การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเทพ อายุ 30 ปี เป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ขายแหวนของ ตนเองให้กับนายชาญ โดยขณะที่ขายแหวนดังกล่าว นายเทพมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่นายชาญ ซึ่งเป็นญาติของนายเทพทราบว่านายเทพเป็นคนวิกลจริต ดังนี้ นิติกรรมการขายแหวนของนายเทพ มีผลทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของคนวิกลจริตไว้ว่า “คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อนิติกรรมนั้นได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต ”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ

1.         นิติกรรมนั้นได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และ

2.         คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต
ตามปัญหา การที่นายเทพซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทำนิติกรรมโดยการขายแหวนของตนเองให้กับนายชาญนั้น แม้ว่านายชาญซึ่งเป็นญาติของนายเทพจะได้ทราบว่านายเทพเป็นคนวิกลจริตก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายเทพขายแหวนให้แก่นายชาญนั้น นายเทพ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไม่มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด ดังนั้นนิติกรรมการขายแหวนดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆียะ

สรุป นิติกรรมการขายแหวนของนายเทพมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 นาย ก. ตกลงขายรถยนต์คันหนึ่งให้แก่นาย ข. ในราคา 300,000 บาท โดยตกลงให้นาย ก. ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นาย ข. ในวันที่ 18 ตุลาคม 2555 จากนั้นอีก 2 วัน หลังจากการตกลงซื้อขายรถยนต์นั้น เกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้เคียงบ้านนาย ก. และได้ลุกลามจน ไฟไหม้รถยนต์คันดังกล่าวด้วย ดังนี้ ถามว่า สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผล อย่างไรตามกฎหมายแพ่งลักษณะนิติกรรม เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า

“นิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมบั้นเป็นโมฆะ ”

คำว่า “พ้นวิสัย’’ หมายถึง การใด ๆ ที่ไม่สามารถกระทำได้โดยแน่แท้ และให้หมายความ รวมถึงการทำนิติกรรมที่มุ่งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สิ่ง ๆ นั้นไม่มีตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรม

ตามปัญหา การที่นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์คันหนึ่งให้แก่นาย ข. ในวันที่ 11 ตุลาคม 2555 โดยตกลงให้นาย ก. ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นาย ข. ในวันที่ 18 ตุลาคม 2555 นั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่ได้ตกลง ทำสัญญา1ซื้อขายกันได้ 2 วัน ได้เกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้เคียงบ้านนาย ก. และได้ลุกลามจนไฟไหม้รถยนต์ คันดังกล่าวด้วย จะเห็นได้ว่าในการทำนิติกรรมซื้อขายระหว่างนาย ก. และนาย ข. นั้น สิ่งที่นาย ก. และนาย ข. ได้มุ่งถึง โดยเฉพาะคือรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง และรถยนต์นั้นก็มีตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรม ดังนั้นนิติกรรมซื้อขาย รถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมนั้นจึงมีผลสมบูรณ์

สรุป นิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลสมบูรณ์ เพราะ เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการพ้นวิสัย

 

ข้อ 3. สัญญาซื้อขาย มีกี่ประเภท จงอธิบาย

ธงคำตอบ

สัญญาซื้อขายมี 2 ประเภท ได้แก่ สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และสัญญาจะซื้อจะขาย

1.         สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อก็ได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ ได้ตกลงทำสัญญาซื้อกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือมีการชำระราคากันแล้วหรือไม่

2.         สัญญาจะซื้อจะขาย (หรือสัญญาจะซื้อขาย) คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือ สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนด ไว้ในภายหน้า คือเมื่อได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

ตัวอย่าง นาย ก. ได้ตกลงด้วยวาจากับนาย ข. เจ้าของที่ดินว่านาย ก. จะซื้อที่ดินของนาย ข. หนึ่งแปลงในราคา 1 ล้านบาท และทั้งสองได้ตกลงที่จะไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินในอีก 15 วันข้างหน้า ดังนี้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนาย ก. และนาย ข. นั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย

แต่ถ้านาย ก. ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนาย ข. โดยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขาย กันเอง และตกลงกันว่าจะไม่ไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพราะไม่ต้องการเสียค่าภาษี และค่าธรรมเนียมในการโอน โดยนาย ก. ได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่นาย ข. แล้ว และนาย ข. ก็ได้ส่งมอบโฉนดที่ดิน ให้กับนาย ก. แล้ว ดังนี้ถือว่าทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว ระหว่างนาย ก. และนาย ข. จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

 

ข้อ 4. ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ มีวิธีเขียนและวิธีโอนตั๋วๆ อย่างไรบ้าง จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง ประกอบ

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 และมาตรา 910 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ วิธีการในการเขียนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือไว้ดังนี้ คือ

ในการเขียนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น ถ้าจะให้ตั๋วแลกเงินมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้เขียน ตั๋วแลกเงินจะต้องเขียนให้มีข้อความหรือรายการที่สำคัญ 5 ประการให้ครบถ้วนเสมอ ซึ่งข้อความที่สำคัญ ดังกล่าว ได้แก่

1.         คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน

2.         คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนที่แน่นอน

3.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย

4.         คำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

5.         ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

ถ้าหากผู้เขียนตั๋วแลกเงินได้เขียนโดยมีข้อความที่สำคัญดังกล่าวไม่ครบถ้วน เอกสารนั้นย่อม ไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน

ตัวอย่าง นายหนึ่งต้องการออกตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือเพื่อให้นายสองจ่ายเงินให้แก่นายสาม เป็นจำนวน 100,000 บาท ดังนี้นายหนึ่งก็จะต้องเขียนตั๋วแลกเงินโดยให้มีข้อความที่สำคัญครบทั้ง 5 ประการ ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือจะต้องเขียนคำว่าตั๋วแลกเงินลงไว้ในตั๋ว ระบุชื่อให้นายสองเป็นผู้จ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท แก่นายสามเพียงแต่ไม่ต้องเขียนระบุชื่อนายสามไว้ในตั๋ว แต่เขียนว่าให้นายสองจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และลงลายมือชื่อนายหนึ่งผู้สั่งจ่ายลงไว้ในตั๋วด้วย ดังนี้ตั๋วนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิ

สำหรับวิธีการในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น สามารถโอนให้แก่กับได้โดยการส่งมอบ ตั๋วนั้นให้แก่กัน โดยไม่ต้องมีการสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ซึ่งได้บัญญัติหลักไว้ว่า “ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่กัน”

ตัวอย่าง จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นเมื่อนายสามได้รับตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือที่นายหนึ่งได้ ออกให้แก่ตน ดังนี้ถ้านายสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วนั้นต่อไปให้แก่นายสี่ นายสามย่อมสามารถโอนได้โดย การส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่นายสี่โดยไม่ต้องสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น การโอนตั๋วระหว่างนายสามและนายสี่ก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

Advertisement