การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.นายหนึ่งได้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ โดยเช่าอาคารของนายสองเป็นที่ใช้ประกอบกิจการ เป็นหนี้ค่าเช่านายสองเป็นเงิน 3 แสนบาท ต่อมานายหนึ่งได้ชักชวนนายสามมาร่วมหุ้นกับตนทําธุรกิจ ซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เหมือนเดิม โดยนายสามลงหุ้นด้วยเงิน 15 ล้านบาท ส่วนนายหนึ่งลงหุ้น ด้วยรถยนต์ที่ซื้อมาขายในกิจการของตนเองตีราคา 15 ล้านบาท และได้เช่าอาคารของนายสอง เหมือนเดิม นายหนึ่งและนายสามได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ต่อมานายสอง ทราบว่า นายสามมาร่วมหุ้นกับนายหนึ่งจึงได้ทวงถามค่าเช่าที่นายหนึ่งค้างชําระจํานวน 3 แสนบาท โดยบอกกับนายสามว่าผู้ที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในภายหลังจะต้องรับผิดในหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย นายสามจึงมาปรึกษากับนักศึกษาว่าในกรณีดังกล่าวข้างต้น นายสามจะต้องรับผิด ในหนี้ค่าเช่าจํานวน 3 แสนบาทที่นายหนึ่งได้ค้างชําระไว้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1052 “บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1052 ที่ว่า บุคคลผู้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ในห้างหุ้นส่วนจะต้องร่วม รับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนด้วยนั้น หนี้ดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้น ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์อยู่ก่อนที่จะได้ เข้าหุ้นกับนายสามในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ โดยนายหนึ่ง ได้เช่าอาคารของนายสองเป็นที่ใช้ประกอบกิจการและเป็นหนี้ค่าเช่านายสองเป็นเงิน 3 แสนบาทนั้น ย่อมถือว่า หนี้ค่าเช่าจํานวน 3 แสนบาทดังกล่าว เป็นหนี้ที่นายหนึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการประกอบธุรกิจส่วนตัวของนายหนึ่ง ก่อนที่จะมีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนร่วมกับนายสาม จึงมิใช่หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้น แต่เป็นหนี้ส่วนตัว ของนายหนึ่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1052 กล่าวคือ มิใช่หนี้ของห้างหุ้นส่วนซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่นายสามจะได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วน ดังนั้น นายสามจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าเช่าจํานวน 3 แสนบาท ที่นายหนึ่งได้ค้างชําระไว้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่นายสามว่า นายสามไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าเช่าจํานวน 3 แสนบาท ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ส่วนตัวของนายหนึ่ง

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดสี่สหาย มีนายหนึ่ง, นายสอง, นายสาม เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดนายสี่เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนได้จดทะเบียนจัดตั้ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดําเนินกิจการมาได้สามปีเศษ มีกําไรมากบ้างน้อยบ้างแต่ก็แบ่งกําไรเท่า ๆ กัน ทุกคน ต่อมาห้างฯ ได้ขาดเงินสดหมุนเวียน นายสี่จึงมอบหมายให้นายหนึ่งไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร มาใช้จ่ายในห้างฯ โดยนายสี่ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายหนึ่งดําเนินการกู้ยืมเงินแทนห้างฯ และ ลงชื่อในสัญญากู้แทนห้างฯ และประทับตราห้างหุ้นส่วนจํากัดสี่สหายลงไปในสัญญากู้ด้วย นายหนึ่ง ได้รับเงินจากธนาคารก็นํามาเข้าบัญชีของห้างฯ และยังปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดสี่สหายนี้เป็นหนี้ ค่าสินค้าที่ซื้อมาขายในกิจการของห้างฯ อยู่หลายรายการแต่ยังมิได้มีการคิดบัญชีกันว่าเป็นหนี้อยู่เท่าไร นายสี่จึงมอบอํานาจให้นายสองไปดําเนินการคิดบัญชีกับเจ้าหนี้ของห้างฯ ว่าห้างฯ เป็นหนี้ อยู่จํานวนเท่าใด นายสองจึงได้ไปดําเนินการคิดบัญชีจนเป็นที่ถูกต้องตรงกันว่าห้างฯ ยังคงเป็นหนี้ ค่าสินค้าอยู่สามแสนบาท และนายสองได้ทําหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ในนามห้างหุ้นส่วนจํากัด ต่อมา กิจการของห้างฯ เริ่มประสบภาวะขาดทุนมาตลอดในช่วงสามปีที่ผ่านมานี้ ทําให้ไม่สามารถชําระ หนี้เงินกู้จากธนาคารและหนี้ค่าสินค้าที่นายสองทําหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ และห้างฯ ได้ผิดนัด ชําระหนี้หลายครั้งแล้ว ดังนั้นถามว่าหุ้นส่วนคนใดบ้างต้องรับผิดในหนี้ทั้งสองรายนี้ และนายสาม จะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1070 “เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชําระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้น ชอบที่จะเรียกให้ชําระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้”

มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัด จํานวน”

มาตรา 1095 วรรคหนึ่ง “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดสี่สหายเป็นหนี้เงินกู้จากธนาคารและหนี้ค่าสินค้าที่นายสองทําหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องให้นายสี่ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดชําระหนี้ได้ทั้งสองรายตามมาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนนายหนึ่ง นายสอง และนายสาม จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ทั้งสองรายด้วยหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 กรณีหนี้เงินกู้ที่ธนาคารเป็นเจ้าหนี้ การที่นายสี่ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายหนึ่ง ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายในห้างฯ และนายหนึ่งได้ดําเนินการกู้ยืมเงินแทนห้างฯ และลงชื่อในสัญญากู้ แทนห้างฯ และประทับตราห้างหุ้นส่วนจํากัดสี่สหายลงไปในสัญญากู้ด้วย รวมทั้งได้นําเงินมาเข้าบัญชีของห้างฯ นั้น การกระทําของนายหนึ่งนั้น แม้ว่านายหนึ่งจะได้รับการมอบหมายจากนายสี่หุ้นส่วนผู้จัดการก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ตามนัยของมาตรา 1088 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้น นายหนึ่ง จึงต้องรับผิดในหนี้รายนี้ร่วมกันกับนายสี่ด้วย และแม้ว่าห้างฯ ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องให้นายหนึ่ง รับผิดชําระหนี้ได้ เพราะถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง

2 กรณีหนี้ค่าสินค้าที่นายสองได้ทําหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ การที่นายสี่มอบอํานาจให้ นายสองไปดําเนินการคิดบัญชีกับเจ้าหนี้ของห้างฯ และนายสองจึงได้ไปดําเนินการคิดบัญชีจนเป็นที่ถูกต้องตรงกัน และนายสองได้ทําหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ในนามห้างหุ้นส่วนนั้น การกระทําของนายสองแม้จะได้รับมอบหมายจาก นายสี่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ตามนัยของมาตรา 1088 วรรคหนึ่งแล้ว ดังนั้น นายสองจึงต้องรับผิดในหนี้รายนี้ร่วมกันกับนายสี่ และแม้ว่าห้างฯ ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องให้ นายสองรับผิดชําระหนี้ได้ เพราะถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง

ส่วนนายสามซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดนั้น เมื่อห้างฯ ยังมิได้เลิกกัน และไม่ปรากฏว่านายสามได้กระทําการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่จะทําให้ต้องรับผิดโดย ไม่จํากัดจํานวนแต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าหนี้ทั้งสองรายจึงฟ้องนายสามไม่ได้ตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง

สรุป หนี้เงินกู้จากธนาคารนายสี่และนายหนึ่งต้องร่วมกันรับผิด หนี้ค่าสินค้าที่นายสองได้ทํา หนังสือรับสภาพหนี้ไว้นายสี่และนายสองต้องร่วมกันรับผิด ส่วนนายสามไม่ต้องรับผิดในหนี้ทั้งสองรายนั้น

 

ข้อ 3. การประชุมวิสามัญของบริษัทจํากัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะมีขึ้นได้ในกรณีใดบ้าง

ธงคําตอบ

“การประชุมใหญ่วิสามัญ” คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งได้เรียกประชุมกันเป็นพิเศษ ต่างหากจากการประชุมใหญ่สามัญ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น การประชุมใหญ่วิสามัญอาจ เกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

1 เมื่อกรรมการเห็นสมควร ตามมาตรา 1172 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการจะ เรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร”

2 เมื่อบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน ตามมาตรา 1172 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันทีเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบการที่ ขาดทุนนั้น”

3 เมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ร้องขอให้เรียกประชุม ตาม มาตรา 1173 ซึ่งบัญญัติว่า “การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้น ในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า หนึ่งในห้าแห่งจํานวนหุ้นของบริษัท ได้เข้าชื่อกันทําหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้น ต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด”

4 เมื่อตําแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลง ตามมาตรา 1211 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามีตําแหน่งว่างลง ในจํานวนผู้สอบบัญชี ให้กรรมการนักเรียกประชุมวิสามัญเพื่อให้เลือกตั้งขึ้นใหม่ให้ครบจํานวน

Advertisement