การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอไม่พอใจที่กลุ่มเด็กวัยรุ่นชอบมาจับกลุ่มเพื่อแข่งรถจักรยานยนต์กันตรงบริเวณหน้าบ้านของเอส่งเสียงเร่งเครื่องยนต์ดังรบกวน เคยออกไปขอให้ไปแข่งกันที่อื่น แต่กลุ่มแข่งรถก็ไม่สนใจยังคงมา ส่งเสียงรบกวนเป็นประจํา วันเกิดเหตุกลุ่มเด็กวัยรุ่นประมาณ 15 คนมาจับกลุ่มส่งเสียงดังอีกเช่นเคย เอจึงใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น 1 นัด โดยมิได้ต้องการฆ่าใครแต่ยิงไปด้วยความโมโห ปรากฏว่ากระสุนปืนถูกต้นแขนของบีได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ เอจะมีความผิดต่อชีวิตและ ร่างกายฐานใด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสอง “กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบด้วย

1 ฆ่า

2 ผู้อื่น

3 โดยเจตนา

การกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 288 นั้น นอกจากจะมีการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการฆ่าบุคคลอื่นแล้ว ผู้กระทํายังต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในด้วย อาจจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ได้

สําหรับเจตนาเล็งเห็นผล หมายความว่า ผู้กระทําเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ ดังนั้นหากผู้กระทําเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้น แม้ในที่สุดผลจะไม่เกิด ผู้กระทําก็ต้องรับผิดฐานพยายาม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่น 1 นัดนั้น แม้ข้อเท็จจริงเอมิได้ ต้องการฆ่าใครแต่ยิงไปด้วยความโมโหก็ตาม แต่โดยลักษณะของการกระทําเช่นนั้น เอย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการใช้ อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิ่งเข้าไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่น กระสุนปืนอาจถูกเด็กวัยรุ่นคนใดคนหนึ่งตายได้ ดังนั้น จึงถือว่าเอมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยหลักย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสอง

และเมื่อปรากฏว่าเอได้ลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไมบรรลุผล คือ กระสุนปืนถูกต้นแขนของบีได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้นไม่ถึงแก่ความตาย ดังนั้นเอจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามมาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 80

สรุป

เอมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 80

 

ข้อ 2 นายมืดกับ น.ส.ฟ้าเคยเป็นคนรักและได้เสียกันมาก่อน ต่อมา น.ส.ฟ้าได้ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายอาทิตย์และมีโครงการจะแต่งงานกัน น.ส.ฟ้าจึงเลิกติดต่อกับนายมืด นายมืดได้เขียน จดหมายส่งทางไปรษณีย์ถึง น.ส.ดาราซึ่งเป็นเพื่อนของ น.ส.ฟ้า โดยบรรยายความในจดหมายถึง ความสัมพันธ์ขั้นได้เสียกันกับ น.ส.ฟ้าให้ น.ส.ดาราได้รับรู้เพื่อให้ น.ส.ดาราไปห้ามปรามมิให้ น.ส.ฟ้า แต่งงานกับนายอาทิตย์และกลับมาคืนดีกับตน น.ส.ดาราได้นําจดหมายฉบับนั้นไปให้ น.ส.ฟ้าอ่าน น.ส.ฟ้าไม่พอใจการกระทําของนายมืดจึงนําจดหมายไปเป็นหลักฐานดําเนินคดีกับนายมืดว่า กระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ในชั้นพิจารณาคดีนายมืดรับสารภาพว่าเป็นคนเขียนจดหมาย ดังกล่าวจริง แต่ข้อความในจดหมายก็เป็นเรื่องจริง จึงขอพิสูจน์ความจริง

ดังนี้ อยากทราบว่านายมืดจะขอพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่ และการกระทําของนายมืดจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ”

มาตรา 330 “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทําความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่า หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และ การพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบด้วย

1 ใส่ความผู้อื่น

2 ต่อบุคคลที่สาม

3 โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

4 โดยเจตนา

คําว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 326 หมายความว่า พูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้าย ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทําต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายมืดได้เขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์ถึง น.ส.ดาราซึ่งเป็นเพื่อน ของ น.ส.ฟ้า โดยบรรยายความในจดหมายถึงความสัมพันธ์ขั้นได้เสียกันกับ น.ส.ฟ้าให้ น.ส.ดาราได้รับรู้นั้น ถือว่า เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ น.ส.ฟ้าเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้นนายมืดจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

ส่วนการที่นายมืดจะขอพิสูจน์ว่าข้อความในจดหมายเป็นความจริงนั้น กรณีนี้ถือว่าเข้าข้อห้าม พิสูจน์ตามมาตรา 330 วรรคสอง เพราะข้อหาที่ว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์นั้นจะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดังนั้นนายมืดจึงขอพิสูจน์ความจริงไม่ได้

สรุป

การกระทําของนายมืดเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 และนายมืดจะขอพิสูจน์ความจริงไม่ได้ เพราะเข้าข้อห้ามไม่ให้พิสูจน์ตามมาตรา 330 วรรคสอง

 

ข้อ 3 นาย ก. ขับรถจักรยานยนต์ไปจอดไว้หน้าตลาด จากนั้นก็เดินเข้าไปซื้อของในตลาด จําเลยถือโอกาสขึ้นนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ เสร็จแล้วจําเลยเข็นรถจักรยานยนต์ของนาย ก. เคลื่อนที่ไปได้ 1 เมตร นาย ก. มาพบเข้าเสียก่อน จําเลยจึงทิ้งรถวิ่งหนีไป ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

คําว่า “เอาไป” หมายความว่าเอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้ แต่ต้องเป็นการทําให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้ โดยเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่จําเลยได้ขึ้นนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของนาย ก. แล้วจําเลยเข็นรถจักรยานยนต์ของนาย ก. เคลื่อนที่ไปได้ 1 เมตรนั้น ถือว่าจําเลยได้แย่งการครอบครองทรัพย์ของนาย ก. ไปได้ สําเร็จแล้วอันเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อจําเลยได้กระทําโดยเจตนาและโดยทุจริต การกระทําของจําเลยจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้นจําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3011/2551)

สรุป

จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 วันเกิดเหตุขณะที่นายจันทร์เดินอยู่ริมถนน นายอังคารถือโอกาสกระชากสร้อยคอทองคําของนายจันทร์จากทางด้านหลังจนขาดติดมือของนายอังคารไปและกําลังจะวิ่งหนี นายจันทร์หันไป เห็นนายอังคารและตรงเข้าไปจับชายเสื้อของนายอังคารไว้ นายอังคารจึงใช้มือซ้ายล้วงเข้าไปที่เอวด้านขวาและจับด้ามมีดที่เหน็บไว้ที่เอวเพื่อให้นายจันทร์เห็นว่ามีอาวุธ และอยู่ในกิริยาอาการ ที่พร้อมจะชักอาวุธออกมา ทั้งยังใช้สายตาข่มขู่จ้องเขม็งมายังนายจันทร์ ทําให้นายจันทร์ยอมปล่อยมือที่จับชายเสื้อของนายอังคาร ต่อมานายอังคารจึงวิ่งหลบหนีไป ดังนี้ นายอังคารมีความผิด เกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 339 “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบด้วย

1 ลักทรัพย์

2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

3 โดยเจตนา

4 เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอังคารกระชากสร้อยคอทองคําของนายจันทร์จนขาดติดมือ ของนายอังคารไปนั้น การกระทําของนายอังคารดังกล่าวถือว่าเป็นการเอาไปจากการครอบครองซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว และเมื่อได้กระทําโดยเจตนาและโดยมีเจตนาทุจริตคือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเอง การกระทําของนายอังคารจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

และตามข้อเท็จจริง แม้จะไม่ปรากฏว่าขณะที่นายอังคารกระชากสร้อยคอทองคําของนายจันทร์ และกําลังจะวิ่งหนีนั้น นายจันทร์ได้ตรงเข้าไปจับชายเสื้อของนายอังคารไว้ นายอังคารไม่ได้พูดขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะใช้กําลังประทุษร้ายนายจันทร์ก็ตาม แต่การที่นายอังคารได้ใช้มือซ้ายล้วงเข้าไปที่เอวด้านขวาและจับด้ามมีดที่เหน็บไว้ที่เอวเพื่อให้นายจันทร์เห็นว่ามีอาวุธ และอยู่ในกิริยาอาการที่พร้อมจะชักอาวุธออกมา ทั้งยังใช้สายตาข่มขู่ จ้องเขม็งมายังนายจันทร์ ทําให้นายจันทร์ยอมปล่อยมือที่จับชายเสื้อของนายอังคารนั้น ถือว่านายอังคารมีเจตนา เพื่อให้นายจันทร์เกิดความกลัวและทําให้นายจันทร์อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทําของนายอังคาร ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การพาเอาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ การกระทําของนายอังคารจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339 ดังนั้น นายอังคารจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 8043/2554)

สรุป

นายอังคารมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339

Advertisement