การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  และได้นำเงินมาลงหุ้นกันคนละ  1  แสนบาท  ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ค้าขายพืชไร่  โดยมีโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโทได้ซื้อพืชไร่จากจัตวามาขายในห้างหุ้นส่วน  และยังไม่ได้ชำระราคาค่าพืชไร่  จำนวน  2  แสนบาท

ต่อมาเอกได้ถึงแก่กรรม  แต่โทและตรีก็ยังคงค้าขายอยู่ต่อไปโดยมิได้เลิกห้างหุ้นส่วน  อนงค์ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของเอกจึงทวงถามเงินลงหุ้นที่เอกได้นำมาลงหุ้นกับบุคคลทั้งสอง  โทและตรีก็รับปากว่าจะคืนให้  ต่อมาจัตวาได้เรียกให้โทและตรีชำระราคาค่าพืชไร่จำนวน  2  แสนบาท  แต่โทและตรีไม่มีเงินชำระ

จัตวาจึงมาปรึกษาท่านว่าจะเรียกร้องให้อนงค์ชำระราคาพืชไร่จำนวน  2  แสนบาทนี้ได้หรือไม่  ให้ท่านแนะนำจัตวา

ธงคำตอบ

มาตรา  1054  วรรคสอง  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว  และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง  ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดีหาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ  อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

วินิจฉัย

กรณีตามมาตรา  1054  วรรคสองนี้เป็นเรื่องที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ตายลง  ซึ่งตามหลักแล้วห้างหุ้นส่วนจะต้องเลิกกันทันทีตามมาตรา  1055  (5)

แต่ถ้าห้างได้ใช้ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นชื่อห้างและผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นได้ตายลงแต่ห้างฯ  ก็ยังไม่เลิกกันตามมาตรา  1060  และยังคงใช้ชื่อของผู้ตายเป็นชื่อห้างอยู่ก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบเป็นชื่อห้างอยู่ดี  เพียงเท่านี้ไม่ทำให้กองมรดกของผู้ตายจะต้องรับผิดในหนี้ใดๆ  ของห้างหุ้นส่วนที่ได้เกิดขึ้นภายหลังที่หุ้นส่วนผู้นั้นตายลง  แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนมีหนี้สินเกิดขึ้นก่อนเขาตาย  กองมรดกยังคงต้องรับผิดอยู่

กรณีตามอุทาหรณ์  โทได้ซื้อพืชไร่จากจัตวามาขาย  ในขณะที่เอกยังเป็นหุ้นส่วนอยู่  เมื่อเอกถึงแก่กรรม  ทายาทของเอกจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  รายนี้ด้วย  ทายาทจะไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นหลังมรณะเท่านั้น  ตามมาตรา  1054  วรรคสอง

ข้าพเจ้าฯ  จะแนะนำจัตวาตามหลักกฎหมายมาตรา  1054  วรรคสอง  ว่าเรียกร้องให้อนงค์ทายาทของเอกรับผิดได้

สรุป  จัตวาเรียกร้องให้อนงค์ชำระราคาค่าพืชไร่  2  แสนบาทได้

 

ข้อ  2  เขียว  ขาว  และเหลือง  ได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นหุ้นส่วนจำกัด  เขียว  และขาวเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เหลืองไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  เหลืองได้ซื้ออาคารตึกแถวของแสดไว้ใช้เป็นที่ทำการของห้างฯโดยเหลืองถือกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด  หลังจากที่ห้างฯ  ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว  แสดได้ทวงถามเงินค่าตึกแถวที่ยังค้างชำระอยู่อีก  2  แสนบาทจากเหลือง  แต่เหลืองและห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีเงินชำระ  แสดจึงเรียกให้เขียวและขาวร่วมกันรับผิด  แต่เขียวและขาวไม่ยอมรับผิด  โดยอ้างว่า

 (1) เขียวและขาวเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกันจะฟ้องเขียวและขาวไม่ได้

 (2) เขียวและขาวไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ในเรื่องซื้อขายตึกแถวกับแสด  แสดจึงไม่มีสิทธิฟ้องเขียวและขาว

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของเขียวและขาวทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1079  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน  จนกว่าจะได้จดทะเบียน

มาตรา  1080  วรรคแรก  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ  หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด  3  นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่  1  ข้อต่อสู้ของเขียวและขาวฟังไม่ขึ้น  เพราะทั้งหมดได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด  แต่หุ้นส่วนผู้จัดการได้ซื้ออาคารตึกแถว  เพื่อใช้เป็นที่ทำการของห้างฯ  โดยเหลืองหุ้นส่วนผู้จัดการได้ถือกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด  จึงถือว่าการที่เหลืองทำสัญญาซื้อตึกแถวก็เพื่อประโยชน์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยได้จัดทำไปก่อนที่จะไปจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด  จึงถือว่าในขณะนั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  เมื่อมีหนี้สินเกิดขึ้นจึงต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา  1079  จึงเรียกให้เขียวและขาวรับผิดได้โดยไม่ต้องรอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน  ไม่เข้ากรณีมาตรา  1095  วรรคแรก

ประเด็นที่  2  ข้อต่อสู้ของเขียวและขาวฟังไม่ขึ้น  เพราะเหลืองได้จัดการงานของห้างฯ  โดยซื้อตึกแถวมาไว้ใช้เป็นที่ทำการงานของห้างฯ  จึงเป็นหนี้สินที่เกิดจากธรรมดาการค้าขายของห้างฯ  หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดร่วมกัน  ตามมาตรา  1050  ประกอบมาตรา  1080  วรรคแรก  แม้เขียวและขาวจะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับแสด  สัญญานั้นก็ผูกพันเขียวและขาวด้วย  เพราะว่าเหลืองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  จึงถือว่าทำแทนหุ้นส่วนทุกคน  หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน

สรุป  ข้ออ้างของเขียวและขาวทั้งสองประการข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ในวันที่  1  มิถุนายน  2550  คณะกรรมการบริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อพิจารณาเรื่องเพิ่มทุนของบริษัท  อีก  5  ล้านบาท  ที่ประชุมคณะกรรมการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่อีก  1  แสนหุ้น  มูลค่าเท่าเดิม  และได้นำมติเรื่องเพิ่มทุนไปจดทะเบียนเมื่อวันที่  3  มิถุนายน  2550  ต่อมาเมื่อวันที่  11  กรกฎาคม  2550  นางสาวบุญมาได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง  ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรมการในเรื่องเพิ่มทุน  โดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะมิได้ลงมติพิเศษในที่ประชุมผู้ถือหุ้น  ประธานกรรมการได้ยื่นคำคัดค้านว่า  นางสาวบุญมายื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติเกินหนึ่งเดือนแล้วนับแต่วันลงมติ  ขอให้ยกคำร้อง  ดังนี้ศาลจะรับคำร้องของนางสาวบุญมาไว้วินิจฉัยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน  หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี  หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี  เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว  ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย  แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

มาตรา  1220  บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่  จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ  แต่กรณีตามปัญหาไม่ปรากฏว่ามีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น  มีเพียงคณะกรรมการประชุมปรึกษาหารือกันเท่านั้น  การนับระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติจึงไม่อาจเริ่มนับได้ในวันใด  ดังนั้นนางสาวบุญมาจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติได้  เพราะตามปัญหาไม่ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเลย  ตามมาตรา  1195  ประกอบมาตรา  1220

  สรุป  ศาลจะต้องรับคำร้องของนางสาวบุญมาไว้วินิจฉัยต่อไป

Advertisement