การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงตกลงเข้าหุ้นกับเหลืองโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนมีวัตถุประสงค์เปิดกิจการเดินรถยนต์โดยสาร แดงนํารถยนต์โดยสารปรับอากาศมาลงหุ้น จํานวน 10 คัน ส่วนเหลืองนําเงิน มาลงหุ้น จํานวน 10 ล้านบาท ทั้งสองคนมีข้อตกลงกันว่าจะคิดบัญชีกําไร-ขาดทุนกันทุกสิ้นเดือน ถ้ามีกําไรก็จะแบ่งกันคนละครึ่ง ถ้าขาดทุนก็จะรับผิดร่วมกันคนละครึ่ง และเมื่อเลิกห้างฯ กันแล้ว จะคืนรถยนต์โดยสารปรับอากาศให้กับนายแดงคืนเงิน 10 ล้านบาท ให้กับนายเหลือง ต่อมาแดง ถูกฟ้องคดีให้ชําระหนี้เงินกู้ จํานวน 10 ล้านบาท ที่กู้มาเพื่อซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศที่นํามาลงหุ้น ดังกล่าว ศาลพิพากษาให้แดงชําระหนี้ดังกล่าว แต่แดงไม่มีเงินชําระ

ดังนี้ถามว่าถ้าห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียนระหว่างแดงกับเหลืองยังไม่เลิกกัน เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะนําเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ที่แดงนํามาลงหุ้นได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1072 “ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกันตราบใด เจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัวย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกําไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชําระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมีในสินทรัพย์ของ ห้างหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ห้างหุ้นส่วนซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว กฎหมายถือว่าเป็นนิติบุคคล มีสิทธิและหน้าที่แยก ต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน ทรัพย์สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนนํามาลงทุนจึงเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ดังนั้นตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนจะใช้สิทธิได้แต่เพียงผลกําไร หรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชําระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น ไม่มีสิทธิไปเรียกร้องเอาเงินหรือทรัพย์สินของผู้เป็น หุ้นส่วนที่ได้ไปลงทุนไว้ในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น (มาตรา 1072)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงได้นํารถยนต์โดยสารปรับอากาศมาลงหุ้นไว้ในห้างหุ้นส่วน สามัญจดทะเบียน จํานวน 10 คันนั้น รถยนต์ทั้ง 10 คันดังกล่าวถือว่าเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อแดงถูกฟ้องคดีและถูกศาลพิพากษาให้แดงชําระหนี้แต่แดงไม่มีเงินชําระ และปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขณะนั้น ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนระหว่างแดงและเหลืองยังไม่เลิกกัน เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เฉพาะตัว ของแดงจึงไม่สามารถนําเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ที่แดงนํามาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นได้

สรุป เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะนําเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ที่แดงนํามาลงนั้นไม่ได้

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดมาลาภรณ์พาณิชย์ มีนางมาลัยเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นางจินตนาเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจํากัดนี้มีวัตถุประสงค์ ค้าขายเครื่องหมายประดับยศข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เปิดดําเนินกิจการมาได้หลายปีแล้ว ต่อมาขาดเงินสดหมุนเวียน นางมาลัยจึงได้มอบหมายให้นางจินตนาไปกู้ยืมเงินจากนางสาวสินใจ จํานวน 2 แสนบาท เพื่อนํามาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนจํากัด แต่ก่อนที่หนี้เงินกู้จะถึงกําหนด ชําระ นางจินตนาได้โอนหุ้นของตนในห้างหุ้นส่วนจํากัดมาลาภรณ์พาณิชย์ให้แก่นางสมหมาย และได้จดทะเบียนออกจากการเป็นหุ้นส่วน และนางสมหมายเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนที่ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจํากัดไม่มีเงินชําระหนี้ให้แก่นางสาวสินใจ

ดังนี้ นางสาวสินใจจะเรียกร้องให้นางจินตนารับผิดร่วมกับนางมาลัยได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

มาตรา 1080 วรรคแรก “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

มาตรา 1088 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน”

มาตรา 1095 วรรคแรก “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1088 วรรคแรก กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจํากัด ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นก็จะต้องรับผิดใน บรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัดจํานวน และมีผลทําให้เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วน จําพวกจํากัดความรับผิดคนนั้นได้ แม้ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะยังมิได้เลิกกัน (ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1095 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางจินตนาซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ได้ไปกู้ยืมเงิน มาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนจํากัดจากนางสาวสินใจตามที่ได้รับมอบหมายจากนางมาลัยซึ่งเป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการ การกระทําของนางจินตนาถือว่าเป็นการสอดเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ดังนั้นนางจินตนาจึง ต้องรับในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นโดยไม่จํากัดจํานวนตามมาตรา 1088 วรรคแรก และนางสาวสินใจ สามารถฟ้องร้องให้นางจินตนารับผิดในหนี้ดังกล่าวได้ แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะยังมิได้เลิกกัน

และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นางจินตนาได้โอนหุ้นของตนในห้างหุ้นส่วนจํากัดให้แก่ นางสมหมาย และได้จดทะเบียนออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่ นางจินตนาจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วน นางจินตนาก็จะต้องรับผิดในหนี้รายนี้ด้วย และต้องรับผิดเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1051, 1068 ประกอบกับมาตรา 1080 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อ หนี้รายนี้ถึงกําหนด แต่ห้างหุ้นส่วนจํากัดไม่มีเงินชําระหนี้ให้แก่นางสาวสินใจ นางสาวสินใจย่อมสามารถ เรียกร้องให้นางจินตนารับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกับนางมาลัยได้ เพราะนางจินตนาได้ออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัด ไปยังไม่เกิน 2 ปี

สรุป

นางสาวสินใจเรียกร้องให้นางจินตนารับผิดร่วมกับนางมาลัยได้

 

ข้อ 3. สมศักดิ์เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สินเกษตร จํากัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ค้าขายปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช อรทัยซึ่งเป็นภริยาของสมศักดิ์ได้เปิดร้านขายปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเช่นเดียวกัน โดยอรทัยได้ซื้อปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชจากบริษัท สินเกษตร จํากัด มาจําหน่าย และบางครั้ง ก็ซื้อจากบริษัทอื่นมาจําหน่ายด้วย ปรีชากรรมการบริษัทอีกคนหนึ่งเห็นว่า อรทัยประกอบกิจการ เช่นเดียวกับกิจการของบริษัท และยังตั้งอยู่ในจังหวัดระยองเช่นเดียวกัน จึงกล่าวหาว่า สมศักดิ์ ประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการค้าของบริษัท และต้องการให้บริษัทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากสมศักดิ์

ดังนี้ ถ้าสมศักดิ์มาปรึกษาท่านว่ากรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ ข้ออ้างของปรีชาจะถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ และสมศักดิ์จะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทหรือไม่ ให้ท่านแนะนําสมศักดิ์ด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1168 “ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่อง อย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง

อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใด ๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิดในห้างค้าขายอื่น ซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดย มิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น

บทบัญญัติที่กล่าวมาข้างบนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของกรรมการด้วย”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1168 วรรคสามและวรรคสี่ กฎหมายห้ามมิให้กรรมการและผู้แทนของ กรรมการประกอบการค้าขายใด ๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อรทัยซึ่งเป็นภริยาของสมศักดิ์ได้เปิดร้านปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช เช่นเดียวกับการประกอบกิจการค้าขายตามวัตถุประสงค์ของบริษัท สินเกษตร จํากัด และตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง เช่นเดียวกันนั้น เมื่ออรทัยเป็นเพียงภริยาของสมศักดิ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ และมิได้เป็นผู้แทนของสมศักดิ์ ดังนั้นจะถือว่าสมศักดิ์ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ได้ เพราะ ตามมาตรา 1168 วรรคสามนั้น ห้ามเฉพาะกรรมการของบริษัทเท่านั้น มิได้ห้ามภริยาของกรรมการแต่อย่างใด อีกทั้งลักษณะของการกระทําการค้าขายของอรทัยก็เป็นการซื้อสินค้าจากบริษัทฯ มาจําหน่ายจึงเป็นการให้ประโยชน์ แก่บริษัทฯ มิใช่ประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทฯ

ดังนั้นการที่ปรีชากรรมการบริษัทอีกคนหนึ่ง กล่าวหาว่าสมศักดิ์ประกอบกิจการแข่งขันกับ กิจการค้าของบริษัท และต้องการให้บริษัทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสมศักดิ์นั้น ข้ออ้างของปรีชาจึงไม่ถูกต้อง ตามหลักกฎหมาย และสมศักดิ์ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท

สรุป ถ้าสมศักดิ์มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําแก่สมศักดิ์ตามที่ได้อธิบายไว้ ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement