การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2107 (LAW2007) กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางสมศรีถูกฟ้องเป็นจําเลย นางสมศรีทราบว่า ส.ต.ต.สมชายจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกลูกสาวของตนให้ ส.ต.ต.สมชาย เพื่อให้ ส.ต.ต.สมชายเบิกความผิดจากความจริง ส.ต.ต.สมชายจับนางสมศรี ดังนี้ จะตั้งข้อหาว่านางสมศรีกระทําความผิดอย่างใดได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ

หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้

1 ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้

2 ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด

3 แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4 เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่

5 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสมศรีถูกฟ้องเป็นจําเลย และนางสมศรีทราบว่า ส.ต.ต.สมชาย จะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกลูกสาวของตนให้ ส.ต.ต.สมชาย เพื่อให้ ส.ต.ต.สมชายเบิกความ ผิดจากความเป็นจริงนั้น ถือเป็นการให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการที่ ส.ต.ต.สมชายต้องไป เบิกความต่อศาลในฐานะพยานตามหมายเรียกของศาลนั้น เป็นการกระทําหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่กระทําในหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ดังนั้น แม้ว่านางสมศรีจะยกลูกสาวให้โดยรู้อยู่แล้วว่า ส.ต.ต.สมชาย เป็นเจ้าพนักงาน แต่ไม่มีเจตนาพิเศษคือไม่ได้เป็นการจูงใจเพื่อให้เจ้าพนักงานกระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ของเจ้าพนักงาน ดังนั้น การกระทําของนางสมศรีจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 นางสมศรีจึงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

สรุป นางสมศรีไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

 

ข้อ 2 นายอ้วนทําสัญญากู้ยืมเงินนางเพรียวจํานวน 100,000 บาท แต่เมื่อครบกําหนดชําระเงินคืน นายอ้วนไม่ต้องการชําระหนี้จึงทําคําฟ้องเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนางเพรียวเป็นจําเลยต่อศาลอาญากล่าวหาว่า นางเพรียวปลอมลายมือชื่อของนายอ้วนในสัญญากู้ยืม ขอให้ศาลอาญาลงโทษนางเพรียว ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ต่อมาศาลอาญาไต่สวนคําฟ้อง ของนายอ้วนแล้ว เชื่อว่าลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อของนายอ้วนจริงไม่ใช่ลายมือชื่อปลอม จึงมีคําสั่งว่าคดีไม่มีมูล และพิพากษายกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่านายอ้วนมีความผิดฐานฟ้องเท็จตาม ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 175 “ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทําความผิดอาญา หรือว่ากระทํา ความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175 มีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 เอาความอันเป็นเท็จ

2 ฟ้องผู้อื่นต่อศาล

3 ว่ากระทําความผิดอาญา หรือว่ากระทําความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอ้วนทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางเพรียวจํานวน 100,000 บาท แต่เมื่อครบกําหนดชําระเงินคืนนายอ้วนไม่ต้องการชําระหนี้ จึงทําคําฟ้องเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนางเพรียวเป็นจําเลยต่อ ศาลอาญากล่าวหาว่านางเพรียวปลอมลายมือชื่อของนางอ้วนในสัญญากู้ยืม ขอให้ศาลอาญาลงโทษนางเพรียว ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 นั้น เมื่อนายอ้วนทําสัญญากู้ยืมเงินจาก นางเพรียวจริง แต่กลับฟ้องว่านางเพรียวปลอมลายมือชื่อของตน ข้อความที่นายอ้วนกล่าวในฟ้องจึงเป็นเท็จ และเป็นความผิดสําเร็จฐานฟ้องเท็จนับแต่นายอ้วนยื่นฟ้องต่อศาล แม้ต่อมาศาลอาญาจะมีคําสั่งว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องก็ไม่ทําให้ความผิดฐานฟ้องเท็จที่สําเร็จไปแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิดแต่อย่างใด

ดังนั้น การกระทําของนายอ้วน คือ การเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทําความผิด อาญา และได้กระทําโดยเจตนานั้น จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 175 นายอ้วนจึงมีความผิด ฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175

สรุป นายอ้วนมีความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175

 

ข้อ 3 ดำเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐ มีหน้าที่จัดซื้อทีวีเครื่องละ 20,000 บาท จํานวน 20 เครื่อง ตามระเบียบราชการ ตกลงซื้อทีวีตามหน้าที่กับพ่อค้าผู้ขายในราคาเครื่องละ 30,000 บาท จํานวน 20 เครื่อง โดยบอกกับพ่อค้าว่าให้เอาทีวีอีก 2 เครื่อง ไปติดไว้ที่บ้านของตนด้วย พ่อค้านําทีวี ไปติดให้ตามที่ตกลง ดังนี้ ดําจะมีความผิดฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 1 (1) “โดยทุจริต หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเองหรือผู้อื่น”

มาตรา 1 (16) “เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือ ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจําหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่”

มาตรา 151 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจใน ตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษ……”

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตตามาตรา 151 มีองค์ประกอบดังนี้

1 เป็นเจ้าพนักงาน

2 มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ

3 ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต

4 เป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้น

5 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําซึ่งเป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐและถือเป็นเจ้าพนักงาน ตามนัยของมาตรา 1 (16) มีหน้าที่จัดซื้อทีวีเครื่องละ 20,000 บาท จํานวน 20 เครื่อง ตามระเบียบราชการ ได้กระทําการโดยใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ซื้อทีวีตามหน้าที่กับพ่อค้าผู้ขายในราคาเครื่องละ 30,000 บาท จํานวน 20 เครื่อง ซึ่งเป็นราคาแพงกว่าราคาที่ราชการกําหนด อันเป็นการเสียหายแก่ราชการ (รัฐ) ทั้งให้พ่อค้า นําทีวีไปติดให้เปล่าที่บ้านตนอีก 2 เครื่องด้วยนั้น ถือเป็นการกระทําโดยเจตนา และโดยทุจริตตามนัยของ มาตรา 1 (1) กล่าวคือ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเอง ดังนั้น การกระทําของนายดําจึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 151 นายดําจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อํานาจ ในตําแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151

สรุป นายดํามีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151

 

ข้อ 4 นายทองกู้ยืมเงินจากนางเดือนจํานวน 500,000 บาท และครบกําหนดชําระหนี้แล้ว แต่นายทอง ยังไม่มีเงินจะจ่ายคืน นายทองกลัวว่านางเดือนจะยึดเอาที่ดิน น.ส.3ก เลขที่ 123 ของตนซึ่งได้รับ เป็นมรดกมาจากบิดาแล้วนําออกขายเพื่อใช้หนี้แทน นายทองจึงร่วมกันกับนายเงินทําสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวขึ้นมา โดยนายทองลงลายมือชื่อของตนเองในช่องผู้ขายและนายเงินลงลายมือของตนเองในช่องผู้ซื้อ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันจริงเพียงแต่ทําเอกสารสัญญาซื้อขาย ไว้หลอกลวงนางเดือนเท่านั้น ให้วินิจฉัยว่านายทองและนายเงินมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบดังนี้

1 กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ

(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3 ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองกู้ยืมเงินจากนางเดือนจํานวน 500,000 บาท และครบกําหนด ชําระหนี้แล้ว แต่นายทองยังไม่มีเงินจะจ่ายคืน นายทองกลัวว่านางเดือนจะยึดเอาที่ดิน น.ส.3ก เลขที่ 123 ของตน ซึ่งได้รับมรดกมาจากบิดาแล้วนําออกขายเพื่อใช้หนี้แทน นายทองจึงร่วมกันกับนายเงินทําสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวขึ้นมา โดยนายทองลงลายมือชื่อของตนเองในช่องผู้ขายและนายเงินลงลายมือชื่อของตนเองในช่องผู้ซื้อ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันจริงเพียงแต่ทําเอกสารสัญญาซื้อขายไว้หลอกลวงนางเดือนนั้น เป็นกรณีที่นายทองและนายเงินได้ลงลายมือชื่อของตนเองในเอกสารซึ่งบุคคลทั้งสองมีอํานาจที่จะกระทําได้เพราะไม่ได้เอาสิทธิของผู้อื่นมาใช้และไม่ได้ทําในนามของบุคคลอื่น สัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป็นเอกสารที่แท้จริง ของนายทองและนายเงิน มิใช่เอกสารปลอม เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นเอกสารปลอม จะต้องเป็นเอกสารที่ผู้ทําเอกสารไม่มีอํานาจกระทําได้ และได้กระทําขึ้นมาเพื่อแสดงว่าเป็นการกระทําของผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นของผู้ที่ทําเอกสารนั้น และแม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันจริง เพียงแต่ทําเอกสารสัญญาซื้อขายไว้หลอกลวงนางเดือนเท่านั้น ก็เป็นเพียงการทําเอกสารเท็จเท่านั้น ไม่ทําให้เป็นเอกสารปลอมแต่อย่างใด

เมื่อการกระทําของนายทองและนายเงินไม่ใช่เป็นการทําเอกสารปลอม จึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตามาตรา 264 ดังนั้น นายทองและนายเงิน จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264

สรุป นายทองและนายเงินไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264

Advertisement