การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เอกและโทออกเงินคนละหนึ่งล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินที่เจ้าของที่ดินประกาศขายในราคาสองล้านบาทพร้อมค่าโอนและค่าธรรมเนียมเจ้าของที่ดินเป็นผู้ออก โดยเอกกับโทตั้งใจว่าจะซื้อเก็บไว้ขาย เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้นในอนาคต และเมื่อขายได้แล้วจะแบ่งเงินกันคนละครึ่ง โดยมิได้คิดจะทําอะไร บนที่ดินที่ซื้อนี้ ในวันทําสัญญาซื้อขายที่ดิน เอกได้ไปคนเดียวโดยนําเงินสดของโทหนึ่งล้านบาท มอบให้แก่เจ้าของที่ดิน พร้อมเช็คลงลายมือชื่อเอกสั่งจ่ายเงินจํานวนหนึ่งล้านบาทให้เจ้าของที่ดิน เมื่อมีการทําหนังสือและจดทะเบียนการโอนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายที่ดินจึงนําเช็ค ไปที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากในบัญชีของเอกมีเงิน ไม่พอจ่าย ผู้ขายที่ดินจึงทวงถามให้เอกชําระค่าที่ดินอีกหนึ่งล้านบาท แต่เอกไม่มีเงินจ่าย เจ้าของที่ดินจึงมาปรึกษากับนักศึกษาว่า ในกรณีดังกล่าวข้างต้นเจ้าของที่ดินจะฟ้องโทให้รับผิดในเงิน ค่าที่ดินที่ค้างชําระได้หรือไม่ โดยอ้างว่าทั้งสองเข้าหุ้นส่วนกันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวโทจะต้องรับผิดกับเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”

มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 นั้น จะต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ที่สําคัญ ดังนี้คือ

1 จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป

2 จะต้องมีการตกลงเข้าทุนกัน

3 จะต้องมีการกระทํากิจการร่วมกัน

4 จะต้องมีความประสงค์ที่จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เจ้าของที่ดินจะฟ้องโทให้รับผิดในเงินค่าที่ดินที่ค้างชําระโดยอ้างว่า เอกและโทได้เข้าเป็นหุ้นส่วนกันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนนั้น เจ้าของที่ดินย่อมไม่มีสิทธิฟ้องโท เพราะการที่เอกและโทได้ออกเงินคนละหนึ่งล้านบาทเพื่อซื้อที่ดินเก็บไว้ขาย และเมื่อขายได้แล้วจะแบ่งเงินกันคนละครึ่งนั้น แม้จะเป็นกรณีที่มีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปและได้มีการตกลงเข้าทุนกันแล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้งสองไม่ได้คิดที่จะทําอะไรบนที่ดินแปลงดังกล่าวเลย จึงไม่ถือว่าทั้งสองได้ลงทุนเพื่อทํากิจการร่วมกัน จึงไม่เข้า องค์ประกอบของการเป็นห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 ดังนั้น เอกและโทจึงมิได้เป็นหุ้นส่วนกัน

และเมื่อไม่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 จึงไม่เข้าลักษณะของการเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จะทําให้เอกและโทจะต้องร่วมกันรับผิดเพื่อหนี้ของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดตามมาตรา 1025 โทจึงไม่ต้องรับผิดในค่าที่ดินที่ยังมิได้ชําระ ดังนั้น เจ้าของที่ดินจึงฟ้องโทโดยอ้างว่าโทเป็นหุ้นส่วนกับเอกไม่ได้

สรุป กรณีดังกล่าว โทไม่ต้องร่วมรับผิดกับเอก

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดธีระการประมง มีนายธีระเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายทองและนายเงินเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ทั้งสามคนลงหุ้นด้วยเงิน คนละห้าล้านบาท ห้างฯ ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ห้างฯ มีวัตถุประสงค์ ขายอาหารทะเลแช่แข็งไปยังต่างประเทศแถบยุโรปและอเมริกา แต่ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาห้างฯ ประสบ ภาวะขาดทุนมาตลอด เนื่องจากส่งปลาแช่แข็งไปขายไม่ได้ต่างประเทศหยุดรับซื้อโดยไม่ทราบเหตุผล ทําให้ห้างฯ เป็นหนี้ค่าปลาทะเลที่รับซื้อไว้จํานวนสิบล้านบาท และห้างฯ ยังขาดเงินสดหมุนเวียน ที่จําเป็นต้องใช้ในการจัดการงานของห้างฯ นายธีระจึงได้ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายทองไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวนห้าล้านบาท ซึ่งธนาคารก็ให้กู้โดยมีนายทองลงนามผู้กู้ แทนห้างฯ และประทับตราห้างหุ้นส่วนจํากัดลงในสัญญากู้ และได้นําเงินกู้นั้นมาใช้จ่ายในห้างฯ ต่อมาหนี้ค่าปลาทะเลและหนี้ที่ธนาคารเป็นเจ้าหนี้ก็ได้ถึงกําหนดชําระแต่ห้างฯ ไม่มีเงินชําระหนี้ เจ้าหนี้ค่าปลาและธนาคารจึงฟ้องนายธีระและนายทองให้ร่วมกันรับผิดในหนี้ดังกล่าว ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายทองจะต้องร่วมรับผิดในหนี้รายใดบ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1087 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัด จํานวน

วินิจฉัย

ในห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น จะต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น เป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่มีอํานาจจัดการ (มาตรา 1087) ถ้าหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้นั้นก็จะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของ ห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน (มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ นายทองจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างฯ รายใดบ้างหรือไม่ แยกพิจารณา

1 หนี้ที่ธนาคารเป็นเจ้าหนี้ การที่นายทองซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดและ ไม่ใช่หุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวนห้าล้านบาท โดยนายทองได้ลงนามเป็น ผู้กู้แทนห้างฯ และได้ประทับตราห้างหุ้นส่วนจํากัดลงในสัญญากู้ตามใบมอบอํานาจที่หุ้นส่วนผู้จัดการได้มอบไว้นั้น การกระทําของนายทองแม้จะได้รับมอบอํานาจจากห้างฯ ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงาน ของห้างหุ้นส่วน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1087 ดังนั้น นายทองจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างฯ รายนี้ด้วยตามมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

2 หนี้ค่าปลาทะเล เป็นหนี้ที่ห้างฯ ได้ก่อให้เกิดขึ้นโดยที่นายทองไม่ได้เข้าไปจัดการหรือ สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น นายทองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้รายนี้

สรุป นายทองจะต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้ที่ธนาคารเป็นเจ้าหนี้ แต่ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ ค่าปลาทะเล

 

ข้อ 3. นายแสง นายสิน และนายสอน เป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท สินสยาม จํากัด หลังจากจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเสร็จแล้ว นายแสงได้ทําสัญญาเช่าอาคารจากนายศักดิ์เพื่อใช้เป็นที่ทําการ ของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น และได้ว่าจ้างนายแมนสถาปนิกตกแต่งภายในอาคารมาตกแต่งอาคาร ที่เช่าเพื่อใช้เป็นที่ทําการของบริษัท เมื่อมีการขายหุ้นมูลค่าหุ้นละ 5 บาท จํานวน 10 ล้านหุ้น ครบถ้วนแล้ว ได้มีการประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น เพื่อตั้งข้อบังคับ ตั้งคณะกรรมการ และผู้สอบบัญชี ของบริษัท และให้ความเห็นชอบในสัญญาเช่าอาคารที่ทําไว้กับนายศักดิ์ แต่นายแสงลืมเสนอสัญญา ที่จ้างนายแมนมาตกแต่งภายในต่อที่ประชุม จนกระทั่งบริษัทได้จดทะเบียนตั้งไปแล้ว นายแสง จึงนึกได้เนื่องจากนายแมนมาทวงค่าจ้างจากนายแสงจํานวนห้าแสนบาท นายแสงจึงขอให้บริษัท รับผิดจ่ายค่าจ้างให้นายแมน แต่กรรมการบริษัทไม่อนุมัติ ดังนี้ ถามว่านายแมนจะฟ้องผู้ใดให้รับผิด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1113 “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียน บริษัท

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดในบรรดา หนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้อง รับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้เริ่มก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อ ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแสง นายสิน และนายสอน เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท สินสยาม จํากัด หลังจากจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเสร็จแล้ว นายแสงได้ทําสัญญาเช่าอาคารจากนายศักดิ์เพื่อใช้เป็น ที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น และได้ว่าจ้างนายแมนสถาปนิกตกแต่งภายในอาคารมาตกแต่งอาคารที่เช่า เพื่อใช้เป็นที่ทําการของบริษัทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่มีการประชุมตั้งบริษัท ได้มีการให้ความเห็นชอบ ในสัญญาเช่าอาคารที่ทําไว้กับนายศักดิ์ แต่นายแสงลืมเสนอสัญญาที่จ้างนายแมนมาตกแต่งภายในต่อที่ประชุม ทําให้หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ ดังนั้น แม้ต่อมาบริษัทจะได้จดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว นายแมนจะฟ้องให้บริษัท สินสยาม จํากัด รับผิดชอบในหนี้ค่าจ้างดังกล่าวมิได้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายแสงจะเป็นผู้ทําสัญญาว่าจ้างนายแมนแต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อหนี้ค่าจ้าง ดังกล่าวเป็นหนี้ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ ดังนั้น นายสิน และนายสอน ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทก็ต้อง ร่วมกันรับผิดต่อนายแมนด้วยตามมาตรา 1113

สรุป

นายแมนจะฟ้องให้บริษัท สินสยาม จํากัด รับผิดชอบในหนี้ค่าจ้างดังกล่าวไม่ได้ แต่สามารถฟ้องให้นายแสง นายสิน และนายสอน ร่วมกันรับผิดในการชําระหนี้นั้นได้

Advertisement