การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน

ข้อ1. นายสิทธิ์ อายุ 30 ปี เป็นคนไร้ความสามารถ โดยศาลได้ตั้งนางสวยภริยาเป็นผู้อนุบาล วันหนึ่ง นายสิทธิ์ขายแหวนของตนให้กับนายขาว นางสวยเห็นว่านายสิทธิ์ไม่มีอาการวิกลจริตในขณะขายแหวน นางสวยจึงได้ให้ความยินยอมในการขายแหวนดังกล่าว ต่อมานายสิทธิ์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก ทั้งหมดของตนให้กับนางสวยแต่เพียงผู้เดียว โดยขณะทำพินัยกรรมนายสิทธิ์ไม่มีอาการวิกลจริต แต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นิติกรรมการขายแหวนและพินัยกรรมของนายสิทธิ์มีผลทาง กฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักในการทำนิติกรรมและหลักในการทำพินัยกรรม ของคนไร้ความสามารถไว้ดังนี้คือ

1)         นิติกรรมเด ๆ ซึ่งบุคคลที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง นิติกรรมนั้น ตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 29)

2)         พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 1704)
ตามหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากฎหมายไต้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถกระทำ นิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีการฝ่าฝืนไปกระทำนิติกรรมใด ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะได้กระทำในขณะที่จิตปกติหรือไม่ หรือการทำนิติกรรมนั้นผู้อนุบาลจะได้ให้ความยินยอมหรือไม่ นิติกรรมก็จะตกเป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 29) ส่วน พินัยกรรมนั้น ถ้าคนไร้ความสามารถได้กระทำขึ้นไม่ว่าจะได้กระทำในขณะที่มีอาการวิกลจริตหรือไม่ พินัยกรรมนั้น ก็จะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 1704)
ดังนั้น ตามปัญหา การที่นายสิทธิ์ได้ทำนิติกรรมโดยการขายแหวนของตนให้กับนายขาว แม้ว่า ในขณะทำนิติกรรมนั้น นายสิทธิ์จะไม่มีอาการวิกลจริต และนางสวยซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะได้ให้ความยินยอมด้วยก็ตาม นิติกรรมการขายแหวนดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 29

ส่วนพินัยกรรมซึ่งนายสิทธิ์ได้กระทำขึ้น แม้ในขณะทำพินัยกรรมนายสิทธิ์จะไม่มีอาการวิกลจริต แต่อย่างใด พินัยกรรมดังกล่าวก็มีผลเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1704

สรุป นิติกรรมการขายแหวนของนายสิทธิ์มีผลเป็นโมฆียะ ส่วนพินัยกรรมเป็นโมฆะตามเหตุผล และหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. นิติกรรมอำพรางมีลักษณะและผลบังคับตามกฎหมายระหว่างคู่กรณีอย่างไร อธิบายและยกตัวอย่าง ประกอบ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 บัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ…

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของ กฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”

ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรค 2 ดังกล่าว เป็น บทบัญญัติเรื่องนิติกรรมอำพราง ซึ่งในเรื่อง “นิติกรรมอำพราง” นั้น เป็นเรื่องที่ในระหว่างคู่กรณีได้มีการทำ นิติกรรมขึ้นมา 2 ลักษณะ ได้แก่ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงอันหนึ่ง กับนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ อีกอันหนึ่ง

1.         นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง (นิติกรรมที่เปิดเผย) หมายถึง นิติกรรมที่คู่ กรณีได้ทำขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาให้มีผลใช้บังคับกัน       แต่ได้ทำขึ้นมาเพี่อลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าคู่กรณีได้ตกลง ทำนิติกรรมลักษณะนี้กัน และเพี่อเป็นการอำพรางหรือปกปิดนิติกรรมที่แท้จริงนั่นเอง

2.         นิติกรรมที่ถูกอำพราง หมายถึง นิติกรรมที่แท้จริงของคู่กรณีที่ได้ทำขึ้นมา และต้องการให้มีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้ปกปิดอำพรางไว้ไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นรู้

ตามกฎหมายได้บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ มาใช้บังคับ หมายความว่า ให้คู่กรณีบังคับกันด้วยนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั่นเอง ส่วนนิติกรรมที่เกิดจากการ แสดงเจตนาลวงจะมีผลเป็นโมฆะ

ตัวอย่าง ปู่ได้ยกรถยนต์คันหนึ่งให้แก่หลานที่ชื่อ ก. โดยเสน่หา แต่เกรงว่าหลานคนอื่นรู้จะหาว่าปู่ลำเอียง จึงได้ทำสัญญาชื้อขายกับ ก. ไว้เพื่อลวงหลานคนอื่น ดังนี้นิติกรรมที่จะมีผลใช้บังคับกันระหว่าง ปู่กับหลานที่ชื่อ ก. คือนิติกรรมให้ ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ส่วนนิติกรรมซื้อขายตกเป็นโมฆะเพราะเป็น นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง

 

ข้อ 3. จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความรับผิดในการรอนสิทธิ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความรับผิดในการ

รอนสิทธิ ไว้ดังนี้คือ

1.         ความรับผิดในการรอนสิทธิจะเกิดขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย คือมีบุคคลภายนอกได้มา ก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในการที่จะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข โดยอ้างว่าตนมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ที่ได้ซื้อขายกันนั้นดีกว่าผู้ซื้อ หรืออาจเป็นเพราะความผิดของผู้ขาย ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถครอบครองทรัพย์สิน นั้นได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

2.         ความรับผิดในการรอนสิทธิของผู้ขายนั้น มีได้ทั้งกรณีที่ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นมี การรอนสิทธิไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน

3.         ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อในกรณีที่มีการรอนสิทธิเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้หรือไม่รู้ ถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิที่เกิดขึ้นนั้น

เช่น ก. ได้ขายรถยนต์คันหนึ่งให้ ข. ต่อมา ค. ได้มาเรียกรถยนต์คันดังกล่าวคืนจาก ข. โดย อ้างว่ารถยนต์คันนั้นเป็นของตนและถูกขโมยไป พร้อมแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง ทำให้ ข. ต้องคืนรถยนต์ให้แก่ ค. ดังนี้ถือว่า ข. ผู้ชื้อถูกรอนสิทธิ ซึ่ง ก. ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อ ข. แม้ ก. ผู้ขายจะไม่ได้รู้มาก่อนว่ารถยนต์คันนั้นจะถูกขโมยมาจาก ค. ก็ตาม

4.         ในกรณีที่มีการรอนสิทธิเกิดขึ้น ผู้ขายอาจจะไม่ต้องรับผิดต่อผู้ซื้อก็ได้ ถ้าเข้าข้อยกเว้น ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เช่น

–           ถ้าผู้ซื้อได้รู้ถึงสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้นแล้วในเวลาซื้อขาย หรือ

–           ถ้าเหตุแห่งการรอนสิทธินั้นได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่เหตุแห่งการรอนสิทธินั้น จะได้เกิดขึ้นเพราะ ความผิดของผู้ขาย

 

ข้อ 4. ให้นักศึกษาเลือกทำเพียงข้อเดียว

ก) การเขียนตั๋วแลกเงินมีหลักกฎหมายอย่างไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

หรือ ข) แดงเป็นผู้ทรงเช็คฉบับหนึ่ง เช็คนี้ธนาคารได้รับรองเช็คแล้ว ถ้าแดงนำเช็คไปยื่นกับธนาคาร เพื่อให้ชำระเงิน ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 909 และมาตรา 910 ได้บัญญัติหลักใน การเขียนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้คือ

ในการเขียนตั๋วแลกเงิน ไม่วาจะเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตั๋วแลกเงิน ชนิดผู้ถือนั้น ตั๋วแลกเงินจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้เขียนตั๋วแลกเงินจะต้องเขียนให้มีข้อความหรือรายการที่สำคัญ 5 ประการให้ครบถ้วนเสมอ ได้แก่ข้อความดังต่อไปนี้คือ

1.         คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน

2.         คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนที่แน่นอน

3.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย

4.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

5.         ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

ถ้าหากผู้เขียนตั๋วแลกเงินได้เขียนโดยมีข้อความที่สำคัญดังกล่าวอันใดอันหนึ่งขาดตกบกพร่องไป เอกสารนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน

ตัวอย่าง นายหนึ่งต้องการออกตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้แก่นายสาม 100,000 บาท นายหนึ่ง ก็จะต้องเขียนตั๋วแลกเงินให้มีข้อความที่สำคัญ 5 ประการดังกล่าวข้างต้น โดยนายหนึ่งอาจจะเขียนโดยระบุให้ นายสองจ่ายเงินให้แก่นายสาม (ซึ่งถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ) หรือนายหนึ่งอาจจะเขียนโดยสั่งให้นายสอง ผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือตั๋วแลกเงินก็ได้ (ซึ่งถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ)

ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 993 วรรค 1 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการ รับรองเช็คและผลของการรับรองเช็ค ไว้ว่า “ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคำว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคำใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงิน แก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น”

จากหลักกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า ถ้าธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คได้ลงลายมือชื่อรับรอง เช็คไว้แล้ว ธนาคารผู้รับรองเช็คจะต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องใช้เงินตามเช็คนั้นเสมอ เมื่อผู้ทรงเช็คได้นำเช็คนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค

ดังนั้นเมื่อนายแดงเป็นผู้ทรงเช็คฉบับหนึ่งซึ่งธนาคารได้รับรองเช็คไว้แล้ว นำเช็คนี้ไปยื่นให้ ธนาคารใช้เงินตามเช็ค ธนาคารจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้น จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คไม่ได้

Advertisement