การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเอก ประกอบอาชีพรับซื้อธนบัตรเก่าและวัตถุโบราณ มีที่ทําการอยู่บนถนนสีลม เวลาไปซื้อธนบัตรหรือวัตถุโบราณมักจะชวนนายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันกับตนไปด้วยทุกครั้งและบอกกับนายตรี ผู้ขายวัตถุโบราณว่านายโทเป็นหุ้นส่วนกับตน ส่วนนายโทฟังแล้วก็มิได้คัดค้านเลย ต่อมานายเอก ไม่มีเงินชําระค่าวัตถุโบราณรูปหินแกะสลักพระรามแผลงศรซึ่งซื้อมาจากนายตรี นายตรีจึงได้ทวงถาม ให้นายโทร่วมรับผิดกับนายเอกโดยเข้าใจว่านายเอกและนายโทร่วมหุ้นกัน แต่นายโทได้ต่อสู้ว่า มิได้เคยเข้าหุ้นกับนายเอก และนายเอกก็มิได้เป็นหุ้นส่วนกับผู้ใดเลย หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ส่วนตัว ของนายเอกจึงไม่ขอรับผิดชอบ นายตรีจึงมาปรึกษากับนักศึกษาในเรื่องดังกล่าวว่า จะมีทางใดบ้าง ที่จะเรียกร้องให้นายโทรับผิดได้ ให้นักศึกษาแนะนํานายตรีด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษร ก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตน เป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกประกอบอาชีพรับซื้อธนบัตรเก่าและวัตถุโบราณ และเวลาไปซื้อ ธนบัตรหรือวัตถุโบราณมักจะชวนนายโทซึ่งเป็นเพื่อนกับตนไปด้วยทุกครั้งและบอกกับนายตรีผู้ขายวัตถุโบราณว่า นายโทเป็นหุ้นส่วนกับตน โดยนายโทฟังเล้วก็มิได้คัดค้านเลยนั้น กรณีนี้ถือว่านายโทรู้แล้วแต่ไม่คัดค้าน ปล่อยให้ เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนตามนัยของมาตรา 1054 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้นนายโทจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ในบรรดาหนี้สินต่าง ๆ เสมือนว่านายโทและนายเอกเป็นหุ้นส่วนกัน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมานายเอกไม่มีเงินชําระค่าวัตถุโบราณรูปหินแกะสลักพระราม แผลงศรซึ่งซื้อมาจากนายตรี และนายตรีได้ทวงถามให้นายโทร่วมรับผิดกับนายเอกโดยเข้าใจว่านายเอกและนายโท ได้ร่วมหุ้นกัน ดังนี้ นายโทจะต่อสู้ว่าตนมิได้เคยเข้าหุ้นกับนายเอก และนายเอกก็มิได้เป็นหุ้นส่วนกับผู้ใดเลย และหนี้ดังกล่าวก็เป็นหนี้ส่วนตัวของนายเอกตนจึงไม่ขอรับผิดชอบไม่ได้ นายตรีจึงสามารถฟ้องเรียกค่าวัตถุโบราณ จากนายโทได้เสมือนหนึ่งว่า นายเอกและนายโทได้เข้าหุ้นกันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําแก่นายตรีว่า ให้นายตรีฟ้องเรียกค่าวัตถุโบราณดังกล่าวจาก นายโทเสมือนหนึ่งว่านายเอกและนายโทเป็นหุ้นส่วนกันตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 2. มีกรณีใดบ้างที่เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัด สามารถฟ้องร้องให้หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจํากัดได้

ธงคําตอบ

โดยหลักแล้ว หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจํากัด ย่อมต้องรับผิดเพื่อหนี้ ของห้างหุ้นส่วนจํากัดโดยจํากัดเฉพาะจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น (มาตรา 1077) และตราบใด ที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้หุ้นส่วนจําพวกจํากัด ความรับผิดต้องรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจํากัด (มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง)

แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้ของหุ้นส่วนจํากัดอาจสามารถฟ้องร้องให้หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นได้แม้ว่าห้างจะยังมิได้เลิกกัน ถ้าหากเป็นไปตามกรณีที่กฎหมายได้ บัญญัติไว้ ดังนี้คือ

1 กรณีที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และได้ก่อให้เกิดหนี้ขึ้น ก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด หรือไม่จํากัดความรับผิดก็ต้องรับผิดในหนี้นั้นโดยไม่จํากัดจํานวน ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วน ทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน”

2 กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเรียกขานระคนเป็น ชื่อห้างหุ้นส่วนจํากัด

มาตรา 1082 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดย แสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อ บุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”

3 กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดแสดงให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้น ไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียน (ซึ่งจะต้องรับผิดเท่ากับจํานวนซึ่งตนได้แสดงไว้)

มาตรา 1085 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือ ใบแจ้งความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจํานวนเพียงนั้น”

4 กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนจํากัด

มาตรา 1083 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไป เกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้น โดยไม่จํากัดจํานวน”

 

ข้อ 3 นายแสง นายสิน และนายโสม เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัดแห่งหนึ่ง ได้ทําสัญญาเช่าอาคารจากนายแดงเพื่อใช้เป็นที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น แต่เนื่องจากอาคารของนายแดงเก่ามาก แต่มีทําเลดีเหมาะที่จะใช้เป็นที่ทําการของบริษัทในอนาคต นายแสงจึงได้ว่าจ้างนายขาวทําการตกแต่ง ภายในตึกให้ดูสวยงาม เมื่อถึงวันประชุมตั้งบริษัท ได้มีการให้สัตยาบันในสัญญาเช่าตึก แต่นายแสง ไม่ได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้เข้าซื้อหุ้นทราบว่าตนได้ว่าจ้างนายขาวมาตกแต่งภายในอาคารตึกเป็นเงิน 3 แสนบาท ต่อมามีการจดทะเบียนตั้งบริษัทจนเสร็จเรียบร้อยและใช้ชื่อว่าบริษัท แสงโสม จํากัด นายขาวจึงทวงถามให้นายแสงชําระค่าตกแต่งภายในตึกซึ่งใช้เป็นอาคารที่ทําการของบริษัท แต่นายแสงไม่มีเงินใช้ ดังนี้ นายขาวจะเรียกให้บริษัท แสงโสม จํากัด นายแสง นายสิน และนายโสม รับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1113 “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้และการ จ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียน บริษัท”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดในบรรดา หนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้อง รับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้เริ่มก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อ ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแสง นายสิน และนายโสม เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัด ได้ทําสัญญาเช่าอาคารจากนายแดงเพื่อใช้เป็นที่ทําการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น และนายแสงได้ว่าจ้างให้นายขาว ทําการตกแต่งตึกให้ดูสวยงามเนื่องจากอาคารของนายแดงเก่ามากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อถึงวันประชุม ตั้งบริษัท ได้มีการให้สัตยาบันในสัญญาเช่าตึก แต่นายแสงไม่ได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทราบว่าตนได้ ว่าจ้างนายขาวมาตกแต่งภายในอาคารตึกเป็นเงิน 3 แสนบาท ทําให้หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัท มิได้อนุมัติ ดังนั้น แม้ต่อมาบริษัทจะได้จดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว นายขาวจะฟ้องให้บริษัท แสงโสม จํากัด รับผิดชอบ ในหนี้ค่าจ้างดังกล่าวมิได้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายแสงจะเป็นผู้ทําสัญญาว่าจ้างนายขาวแต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อหนี้ค่าจ้าง ดังกล่าวเป็นหนี้ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ ดังนั้น นายสิน และนายโสม ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทก็ต้อง ร่วมกันรับผิดต่อนายขาวด้วยตามมาตรา 1113

สรุป นายขาวจะเรียกให้บริษัท แสงโสม จํากัด รับผิดชอบในหนี้ค่าจ้างดังกล่าวไม่ได้ แต่สามารถ เรียกให้นายแสง นายสิน และนายโสม ร่วมกันรับผิดในการชําระหนี้นั้นได้

Advertisement