การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สุเทพตกงานมากว่า  3  เดือน  ไม่มีเงินใช้  เห็นอรสายืนอยู่ตามลำพังที่ป้ายรถโดยสาร  สุเทพตรงเข้าแย่งกระเป๋าสตางค์ที่อรสาสะพายอยู่  อรสาไม่ยอมเกิดยื้อยุดกัน  สุเทพผลักอรสาล้มลงก้นกระแทกพื้นทำให้อรสาซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้  7  เดือน  เกิดอาการปวดท้องถูกนำส่งโรงพยาบาล  ทารกคลอดออกมาก่อนกำหนดแพทย์พยายามช่วยอย่างสุดความสามารถ  แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทำให้ทารกถึงแก่ความตายในอีก  2  วันต่อมา  ส่วนอรสานอนรักษาตัวอยู่  5  วันก็หายเป็นปกติ  ดังนี้  สุเทพมีความผิดต่อชีวิตหรือร่างกายฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

มาตรา  297  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายอันตรายสาหัส  ต้องระวางโทษ…

อันตรายสาหัสนั้น  คือ

(5)  แท้งลูก

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามมาตรา  297 (5)  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่กระทำให้ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้ายคลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิตรอดหรือตายในครรภ์

นางอรสาคลอดบุตรก่อนกำหนดเวลาในลักษณะที่เด็กยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก  2  วัน  แล้วจึงตาย  มิใช่เป็นกรณีที่ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้ายคลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิตรอดหรือตายในครรภ์  ย่อมไม่เป็นการแท้งลูก  และไม่เป็นอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297  (5)  สุเทพจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายอรสาจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม  เมื่ออรสาล้มก้นกระแทกพื้น  เกิดอาการปวดท้องต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลอรสานอนรักษาตัวอยู่ถึง  5  วัน  จึงจะหายเป็นปกติ  ถือว่าเป็นอันตรายแก่กายแล้ว  ดังนั้นสุเทพจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น  ตามมาตรา  295  (สุเทพไม่มีความผิดฐานฆ่าเด็ก ตามมาตรา  288  เพราะขณะสุเทพทำร้ายอรสานั้น  ทารกในครรภ์ยังไม่มีสภาพบุคคล  ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  15)

สรุป  สุเทพมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายอรสา  ตามมาตรา  295

 

ข้อ  2  นายเล็กจำนำสร้อยไว้กับนายใหญ่โดยนายใหญ่ได้สวมสร้อยไว้ที่คอตลอดเวลา  นายเล็กไม่มีเงินไถ่คืนแต่ก็อยากได้สร้อยไปสวมใส่เพื่อให้มารดาเห็นว่าสร้อยยังอยู่กับตน  นายเล็กจึงขอยืมสร้อยคืนไปชั่วคราวแต่นายใหญ่ไม่ยอม  วันเกิดเหตุเวลาประมาณ  09.00  น  ขณะที่นายใหญ่ยืนอยู่ที่ป้ายจอดรถประจำทาง  นายเล็กได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญให้นายใหญ่คืนสร้อยให้  ทันใดนั้นได้มีรถตำรวจแล่นมา  นายใหญ่จึงชี้มือไปทางด้านหลังของนายเล็กพร้อมกับร้องขึ้นว่าตำรวจมา  ขณะที่นายเล็กมองตามที่นายใหญ่ชี้  นายใหญ่ก็ถือโอกาสวิ่งไปหาตำรวจและในที่สุดนายเล็กก็ถูกจับกุมตัวไว้ได้  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายเล็กจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใด  หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใด

2       โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง  หรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย

3       จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้น  หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

4       โดยเจตนา

นายเล็กจำนำสร้อยไว้กับนายใหญ่โดยนายใหญ่ได้สวมสร้อยไว้ที่คอตลอดมา  นายเล็กได้ใช้ปืนขู่เข็ญให้นายใหญ่คืนสร้อยให้  เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพตามมาตรา  309  แต่นายใหญ่ยังไม่ได้คืนสร้อยให้ตามที่ถูกข่มขืนใจ  การกระทำของนายเล็กจึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80

สรุป  นายเล็กมีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  3  แดงเข้าไปในบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งและแดงได้พบกับเขียวพนักงานขายรถยนต์  แดงสอบถามถึงราคารถยนต์  และแดงแจ้งกับเขียวว่าแดงต้องการซื้อรถยนต์รุ่น  CX  2000  ซึ่งแดงบอกกับเขียวว่าแดงขอลองขับดูก่อนได้หรือไม่  เขียวจึงมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แดงลองขับดู แดงขับรถวนเวียนอยู่ในบริเวณบริษัทได้รอบหนึ่ง  แล้วแดงได้ขับรถออกจากบริษัทไปทันที  หลังจากนั้นแดงนำรถยนต์คันนี้ไปขายให้กับนายบุญมาเพื่อนของตนที่รอรับซื้อรถเพื่อจะนำไปขายยังประเทศลาวต่อไป  ดังนี้แดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

แดงแจ้งต่อเขียวพนักงานขายรถยนต์ว่าต้องการซื้อรถยนต์และขอลองขับดูก่อน  การที่เขียวมอบรถยนต์ให้แดงลองขับดูนั้น  ถือไม่ได้ว่าแดงได้รับมอบการครอบครองรถยนต์  เพราะเป็นการมอบให้ไปลองขับเท่านั้น  แดงเพียงยึดถือทรัพย์คือรถยนต์  การครอบครองรถจึงอยู่ที่บริษัทผู้ขาย  เมื่อแดงนำรถไปขายจึงเป็นการเอารถยนต์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต  มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  (หรืออาจจะถือว่าแดงหลอกเอาการครอบครองรถยนต์ไปจากผู้อื่นจึงเป็นการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตนั่นเอง)

สรุป  แดงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  นายศักดิ์มีอาชีพรับซื้อขายของเก่าและวัตถุโบราณ  ถ้าเป็นวัตถุโบราณขนาดใหญ่ก็จะขายต่อให้กับนายแสง  ซึ่งมีร้านขายวัตถุโบราณในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งเป็นประจำโดยไม่ได้คิดกำไรมากนัก  วันหนึ่งลูกค้าประจำของนายแสงอยากได้พระพุทธรูปสมัยอยุธยา  นายแสงจึงติดต่อกับนายศักดิ์เพื่อช่วยหาพระพุทธรูปดังกล่าวให้  โดยส่งเงินไปให้กับนายศักดิ์ไว้เป็นจำนวน   100,000  บาท  ปรากฏว่านายศักดิ์สามารถหาพระพุทธรูปตามที่นายแสงต้องการได้  โดยซื้อมาจากนายสมบูรณ์ในราคา  100,000  บาท  แต่วันเดียวกันนั้นเองนายสุขสันต์ได้มาขอซื้อจากนายศักดิ์  150,000  บาท  นายศักดิ์เกิดความโลภเพราะเห็นว่าได้กำไร  จึงได้ขายให้กับนายสุขสันต์ไป  ผ่านไป  1  สัปดาห์  นายแสงได้ติดต่อสอบถามและบอกกับนายศักดิ์ว่าถ้าไม่สามารถหาได้ก็ให้ส่งเงินคืน  ปรากฏว่านายศักดิ์ไม่ยอมคืนเงินให้กับนายแสง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายศักดิ์กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

นายศักดิ์และนายแสง  เป็นพ่อค้าซื้อขายวัตถุโบราณ  นายแสงต้องการพระพุทธรูป  จึงติดต่อให้นายศักดิ์ช่วยหาพระพุทธรูปดังกล่าวและส่งเงินไปให้นายศักดิ์ในฐานะผู้ซื้อ  นายศักดิ์เป็นผู้ขาย  นายศักดิ์ไม่ได้รับเงินไว้ในฐานะตัวแทน  จึงไม่ถือว่านายศักดิ์ครอบครองเงิน  เมื่อนายศักดิ์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองเงินของนายแสง  การที่นายแสงแจ้งแก่นายศักดิ์ว่าถ้าไม่สามารถหาได้ให้ส่งเงินคืน  แต่นายศักดิ์ไม่ยอมคืน  การไม่ส่งเงินคืนของนายศักดิ์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาทางแพ่ง  การกระทำของนายศักดิ์ไม่เป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

สรุป  นายศักดิ์ไม่มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

Advertisement