การสอบใส่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ให้ทำทุกข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1. จงอธิบายหลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 32 วรรคแรก มีดังนี้คือ

1.         บุคคลนั้นจะต้องมีเหตุบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

(1)       กายพิการ

(2)       จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(3)       ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ

(4)       ติดสุรายาเมา

(5)       มีเหตุอื่นในทำนองเดียวกันกับ (1) – (4)

2.         บุคคลนั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ เพราะเหตุบกพร่องนั้น หรือจัดทำ การงานได้ แต่จะจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว
3.         ได้มีบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ได้แก่ คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล

4.         ศาลได้มีคำสั่งแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

 

ข้อ 2. กลฉ้อฉลโดยการนิ่งมีองค์ประกอบตามกฎหมายอย่างไร อธิบาย

ธงคำตอบ

ป.พ.พ. มาตรา 162 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง” ซึ่งจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้คือ

1.         จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในนิติกรรมสองฝ่ายที่เรียกว่า สัญญา เท่านั้น

2.         คู่กรณีฝายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงหรือข้อคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ คือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งนั้นได้จงใจหรือตั้งใจที่จะปกปิดข้อความจริงหรือ ข้อคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ตนมีหน้าที่ที่จะต้อง บอกความจริงนั้น

3.         คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งพิสูจน์ได้ว่า ถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้ทำขึ้นเลย

ตัวอย่าง เช่น ในสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตเคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย โรคมะเร็งในเม็ดโลหิตขาว ไม่มีทางรักษา และอาจตายได้ภายใน 7 วัน 6 เดือนหรืออย่างช้า 5 ปี ซึ่งผู้เอาประกันชีวิต มีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงข้อนี้แก่ผู้รับประกันภัย แต่ได้ปกปิดความจริงไม่เปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยได้ทราบ ความจริงนั้น เช่นนี้ ถือว่าผู้เอาประกันชีวิตได้ใช้กลฉ้อฉลแก่ผู้รับประกันภัยแล้ว โดยเป็นการใช้กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง

 

ข้อ 3. นายจันทร์ได้ตกลงด้วยวาจากับนายพุธเจ้าของที่ดินว่า ตกลงจะซื้อขายที่ดินของนายพุธหนึ่งแปลง ในราคา 500,000 บาท และกำหนดจะไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานที่ดินอีกครั้ง ในอีก 15 วันข้างหน้า ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนด 15 วัน นายพุธกลับไม่ยอมไปทำเป็นหนังสือและ จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นนี้ สัญญาจะซื้อขายด้วยวาจาดังกล่าวนี้ มีความสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ และจะสามารถนำไปฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขายได้กำหนดแบบของสัญญาซื้อขายไว้ว่า “สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก)

แบบของสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้น หมายความถึง เฉพาะการทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษเท่านั้น ที่กฎหมายได้กำหนดว่าจะต้องทำเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ ดังนั้นถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ จึงไม่ต้องกระทำตามแบบแต่อย่างใด คู่สัญญาอาจจะตกลงทำ สัญญาจะซื้อขายกันด้วยวาจาหรือจะทำเป็นหนังสือสัญญากันก็ได้ สัญญาจะซื้อขายนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตาม กฎหมายเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาจะซื้อขายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า “สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษจะฟ้องร้องบังคับคดีกัน ได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1.         มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2.         มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ

3.         มีการชำระหนี้บางส่วน”

ดังนั้น การที่นายจันทร์กับนายพุธได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันด้วยวาจา สัญญาจะซื้อขาย ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนด 15 วันตามที่ตกลงกันนั้น นายพุธกลับไม่ยอม ไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายจันทร์ ดังนี้นายจันทร์ก็ไม่สามารถนำสัญญาจะซื้อขายนั้น ไปฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนายพุธ แม้จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ไม่มีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อที่จะนำไปใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกัน

สรุป สัญญาจะซื้อขายด้วยวาจาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถนำไปฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. ป.พ.พ. มาตรา 949 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลา ถึงกำหนดย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่า ได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อย ไม่ขาดสาย แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง” ท่านเข้าใจว่าอย่างไร จงอธิบาย หลักกฎหมาย และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 949 นั้น เป็นเรื่องของการใช้เงินตามตั๋วเงินเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ถึงกำหนด เวลาใช้เงิน ซึ่งถ้าบุคคลที่มีหน้าที่ในการใช้เงินได้ใช้เงินไปถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก็จะหลุดพ้น จากความรับผิดตามตั๋วเงิน คือ ไม่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นอีกเลย

ตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นั้น สามารถแยกออกได้ 2 กรณี คือ

1.         ถ้าเป็นกรณีที่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงินตามตั๋ว เช่น ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค เป็นต้น กฎหมายได้บัญญัติให้ใช้มาตรา 1009 บังคับ จะไม่ใช้มาตรา 949 บังคับ

2.         ถ้าเป็นกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ธนาคารเป็นผู้ใช้เงิน เช่น ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน เป็นต้น ดังนี้กฎหมายให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 949 บังคับ

และตามบทบัญญัติของมาตรา 949 นี้ หมายความว่า บุคคลผู้ใช้เงินตามตั๋วเงินจะหลุดพ้น จากความรับผิดได้นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้คือ

1.         จะต้องได้ใช้เงินไปเมื่อตั๋วนั้นถึงกำหนดเวลาใช้เงินแล้ว

2.         จะต้องเป็นการใช้เงินไปโดยสุจริต กล่าวคือ มิได้ทำการฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และ

3.         ได้พิสูจน์ให้เห็นจริงว่า ตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย แต่ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของบรรดาผู้สลักหลังแต่อย่างใด

ตัวอย่าง ดำออกตั๋วแลกเงินสั่งให้แดงจ่ายเงินให้แก่ขาวจำนวน 100,000 บาท ต่อมาได้มีการ โอนตัวแลกเงินฉบับนี้โดยการสลักหลังและส่งมอบทุกครั้ง จนกระทั่งตั๋วฉบับนี้ได้มาอยู่ในความครอบครอง ของเหลืองซึ่งเป็นผู้ทรง ดังนั้นแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการสลักหลังครั้งหนึ่งจะเป็นการสลักหลังปลอมก็ตาม เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงิน เหลืองได้นำตั๋วไปยื่นให้แดงจ่ายเงิน และแดงได้จ่ายเงินให้แก่เหลืองไปแล้วโดยถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแดงก็ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วเงินไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 949

Advertisement