การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายโขงประกอบกิจการค้าขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ นายโขงว่าจ้างนายไชโยเป็นพนักงานของกิจการดังกล่าว ต่อมา 3 ปี นายไชโยได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายขาย มีลูกน้อง 45 คน นายไชโย ใช้ความรู้ความสามารถเพิ่มยอดขายให้แก่กิจการดังกล่าวทําให้กิจการดังกล่าวได้กําไร 70 ล้านบาท ต่อปี ต่อมานายโขงแบ่งกําไรจากกิจการดังกล่าวทุกปีให้แก่นายไชโย 12 เปอร์เซ็นต์ ต่อมานายโป ซึ่งเป็นพนักงานขับรถของกิจการดังกล่าวได้ร่วมกับนายไชโยจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นใหม่ค้าขาย อุปกรณ์วิทยาศาสตร์แข่งขันกับกิจการเดิมดังกล่าว ต่อมาในขณะที่นายโปทําหน้าที่ขับรถในฐานะพนักงานและในทางการที่จ้างของกิจการเดิมนั้น นายโปขับรถโดยมิได้เจตนาทําละเมิดแต่ขับรถโดยประมาทชนร้านค้าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็น ของห้างหุ้นส่วนที่นายไชโยและนายโปตั้งขึ้นได้รับความเสียหาย 1,000,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่าค่าเสียหายดังกล่าวบุคคลใดบ้างต้องรับผิดเพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไป ในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”

มาตรา 1038 วรรคแรก “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพ ดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่นโดยมิได้รับ ความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ”

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดา การค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิด ร่วมกันโดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ระหว่างนายโขงกับนายไชโยเป็น หุ้นส่วนกันตามมาตรา 1012 หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่นายโขงว่าจ้างนายไชโยเป็นพนักงานและต่อมาได้แต่งตั้ง ให้เป็นหัวหน้าฝ่ายขายนั้น ถือว่าเป็นเพียงสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น โดยนายโขงอยู่ในฐานะนายจ้าง ส่วนนายไชโยอยู่ในฐานะลูกจ้าง แม้ต่อมานายไชโยจะใช้ความรู้ความสามารถเพิ่มยอดขายให้แก่กิจการของนายโขงทําให้นายโขง แบ่งกําไรให้แก่นายไชโยทุกปีก็ตาม ก็ไม่ทําให้นายไชโยเป็นหุ้นส่วนกับนายโขงตามนัยของมาตรา 1012 แต่อย่างใด และเมื่อนายไชโยมิใช่หุ้นส่วนกับนายโขง การที่นายไชโยได้ร่วมกับนายโปซึ่งเป็นพนักงานขับรถของกิจการของนายโขง จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นใหม่ และค้าขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับกิจการของนายโขง การกระทําดังกล่าว ของนายไชโยจึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคแรก แต่อย่างใด

ส่วนประเด็นต่อมา การที่นายโปได้ขับรถในฐานะพนักงานและในทางการที่จ้างของกิจการเดิม โดยประมาทชนร้านค้าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนที่นายไชโยและนายโปตั้งขึ้นได้รับความเสียหาย 1,000,000 บาท นั้น การกระทําของนายโปถือเป็นการกระทําละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขา เสียหายแก่ทรัพย์สิน ดังนั้นนายโปจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวตามมาตรา 420 และนายโขงในฐานะ นายจ้างของนายโปก็ต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวด้วยตามมาตรา 425

สําหรับนายไซโยนั้น เมื่อมิได้เป็นหุ้นส่วนกับนายโขงจึงมิได้อยู่ในฐานะนายจ้างของนายโป จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนายโปตามมาตรา 425 อีกทั้งการกระทําของนายโปก็มิได้เป็นการจัดการในทางที่เป็น ธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนที่นายโปกับนายไชโยได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 1050 ดังนั้นนายไชโยจึงไม่ ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทําละเมิดของนายโปแต่อย่างใด

สรุป

ค่าเสียหายดังกล่าวบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบคือนายโปผู้ทําละเมิดและนายโขงซึ่งต้อง ร่วมรับผิดชอบในฐานะนายจ้างของนายโป

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม มีนายอุทิศเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด และนายบุญธรรมเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ จําหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ทุกชนิดและผ้าไตรจีวร ห้างฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ดําเนิน กิจการมาหลายปีแล้ว ต่อมานายอุทิศได้แนะนํานายบุญธรรมให้ซื้อผ้าไตรจีวรสีเหลืองแก่มาจําหน่าย ในห้างฯ และไม่ควรซื้อสีน้ำตาลเข้ม (สีกรัก) มาจําหน่ายในห้างฯ นายบุญธรรมก็เห็นชอบด้วย จึงได้ซื้อ ผ้าไตรจีวรสีดังกล่าวมาจําหน่ายในห้างฯ แต่ปรากฏว่าขายไม่ดี เป็นหนี้ค่าผ้าไตรจีวร 3 แสนบาท และ ห้างฯ ไม่มีเงินชําระหนี้ ดังนี้ เจ้าหนี้ค่าผ้าไตรจีวรจะฟ้องนายอุทิศให้รับผิดร่วมกันกับนายบุญธรรมได้หรือไม่ ถ้านายอุทิศได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว และห้างหุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม ก็ยังมิได้เลิกกันด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1081 “ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดมาเรียกขานระคน เป็นชื่อห้าง”

มาตรา 1082 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดย แสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อ บุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”

มาตรา 1088 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงาน ของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน

แต่การออกความเห็นและแนะนําก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการ ตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน นั้นไม่”

มาตรา 1095 “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิ จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวก จํากัดความรับผิดได้เพียงจํานวนดังนี้ คือ…”

วินิจฉัย

โดยหลักตามมาตรา 1095 วรรคแรก ถ้าห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วน จํากัด จะฟ้องหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ จะฟ้องได้ก็แต่เฉพาะหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นบางกรณีที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้แม้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น จะยังมิได้เลิกกัน เช่น กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้ยินยอมให้ใช้ชื่อตนเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง หรือกรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอุทิศซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้แนะนํา นายบุญธรรมให้ซื้อผ้าไตรจีวรสีเหลืองแก่มาจําหน่ายในห้างฯ และไม่ควรซื้อสีน้ำตาลเข้ม (สีกรัก) มาจําหน่ายในห้างฯ ซึ่งนายบุญธรรมหุ้นส่วนผู้จัดการก็เห็นชอบด้วย และได้ซื้อผ้าไตรจีวรสีดังกล่าวมาจําหน่ายในห้างฯ แต่ขายไม่ดี เป็นหนี้ค่าผ้าไตรจีวร 3 แสนบาทนั้น การกระทําของนายอุทิศเป็นเพียงการออกความเห็นและแนะนําเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ อันจะทําให้นายอุทิศต้องรับผิดในหนี้รายนี้โดยไม่จํากัด จํานวนแต่อย่างใด (มาตรา 1088 วรรคแรกและวรรคสอง)

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายอุทิศซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1081 โดยยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างนั้น นายอุทิศจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เสมือนเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคแรก และอาจถูกเจ้าหนี้ของห้างฯ ฟ้องได้ แม้ห้างหุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม จะยังมิได้เลิกกันก็ตาม

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อห้างฯ เป็นหนี้ค่าผ้าไตรจีวร 3 แสนบาท และห้างฯ ไม่มีเงินชําระหนี้ เจ้าหนี้ค่าผ้าไตรจีวรจึงสามารถฟ้องนายอุทิศซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดแต่ได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของตน เรียกขานระคนเป็นชื่อห้างฯ ให้รับผิดร่วมกันกับนายบุญธรรมได้ แม้นายอุทิศจะได้ส่งเงินลงหุ้นครบแล้ว และห้าง หุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม จะยังมิได้เลิกกันก็ตามตามมาตรา 1082 วรรคแรก ประกอบมาตรา 1095 วรรคแรก

สรุป

เจ้าหนี้ค่าผ้าไตรจีวรจะฟ้องนายอุทิศให้รับผิดร่วมกันกับนายบุญธรรมได้ตามเหตุผล และหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. เอก โท ตรี และจัตวา เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ผลิตอาหารสัตว์จําหน่าย หลังจากที่ผู้เริ่มก่อการได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเสร็จแล้ว และมีผู้จองซื้อหุ้นจนครบจํานวนแล้ว เอกจึงได้ติดต่อทําสัญญาซื้อเครื่องจักรเพื่อจะนํามาผลิตอาหารสัตว์ตามวัตถุประสงค์ ของบริษัทจํากัดโดยมิได้ปรึกษาโท ตรี และจัตวาเลย ทําให้โท ตรี และจัตวาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เมื่อถึงคราวประชุมจัดตั้งบริษัท ที่ประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจึงไม่อนุมัติในสัญญาที่เอกซื้อเครื่องจักร และเลือกโท กับตรี เป็นกรรมการชุดแรกของบริษัท ส่วนจัตวาไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ คงเป็น ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเท่านั้น ต่อมาบริษัทที่ทําสัญญากับเอกได้ฟ้องเอก โท ตรี และจัตวา ให้รับผิดชดใช้ ค่าเสียหายกรณีที่เอกผิดสัญญา โท ตรี และจัตวา จึงยื่นคําให้การต่อสู้คดีว่า เอกทําสัญญาซื้อ เครื่องจักรโดยมิได้ปรึกษาตนเลย และเอกก็เป็นคู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียว พวกจําเลยทั้ง 3 คนมิได้มี ส่วนรับรู้ด้วย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องจําเลยทั้ง 3 (คือ โท ตรี และจัตวา)

ดังนี้ ให้นักศึกษา วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของโท ตรี และจัตวา จะรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1113 “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จํากัดในบรรดาหนี้และการ จ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียน บริษัท

วินิจฉัย

ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดร่วมกันโดยไม่จํากัดในบรรดา หนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้อง รับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้เริ่มก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อ ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอก โท ตรี และจัตวา เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัด ซึ่งมี วัตถุประสงค์ผลิตอาหารสัตว์จําหน่าย ต่อมาเอกได้ทําสัญญาซื้อเครื่องจักรเพื่อจะนํามาผลิตอาหารสัตว์ตาม วัตถุประสงค์ของบริษัทโดยมิได้ปรึกษาโท ตรี และจัตวาเลยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่มีการประชุมจัดตั้ง บริษัทนั้น ที่ประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นมิได้อนุมัติในสัญญาที่เอกซื้อเครื่องจักรดังกล่าว ดังนั้น จึงมีผลทําให้ผู้เริ่มก่อการ ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าซื้อเครื่องจักรนั้นตามมาตรา 1113 เมื่อบริษัทที่ทําสัญญากับเอกได้ฟ้องให้ เอก โท ตรี และจัตวา รับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่เอกผิดสัญญา โท ตรี และจัตวา ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทร่วมกันกับเอก จะต่อสู้ว่า เอกทําสัญญาซื้อเครื่องจักรโดยมิได้ปรึกษาพวกตนเลย และเอกก็เป็นคู่สัญญาแต่ เพียงผู้เดียว พวกตนทั้ง 3 คน มิได้มีส่วนรับรู้ด้วยนั้นไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ของโท ตรี และจัตวาดังกล่าวรับฟังไม่ได้

Advertisement