การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทําธุรกิจส่วนตัวซื้อ-ขายยางพาราแต่มักจะบอกกับผู้ที่มาติดต่อซื้อขายยางพาราว่าเหลืองซึ่งเป็นเพื่อนรักของตนร่วมลงหุ้นด้วยเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญโดยเหลืองก็ทราบดีว่าแดงยกยอตนว่าเป็น หุ้นส่วนด้วย แต่เหลืองก็ไม่เคยคัดค้านเลยและรู้สึกภาคภูมิใจที่แดงได้กล่าวอ้างเช่นนั้น ต่อมาแสด ได้ทวงถามค่ายางพาราที่แดงได้ซื้อไปจากตนและยังมิได้ชําระราคา แต่แดงไม่มีเงินที่จะชดใช้ให้แสด เพราะกิจการค้าขายยางพาราขาดทุนมาก ดังนี้แสดจะเรียกร้องให้เหลืองรับผิดได้หรือไม่เนื่องจากแสด ก็เข้าใจว่าเหลืองเข้าหุ้นสวนกับแดง เพราะในวันที่แดงซื้อยางพาราจากแสด เหลืองก็มาด้วยและแดง ก็กล่าวอ้างว่าเหลืองร่วมหุ้นกับตน ซึ่งเหลืองก็ไม่ได้คัดค้าน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1054 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษร ก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตน เป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงทําธุรกิจส่วนตัวซื้อ-ขายยางพาราแต่เพียงผู้เดียว แต่มักจะบอก กับผู้ที่มาติดต่อซื้อขายยางพาราว่าเหลืองซึ่งเป็นเพื่อนรักของตนร่วมลงหุ้นด้วยเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยเหลืองก็ ทราบดีว่าแดงยกยอตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยแต่เหลืองก็ไม่เคยคัดค้านเลยนั้น ถือว่าเหลืองรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้ เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วน ดังนั้น เหลืองจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินต่าง ๆ เสมือนว่าทั้งแดง และเหลืองเป็นหุ้นส่วนกันตามมาตรา 1054 วรรคหนึ่ง

เมื่อแสดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทวงถามค่ายางพาราที่แดงได้ซื้อไปจากตนและยังมิได้ชําระ ราคา แต่แดงไม่มีเงินที่จะชดใช้ให้แสด ดังนี้ แสดย่อมสามารถเรียกร้องให้เหลืองซึ่งแสดเข้าใจว่าเป็นหุ้นส่วนกับ แดงรับผิดชดใช้ค่ายางพาราที่แดงเป็นหนี้แสดได้เสมือนว่าเหลืองกับแดงเป็นหุ้นส่วนกัน

สรุป แสดสามารถเรียกร้องให้เหลืองรับผิดค่ายางพาราที่แดงเป็นหนี้แสดได้

 

ข้อ 2. นายขาวเป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจํากัดสองสี โดยมีนายดําเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายขาวได้เข้ามาช่วยจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจํากัดเสมอในระหว่างที่นายดําต้องไปติดต่อการงานข้างนอกหรือที่จังหวัดอื่น รวมถึงการพิม นามบัตรชื่อตนเองและระบุตําแหน่งว่านายขาวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนแห่งนี้ ต่อมา นายขาวได้รับการแนะนําจากทนายความของห้างหุ้นส่วนว่า การทําเช่นนี้อาจทําให้นายขาวต้องถูกฟ้อง ให้ร่วมรับผิดกับนายดําโดยไม่จํากัดจํานวนได้ นายขาวจึงโอนหุ้นให้นายแดง ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) คําแนะนําของทนายความห้างหุ้นส่วน เป็นคําแนะนําที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด

(2) นายแดงผู้รับโอนหุ้นจากนายขาว จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1052 “บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย”

มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจําพวก ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจํากัดความรับผิดเพียงไม่เกินจํานวนเงินที่ตน รับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจําพวกหนึ่ง และ…”

มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้น หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัด จํานวน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายขาวซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจํากัด สองสี ได้ เข้ามาช่วยจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจํากัดเสมอในระหว่างที่นายดําซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จํากัดความรับผิดและ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องไปติดต่องานข้างนอกหรือที่จังหวัดอื่น รวมถึงการที่นายขาวได้พิมพ์นามบัตรชื่อตนเอง และระบุตําแหน่งว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนแห่งนี้นั้น การกระทําของนายขาวถือว่าเป็นการสอดเข้าไป เกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน และนายขาวจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น โดยไม่จํากัดจํานวนตามมาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น การที่ทนายความของห้างหุ้นส่วนได้แนะนํากับนายขาวว่า การกระทําของนายขาว ดังกล่าวนั้น อาจทําให้นายขาวต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับนายดําโดยไม่จํากัดจํานวนนั้น คําแนะนําของทนายความ จึงเป็นคําแนะนําที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

2 การที่นายแดงได้รับโอนหุ้นจากนายขาวและเข้าไปเป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิด ในห้างหุ้นส่วนจํากัดแห่งนี้นั้น นายแดงจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างในบรรดาหนี้ที่ห้างได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตน จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนด้วยตามมาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง เพียงแต่จะต้องรับผิดจํากัดไม่เกิน จํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนเท่านั้นตามมาตรา 1077 แต่ไม่ต้องรับผิดในการกระทําของนายขาว ที่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด

สรุป

1 คําแนะนําของทนายความห้างหุ้นส่วน เป็นคําแนะนําที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

2 นายแดงผู้รับโอนหุ้นจากนายขาว จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างในฐานะ

หุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิด แต่ไม่ต้องรับผิดในการกระทําของนายขาวที่ สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน

 

ข้อ 3. คณะกรรมการบริษัท จํากัด แห่งหนึ่งได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในสมุดทะเบียนของบริษัท โดยส่งไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 และได้กําหนด วันประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริษัทในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ที่ทําการบริษัท เวลา 10.00 น. เมื่อถึงวันประชุม มีผู้ถือหุ้นครบองค์ประชุมแต่ผู้ถือหุ้นอีกหลายคนก็ไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุม เพราะไปต่างประเทศจึงมิได้มาประชุม ที่ประชุมได้เลือกนายหนึ่ง, นายสอง และนายสามเป็น กรรมการบริษัท แต่นายเอก และนายโทซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่มิได้เข้าประชุมในวันดังกล่าวไม่พอใจมติ ในที่ประชุมจึงมาปรึกษาท่านว่าจะมีทางเพิกถอนมติที่เลือกกรรมการดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ท่านแนะนํานายเอก และนายโทด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อใน ทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอ ให้ลงมติด้วย”

มาตรา 1195 “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืน บทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลง มตินั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเอกและนายโทมาปรึกษาข้าพเจ้าว่า จะมีทางใดบ้างที่เป็นเหตุให้ ฟ้องเพิกถอนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ได้ ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนํานายเอกและนายโทดังนี้คือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 นั้นได้กําหนดเอาไว้ว่า คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่จะต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นก่อนวัน นัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เรื่องใดที่ต้องลงมติพิเศษจึงจะต้องกระทําก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการบริษัทได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยส่งทางไปรษณีย์ ตอบรับแต่เพียงอย่างเดียว โดยมิได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่แต่อย่างใด จึงถือว่าคําบอกกล่าวเรียก ประชุมใหญ่มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ การนัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในครั้งนี้จึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย แม้จะมีผู้ถือหุ้นมาประชุมครบองค์ประชุมก็ตาม ดังนั้นนายเอกและนายโทผู้ถือหุ้นสามารถนําคดี มาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลเพิกถอนมติการเลือกกรรมการดังกล่าวได้ แต่นายเอกและนายโทจะต้องร้องขอต่อศาล ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ลงมตินั้นตามมาตรา 1195

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําแก่นายเอกและนายโทว่า การนัดประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย นายเอกและนายโทสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนมติในที่ประชุมได้ แต่จะต้องร้องขอต่อศาล ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น

 

Advertisement