การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอวางแผนฆาบี โดยเอายาพิษผสมในขวดน้ำดื่มเตรียมจะเอาไปให้บีดื่ม เอวางขวดน้ำนั้นไว้ในห้องนอนของเอ รอเวลาที่มีจะกลับมาจากทํางาน บังเอิญหนึ่งเข้าไปในห้องนอนของเอ เห็นขวดน้ำดื่มจึงหยิบไปดื่มทําให้หนึ่งถึงแก่ความตาย ดังนี้ เอจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใด หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้ กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาท…

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความ ระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่า นั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น”

มาตรา 80 วรรคแรก “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอด แล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

มาตรา 288 “ผู้ใดฆาผู้อื่น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 59 วรรคแรก ที่ว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทําซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด ซึ่งคําว่าได้มีการกระทํานี้ จะต้องเป็นการกระทําที่เลยขั้นตระเตรียมการ มาจนถึงขั้นลงมือกระทําความผิดแล้ว เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 จะต้องมี องค์ประกอบที่สําคัญคือการ “ฆ่า” ซึ่งคําว่า “ฆ่า” นั้น หมายถึง การลงมือกระทําและการกระทํานั้นเป็นเหตุให้คนตาย ถ้าการลงมือกระทํานั้นได้กระทําไปไม่ตลอดหรือกระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผลคือไม่ทําให้ ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทําก็จะมีความผิดฐานพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอมีเจตนาฆ่าบี และได้วางแผนโดยเอายาพิษผสมในขวดน้ำดื่ม เตรียมจะเอาไปให้บีดื่มและได้วางขวดน้ำนั้นไว้ในห้องนอนของเอนั้น การกระทําของเอถือว่ายังอยู่ในขั้น ตระเตรียมการเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทําผิด จะถือว่าการกระทําของเอเป็นการลงมือกระทําความผิดแต่ กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผลไม่ได้ ดังนั้น เอจึงไม่มีความผิดฐาน พยายามฆ่าบี

ส่วนการที่หนึ่งได้เข้าไปในห้องนอนของเอแล้วหยิบเอาขวดน้ำที่ผสมยาพิษไปดื่มทําให้หนึ่งถึง แก่ความตายนั้น ความตายของหนึ่งมิได้เกิดจากการกระทําของเอ เพราะเอไม่มีเจตนาฆ่าหนึ่ง และจะถือว่า เป็นการกระทําโดยพลาดของเอตามมาตรา 60 หรือเป็นการกระทําโดยประมาทของเอตามมาตรา 59 วรรคสี่ ก็ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะเอยังไม่ได้ลงมือกระทําความผิดนั่นเอง ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ เอจึงยังไม่มีความผิด ต่อชีวิตฐานใดเลย

สรุป เอไม่มีความผิดต่อชีวิตฐานใดเลย

 

ข้อ 2 นายเพชรเคยแต่งตั้งให้นายเอกเป็นทนายความว่าความให้ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ซึ่งนายเพชรถูกฟ้องเป็นจําเลย ผลของคดีนั้น นายเพชรเป็นฝ่ายแพ้จึงทําให้นายเพชรไม่พอใจเพราะเข้าใจว่านายเอก ไม่ทําหน้าที่ทนายความให้เต็มที่ โดยแสดงพฤติการณ์เข้าข้างฝ่ายโจทก์และอาจรับทรัพย์สินจาก ฝ่ายโจทก์ด้วย วันเกิดเหตุขณะที่นายเอกยืนอยู่หน้าสํานักงาน นายเพชรชี้มือไปที่นายเอกแล้วพูด กับคนอื่น ๆ ซึ่งยืนอยู่ใกล้เคียงว่า “ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง” จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า การกระทําของนายเพชรเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบด้วย

1 ใส่ความผู้อื่น

2 ต่อบุคคลที่สาม

3 โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

4 โดยเจตนา

คําว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 326 หมายความว่า พูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้าย ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทําต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น ข้อความที่เป็นถ้อยคําเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเหยียดหยามให้ อับอาย หรือข้อความที่ไม่ทําให้บุคคลซึ่งได้ยินเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ยังไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายอันถือเป็น การใส่ความตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเพชร ชี้มือไปที่นายเอกแล้วพูดกับคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงว่า “ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง” นั้น คําพูดของนายเพชรดังกล่าว ไม่มีข้อความอื่นประกอบให้เห็นว่า นายเอก เป็นทนายความสกปรกในเรื่องอะไร และแม้คําพูดของนายเพชรจะเป็นคําเสียดสีนายเอกว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทําให้ผู้ที่รับฟังเข้าใจว่านายเอกเป็นคนคดโกง ขาดความน่าเชื่อถือ หรือน่าจะทําให้นายเอก เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคําที่นายเพชรกล่าวจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือใส่ความนายเอก ดังนั้น การกระทําของนายเพชรจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

สรุป การกระทําของนายเพชรไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

ข้อ 3 จําเลยกับนาย ก. โดยสารรถทัวร์คันเดียวกันและที่นั่งติดกัน ขณะเกิดเหตุนาย ก. เกิดปวดห้องน้ำจึงลุกจากที่นั่งแล้ววางกระเป๋าสตางค์ไว้ตรงที่นั่งโดย นาย ก. บอกจําเลยว่า “ดูกระเป๋าสตางค์ให้ด้วย เสร็จธุระแล้วจะมารับคืน” จากนั้น นาย ก. เดินไปเข้าห้องน้ำในรถทัวร์ ระหว่างนั้นจําเลยเปิด กระเป๋าสตางค์ของนาย ก. แล้วหยิบเงินไป จํานวน 2,000 บาท ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั้นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้น ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคแรก)

ตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยกับนาย ก. โดยสารรถทัวร์คันเดียวกันและที่นั่งติดกัน เมื่อนาย ก. จะไปห้องน้ำจึงลุกจากที่นั่งแล้ววางกระเป๋าสตางค์ไว้ตรงที่นั่งและได้บอกกับจําเลยว่า “ดูกระเป๋าสตางค์ให้ด้วย เสร็จธุระแล้วจะมารับคืน” นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นาย ก. ได้มอบหมายให้จําเลยช่วยดูแลทรัพย์เป็นการชั่วคราว เท่านั้น มิได้มีเจตนาสละการครอบครองให้แก่จําเลย การครอบครองทรัพย์ยังอยู่ที่นาย ก. ดังนั้นการที่จําเลย เปิดกระเป๋าสตางค์แล้วหยิบเงินไป 2,000 บาท จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปจากการครอบครองของผู้อื่น หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง และเมื่อได้เอาไปโดยเจตนาและโดยทุจริต จึงครบองค์ประกอบของความผิด ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ดังนั้น จําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ (เทียบฎีกาที่ 179/2507)

สรุป จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334

 

ข้อ 4 จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ไปที่บ้านของนาย ก. เมื่อไปถึง จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ใช้เท้าเตะไปที่รั้วบ้านของนาย ก. ซึ่งรั้วบ้านของนาย ก. เป็นรั้วสังกะสี นาย ก. ได้ยินเสียงจึงออกมาดู จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ก. ขอเงิน 5,000 บาท นาย ก. ตอบว่าไม่มี จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก 3 แผ่น นาย ก. กลัวรั้วจะพัง และกลัวจะถูกทําร้ายจึงยอมให้เงินจําเลยที่ 1 ไป 3,000 บาท จําเลยที่ 1 รับเงินมาแล้วจึงพูดกับ นาย ก. ว่า “ทีหลังถ้ากูมา อยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ” ดังนี้ จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 340 “ผู้ใดชิงทรัพย์ โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทํา ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ชิงทรัพย์

2 โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

3 โดยเจตนา

การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น อันจะเป็นความผิด ฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 และถ้าได้ร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ก็จะเป็นความผิดฐาน ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 นั้น การขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายดังกล่าวอาจจะเป็นการขู่ตรง ๆ ก็ได้ หรืออาจจะ เป็นการใช้ถ้อยคําทํากิริยาหรือทําโดยประการใด ๆ อันเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าจะได้รับภยันตราย จากการกระทําของผู้ขู่เข็ญก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ก. ขอเงิน 5,000 บาท เมื่อนาย ก. ตอบว่าไม่มี จําเลยที่ 1 กับพวกช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก 3 แผ่น นาย ก. กลัวรั้วจะพังและกลัวถูกทําร้ายจึงยอมให้เงิน จําเลยที่ 1 ไป 3,000 บาท นั้น จะเห็นได้ว่า การกระทําของจําเลยที่ 1 และพวกเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็น การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย และการที่จําเลยที่ 1 ได้รับเงินแล้วยังพูดขู่เข็ญอีกว่า “ที่หลังถ้ากูมา อยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ” คําพูดขู่เข็ญของจําเลยที่ 1 ดังกล่าวแม้ไม่ใช้ถ้อยคําขู่เข็ญตรง ๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่าต่อไป ถ้าจําเลยที่ 1 อยากได้อะไรแล้ว นาย ก. ต้องให้ ถ้าไม่ให้จะถูกจําเลยที่ 1 ทําร้าย ดังนั้น การกระทําของจําเลยที่ 1 กับพวกอีกสามคน จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ (เทียบฎีกาที่ 549/2517)

สรุป จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 340

 

 

Advertisement