรจากนางพรคืนมาให้ตน ต่อมานางสาวขวัญได้บอกแก่เพื่อนร่วมงานของนายชอบว่าตน มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายชอบแล้ว และนายชอบบอกว่าจะหย่ากับนางพรมาสมรสกับตน

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายชอบจะบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยเพชรกับนางพรเพื่อที่จะเอาไปให้นางสาวขวัญได้หรือไม่เพราะเหตุใด

(ข) นางพรจะเรียกค่าทดแทนจากนางสาวขวัญ โดยที่นางพรไม่ประสงค์จะหย่ากับนายชอบได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจาก การเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1523 วรรคสอง “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทํานองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทํานองชู้สาว ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายชอบยกสร้อยเพชรที่นายชอบมีมาก่อนสมรสอันเป็นสินส่วนตัวของนายชอบ ตามมาตรา 1471(1) ให้กับนางพร ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 นายชอบจึงมีสิทธิบอกล้าง การให้สร้อยเพชรกับนางพรในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็น สามีภริยากันก็ได้ เมื่อนายชอบบอกล้างการให้สร้อยเพชรกับนางพรแล้ว สร้อยเพชรก็จะเป็นสินส่วนตัวของ นายชอบ นายชอบก็มีอํานาจในการจัดการสร้อยเพชรนั้นได้ตามมาตรา 1473 นายชอบจึงมีสิทธิที่จะให้สร้อยเพชร ดังกล่าวแก่นางสาวขวัญได้

(ข) ส่วนการที่นางสาวขวัญบอกแก่เพื่อนร่วมงานของนายชอบว่าตนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง กับนายชอบแล้ว และนายชอบบอกว่าจะหย่ากับนางพรมาสมรสกับตนนั้น ถือได้ว่านางสาวขวัญแสดงตนโดยเปิดเผย ว่ามีความสัมพันธ์ในทํานองชู้สาวกับนายชอบแล้ว นางพรจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากนางสาวขวัญตามมาตรา 1523 วรรคสองได้ โดยที่นางพรไม่ต้องหย่ากับนายชอบแต่อย่างใด

สรุป

(ก) นายซอบสามารถบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยเพชรกับนางพรเพื่อที่จะเอาไปให้นางสาวขวัญได้

(ข) นางพรสามารถเรียกค่าทดแทนจากนางสาวขวัญ โดยที่นางพรไม่ประสงค์จะหย่ากับนายชอบได้ ทั้งนี้ตามเหตุผลที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีบุตรด้วยกันจึงตกลงหย่ากันโดยทําเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย มีพยานสองคน หลังจากนั้นนางไข่ก็ไปจดทะเบียนสมรสกับนายเป็ด การหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่ การสมรสระหว่างนางไข่กับนายเป็ด มีผลในทางกฎหมาย อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล ”

การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”

มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่ การที่นายไก่ตกลงหย่ากับนางไข่ โดยการทําเป็น หนังสือหย่าลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และมีพยานสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยานเรียบร้อยแล้วนั้น ถือเป็นการหย่า ที่ได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายไก่และนางไข่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนหย่า การหย่าย่อมไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 1515 และให้ถือว่านายไก่และนางไข่ยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย

2 การสมรสระหว่างนางไข่กับนายเป็ด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายไก่และนางไข่ยังคง เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย การที่นางไข่ไปจดทะเบียนสมรสกับนายเป็ด ในขณะที่ตนมีคู่สมรสคือนายไก่อยู่ จึงถือเป็นการสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 และมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

สรุป

การหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่ไม่สมบูรณ์

การสมรสระหว่างนางไข่กับนายเป็ดมีผลเป็นโมฆะ

Advertisement