การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายหมากเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ วันหนึ่งนายหมากให้นาฬิกาของตนแก่นายเดชซึ่งเป็นน้องชาย โดยในขณะนั้นนายหมากมีจิตปกติ ไม่ได้มีอาการวิกลจริต แต่ นายเดชทราบดีว่านายหมากเป็นคนวิกลจริต ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านิติกรรมการให้นาฬิกาของนายหมากแก่นายเดชมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทํานิติกรรมของ คนวิกลจริตไว้ว่า “คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆยะก็ต่อเมื่อนิติกรรมนั้นได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆยะก็ต่อเมื่อ

1 นิติกรรมนั้นได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และ

2 คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทํานิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายหมากซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทํานิติกรรมโดยการให้นาฬิกาของตนแก่นายเดชซึ่งเป็นน้องชายนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายหมากได้ให้ นาฬิกาแก่นายเดชนั้น นายหมากมีจิตปกติ ไม่ได้มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด ดังนั้นแม้นายเดชจะทราบดีว่า นายหมากเป็นคนวิกลจริตก็ตาม นิติกรรมการให้นาฬิกาของนายหมากแก่นายเดชก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ ตกเป็นโมฆียะ

สรุป นิติกรรมการให้นาฬิกาของนายหมากแก่นายเดชมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ข้อ 2. การแสดงเจตนาซ่อนเร้น มีความหมายว่าอย่างไร และมีผลตามกฎหมายอย่างไร จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า “การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้มีเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม ก็ไม่เป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้น ตกเป็นโมฆะ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันแท้จริงที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว “การแสดงเจตนาซ่อนเร้น” หมายถึง การแสดงเจตนาที่ผู้แสดงเจตนา ได้แสดงเจตนาออกมาไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงที่อยู่ภายในใจของผู้แสดงเจตนา กล่าวคือผู้แสดงเจตนามีเจตนา อย่างหนึ่ง แต่ได้แสดงเจตนาออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดยผู้แสดงเจตนามิได้ต้องการให้ตนมีผลผูกพันกับนิติกรรม หรือเจตนาที่ได้แสดงออกมานั้นแต่อย่างใด

โดยหลักของกฎหมาย (ป.พ.พ. มาตรา 154) การแสดงเจตนาซ่อนเร้นหรือการแสดงเจตนาที ไม่ตรงกับเจตนาอันแท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายในใจนั้น จะไม่ทําให้เจตนาที่แสดงออกมานั้นตกเป็นโมฆะ กล่าวคือ นิติกรรม หรือการแสดงเจตนานั้นยังคงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และทําให้ผู้แสดงเจตนาจะต้องผูกพันกับการแสดงเจตนา ของตนด้วย เว้นแต่ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันแท้จริงที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น ดังนี้ย่อมทําให้การ แสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะ และทําให้ผู้แสดงเจตนาไม่ต้องผูกพันกับการแสดงเจตนาของตนแต่อย่างใด

ตัวอย่าง เช่น แดงบอกกับดำว่าตนประสงค์จะขายรถยนต์ของตนในราคา 300,000 บาท ดําซึ่งอยากจะยืมรถยนต์ของแดงมาขับเล่นสัก 2 – 3 วัน แต่ถ้าบอกแดงว่ายืมแดงคงจะไม่ให้ยืม ดําจึงบอกกับแดง ว่าตนขอซื้อรถยนต์คันนั้น และขอรับมอบรถยนต์ไปก่อนแล้วจะนําเงินมาชําระให้แดงสายใน 3 วัน แดงตกลงจึง ได้ส่งมอบรถยนต์ให้กับดําไป เมื่อดํานํารถยนต์ไปขับได้ 3 วัน จึงได้นํารถยนต์มาคืนให้แก่แดง และบอกกับแดงว่า จริง ๆ แล้วตนมิได้ประสงค์จะซื้อรถยนต์ของแดงแต่อย่างใดเพียงแต่ต้องการยืมไปขับเล่นเท่านั้น

กรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การแสดงเจตนาของดําซึ่งได้แสดงเจตนาออกมาว่าจะซื้อรถยนต์ ของแดงโดยที่เจตนาอันแท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายในใจของดําคือต้องการยืมนั้น แม้เจตนาที่ได้แสดงออกมาจะไม่ตรง กับเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในใจ ก็ไม่ทําให้การแสดงเจตนาที่ได้แสดงออกมาคือการแสดงเจตนาว่าจะซื้อรถยนต์ของ แดงนั้นตกเป็นโมฆะ ดังนั้น นิติกรรมในรูปของสัญญาซื้อขายรถยนต์จึงเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์ ดําจึงต้องผูกพัน กับการแสดงเจตนาของตน คือต้องชําระราคาค่ารถยนต์ให้แก่แดง จะอ้างว่าตนต้องการทําสัญญายืมมิได้ต้องการ ทําสัญญาซื้อขายกับแดงไม่ได้

แต่ถ้าตามตัวอย่างนั้น แดงได้รู้อยู่แล้วว่าไม่ต้องการซื้อรถยนต์ของตนแต่ต้องการเอารถยนต์ ของตนไปขับเล่นเท่านั้น คือแดงได้รู้ถึงเจตนาอันแท้จริงที่อยู่ภายในใจของดํา ดังนี้ถือว่าการแสดงเจตนาของดํา ทีว่าจะซื้อรถยนต์ของแดงนั้น ย่อมตกเป็นโมฆะ และไม่ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นดําจึงไม่ต้อง ชําระราคาค่ารถยนต์ให้แก่แดง

 

ข้อ 3. นายเมฆทําสัญญาซื้อขายโต๊ะกับนายหมอกจํานวน 500 ตัว ราคาตัวละ 2,000 บาท พอถึงกําหนดวันส่งมอบ นายหมอกนําโต๊ะมาส่งมอบให้นายเมฆจํานวน 500 ตัว และเก้าอี้จํานวน 500 ตัว นายเมฆ ก็ยอมรับมอบทั้งโต๊ะและเก้าอี้ไว้โดยไม่อิดเอื้อน และใช้ราคาทั้งโต๊ะและเก้าอี้ให้แก่นายหมอก ดังนี้

นายเมฆสามารถรับมอบโต๊ะและเก้าอี้จากนายหมอกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 465 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับหน้าที่และ ความรับผิดของผู้ขายในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ได้สัญญไว้ หรือระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ในข้อสัญญา ไว้ดังนี้คือ

(1) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะบอกปัดไม่รับเอาทรัพย์สิน เก็ได้ หรือจะรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(2) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้เฉพาะ ที่ตกลงไว้ในสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสียทั้งหมดก็ได้ หรือจะรับเอาไว้ทั้งหมด แล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(3) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ใน ข้อสัญญา ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะทรัพย์สินตามสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสีย ทั้งหมดก็ได้ แต่จะรับทรัพย์สินที่มิได้ระบุไว้ในสัญญามิได้

กรณีตามปัญหา การที่นายเมฆทําสัญญาซื้อขายโต๊ะกับนายหมอกจํานวน 500 ตัว ราคาตัวละ 2,000 บาท พอถึงกําหนดวันส่งมอบ นายหมอกได้นําโต๊ะมาส่งมอบให้นายเมฆจํานวน 500 ตัว และเก้าอี้จํานวน 500 ตัวนั้น กรณีดังกล่าวถือได้ว่านายหมอกผู้ขายมิได้ปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือได้ส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้ สัญญาไว้ระคนปนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ในข้อสัญญา ดังนั้นนายเมฆผู้ซื้อย่อมมีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 465 (3) คือ มีสิทธิที่จะรับเอาไว้เฉพาะโต๊ะ 500 ตัว ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาและบอก ปัดไม่รับมอบเก้าอี้ 500 ตัวนั้น หรือจะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบทั้งโต๊ะ 500 ตัว และเก้าอี้ 500 ตัวนั้นทั้งหมดก็ได้ แต่จะรับมอบทั้งโต๊ะและเก้าอี้ทั้งหมดไว้ไม่ได้ แม้ว่านายเมฆจะใช้ราคาทั้งโต๊ะและเก้าอี้ให้แก่นายหมอกด้วยก็ตาม เพราะเก้าอี้เป็นทรัพย์สินที่มิได้ระบุไว้ในสัญญา

สรุป

นายเมฆสามารถรับมอบและใช้ราคาได้เฉพาะโต๊ะจํานวน 500 ตัว เท่านั้น จะรับมอบ เก้าอี้จํานวน 500 ตัวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มิได้ระบุไว้ในสัญญาไม่ได้

 

ข้อ 4. (ก) ตั๋วแลกเงินโอนให้กันได้วิธีใด จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง และ

(ข) เช็คที่ธนาคารได้รับรองเช็คแล้ว ธนาคารจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินได้บัญญัติถึงวิธีโอนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้ คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก)

2 ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กัน (มาตรา 918)

3 การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของ ผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอย ก็ได้ (มาตรา 919)

จากหลักกฎหมายดังกล่าว การโอนตั๋วแลกเงินให้แก่กันนั้น จะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมาย ได้กําหนดไว้ ดังนี้คือ

1 ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) การโอนย่อมสามารถทําได้ โดยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก) หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลัง และส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้

 

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตัวก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตัวแลกเงินเท่านั้น (มาตรา 919 วรรคสอง)

ตัวอย่าง หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินให้แก่สาม โดยระบุชื่อสามเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปให้ ก. สามจะต้องลงลายมือชื่อของสามสลักหลังไว้ด้วย โดยสามอาจจะระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังลงไว้ในตัวด้วยซึ่งเรียกว่า การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือสามอาจจะ ลงแต่ลายมือชื่อของสามไว้ที่ด้านหลังของตัวแลกเงินนั้น โดยไม่ระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังไว้ในตัวซึ่งเรียกว่าเป็น การสลักหลังลอยก็ได้

2 ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ การโอนถั่วชนิดนี้ย่อมสามารถทําได้โดยการ ส่งมอบตั๋วแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีการสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น (มาตรา 918)

ตัวอย่าง หนึ่งออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และส่งมอบตัวนั้นให้แก่สาม ดังนี้ ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ให้แก่ ก. สามสามารถโอนได้โดยการส่งมอบตัวให้แก่ ก. โดย ที่สามไม่ต้องลงลายมือชื่อสลักหลังตัว การโอนตัวดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์

 

(ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 993 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการรับรองเช็ค และผลของการรับรองเช็คไว้ว่า “ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคําว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคําใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรง ตามเช็คนั้น”

จากหลักกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า ถ้าธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คได้ลงลายมือชื่อรับรอง เช็คไว้แล้ว ธนาคารผู้รับรองเช็คจะต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องใช้เงินตามเช็คนั้นเสมอ เมื่อ ผู้ทรงเช็คได้นําเช็คนั้นมายืนเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค ธนาคารจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คไม่ได้เลย

สรุป

เช็คที่ธนาคารได้รับรองเช็คแล้ว ธนาคารจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินไม่ได้

Advertisement