การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอกมีอาชีพทําสวนผลไม้ มะม่วงและเงาะที่ปลูกไว้ออกผลมากมายยังไม่ทันได้เก็บขาย มีคนร้ายแอบปีนรั้วลวดหนามเข้ามาขโมยผลไม้ของเอกหลายครั้ง เอกจึงต่อสายไฟเข้ากับรั้วลวดหนาม แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายเข้ามาลักผลไม้ของตน แต่ปรากฏว่าโทเดินผ่านมา บังเอิญไปถูกรั้วลวดหนามจึงถูกไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนหน้าที่โทจะถูก ไฟฟ้าดูด มีสุนัขวิ่งมาโดนรั้วถูกไฟฟ้าดูด แต่ดิ้นหลุดไปได้ไม่ตาย ดังนี้ เอกจะมีความผิดต่อชีวิต ฐานใด หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 290 วรรคแรก “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ทําร้ายผู้อื่น

2 เป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย

3 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกปล่อยกระแสไฟฟ้าที่รั้วลวดหนามเพื่อป้องกันขโมย จนทําให้โท ถูกไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตายนั้น แม้เอกจะไม่ได้ต้องการทําอันตรายต่อผู้ใด แต่เอกย่อมเล็งเห็นได้ว่า เมื่อมีผู้มาถูกกระแสไฟฟ้าดูดย่อมเป็นอันตรายได้อย่างแน่นอน จึงถือได้ว่าเอกมีเจตนาย่อมเล็งเห็นผลในการทําให้ผู้อื่นเป็นอันตรายแล้ว แต่การกระทําของเอกเช่นนี้ไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะเหตุว่า เอกไม่มีความประสงค์ต่อชีวิตของโท และการที่เอกปล่อยกระแสไฟฟ้าที่รั้วลวดหนามนั้น ก็ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจะทําให้โทถึงแก่ความตายแต่อย่างใด เพราะไม่แน่นอนว่าคนที่ถูกไฟฟ้าดูดจะต้องตาย

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เอกปล่อยกระแสไฟฟ้าที่รั้วลวดหนามนั้น ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจทําให้ผู้อื่นเป็นอันตรายแก่กายได้อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงถือได้ว่าเอกมีเจตนาทําร้าย เมื่อปรากฏว่าโทมาถูกไฟฟ้าดูดตาย เอกจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคแรก

สรุป

เอกมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคแรก

 

ข้อ 2 นายเล็กยืมเงินจากนายใหญ่ 2 หมื่นบาท นายใหญ่เห็นว่านายเล็กเป็นเพื่อนบ้านจึงไม่ได้ทําหลักฐานการกู้ยืมตามที่กฎหมายกําหนด นายเล็กรับปากว่าจะคืนเงินที่ยืมภายใน 3 เดือน ต่อมาเมื่อถึงกําหนด นายใหญ่ทวงถามให้นายเล็กคืนเงิน แต่นายเล็กอ้างว่ายังไม่มีเงินจะคืนให้และยังพูดท้าทายให้นายใหญ่ไปฟ้องเอา วันเกิดเหตุนายใหญ่พกอาวุธเข้าไปในบ้านของนายเล็กแล้วใช้อาวุธขู่เข็ญให้นายเล็กหาเงินมาคืน นายเล็กบอกให้นายใหญ่รออยู่ที่บ้านแล้วจะออกไปเบิกเงินที่ธนาคารมาคืนให้ แต่เมื่อออกจากบ้านนายเล็กกลับไปแจ้งความและพาเจ้าพนักงานตํารวจมาจับกุมนายใหญ่ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

นายใหญ่จะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 309 วรรคแรก “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทําให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 ประกอบด้วย

1 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด

2 โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้าย

3 จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายใหญ่พกอาวุธเข้าไปในบ้านของนายเล็ก แล้วใช้อาวุธขู่เข็ญ ให้นายเล็กหาเงินมาคืนนั้น การกระทําของนายใหญ่เช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใดหรือ จํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพตามมาตรา 309 วรรคแรก

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเล็กยังไม่ได้หาเงินมาคืนตามที่ถูกนายใหญ่ข่มขืนใจ เนื่องจาก นายเล็กได้ไปแจ้งความและพาเจ้าพนักงานตํารวจมาจับกุมนายใหญ่เสียก่อน ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่นายใหญ่ได้ลงมือ กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล จึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใดตามมาตรา 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80

สรุป

นายใหญ่มีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใดหรือจํายอมต่อสิ่งใดตาม มาตรา 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80

 

 

ข้อ 3 ดําไปขอยืมรถจักรยานยนต์ของขาวหนึ่งวัน โดยดําหลอกขาวว่าจะขี่ไปเยี่ยมมารดาของตนที่ป่วยหนักนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและรถจักรยานยนต์ของดําเสียใช้ยังไม่ได้ ขาวให้ดํายืมรถจักรยานยนต์คันนี้ตามที่ดําต้องการ เมื่อขาวมอบรถจักรยานยนต์ให้ดํา ดําได้ขี่รถจักรยานยนต์คันนี้ไปขายให้กับมืดทันที ดําได้เงินจากการขายรถคันนี้แล้วรีบไปเล่นการพนันที่บ้านของเขียวตามความประสงค์ ที่แท้จริงของดํานั่นเอง ให้วินิจฉัยว่าดํามีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่ดําไปขอยืมรถจักรยานยนต์ของขาวโดยหลอกว่าจะขี่ไปเยี่ยมมารดาของตนที่ป่วยหนักนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และรถจักรยานยนต์ของดําเสียยังใช้ไม่ได้นั้น เป็นเพียงการใช้ กลอุบายของดําเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของขาวไปเท่านั้น ดังนั้น สัญญายืมย่อมไม่เกิดขึ้น และการที่ขาวได้ส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ให้แก่ดําจึงมิใช่การส่งมอบตามสัญญายืมที่จะทําให้การครอบครองรถจักรยานยนต์ตกไปอยู่กับดํา แต่เป็นการส่งมอบให้เพราะถูกดําหลอกลวง

กรณีดังกล่าว จึงถือว่าเป็นกรณีที่ดําได้แย่งการครอบครองรถจักรยานยนต์ไปจากขาวซึ่งเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น และเมื่อเป็นการเอาไปโดยเจตนา และโดยทุจริต จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ทุกประการ ดังนั้น ดําจึงมีความผิด ฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 และเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย

สรุป

ดํามีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

 

ข้อ 4 หนึ่งต้องเดินทางไปทํางานต่างจังหวัดนาน 2 เดือน จึงเอารถจักรยานยนต์ไปฝากไว้กับสอง หลังจากรับฝากไว้เพียง 20 วัน สองเกิดมีความจําเป็นจะต้องใช้เงิน จึงเอารถของหนึ่งไปจํานําไว้กับแดงเป็นเงิน 5,000 บาท ตั้งใจว่าตอนสิ้นเดือนเงินเดือนออกก็จะเอาเงินไปไถ่คืนก่อนที่หนึ่งจะกลับมา แต่ปรากฏว่า หนึ่งทํางานเสร็จกลับมาก่อนกําหนด สองยังไม่ทันได้ไปไถ่รถคืน เมื่อหนึ่งมาขอรถคืน สองไม่มีรถคืนให้หนึ่งโกรธจึงไปแจ้งความดําเนินคดีกับสอง ดังนี้ สองจะมีความผิดอาญาฐานใด หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 352 วรรคแรก “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ครอบครองทรัพย์

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4 โดยเจตนา

5 โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งต้องเดินทางไปทํางานต่างจังหวัดและได้เอารถจักรยานยนต์ไปฝากไว้กับสองนั้น ถือว่าหนึ่งได้มอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ให้กับสอง และถือว่าสองได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว การที่สองมีความจําเป็นต้องใช้เงินและได้เอารถของหนึ่งไปจํานําไว้กับแดงนั้น การกระทําของสองไม่ถือว่า เป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่น เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นนั้น จะต้องเป็นการกระทํา ในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์นั้นจากเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาด แต่ตามข้อเท็จจริง การที่สองได้เอารถของหนึ่งไปจํานํานั้น เป็นการเอาไปจํานําเพียงชั่วคราว โดยตั้งใจว่าจะเอาเงินไปไถ่คืนก่อนที่หนึ่งจะกลับมา การกระทําของสองจึงไม่เป็นการกระทําในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจากหนึ่งเจ้าของทรัพย์ อันจะถือว่าเป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นแต่อย่างใด ดังนั้น สองจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก

สรุป

สองไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก

 

Advertisement