การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยสวน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายสุดหล่อ อายุ 25 ปี เป็นคนวิกลจริตซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยมีนางสุดสวยเป็นผู้อนุบาล วันหนึ่งนายสุดหล่อซื้อรถยนต์จากนางสุดสวาท อายุ 28 ปี ในราคา 1,000,000 บาท โดยในขณะที่นายสุดหล่อซื้อรถยนต์จากนางสุดสวาท นายสุดหล่อไม่มีอาการวิกลจริต และนางสุดสวาท ไม่ทราบว่านายสุดหล่อเป็นคนไร้ความสามารถ อีกทั้งนายสุดหล่อยังได้รับความยินยอมจาก นางสุดสวยผู้อนุบาลให้ซื้อรถยนต์จากนางสุดสวาทได้ ดังนี้ นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายสุดหล่อกับนางสุดสวาทจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 29 บัญญัติว่า “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

ตามหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถ กระทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น นิติกรรมที่เกี่ยวกับคนไร้ความสามารถจะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทําแทน ในกรณีที่ คนไร้ความสามารถได้มีการฝ่าฝืนไปกระทํานิติกรรมใด ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะได้กระทําในขณะที่จิตปกติหรือไม่ หรือ การทํานิติกรรมนั้นผู้อนุบาลจะได้ให้ความยินยอมหรือไม่ นิติกรรมก็จะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายสุดหล่ออายุ 25 ปี ซึ่งเป็นคนวิกลจริตและศาลได้สั่งให้เป็นคน ไร้ความสามารถโดยมีนางสุดสวยเป็นผู้อนุบาล ได้ไปทําสัญญาซื้อรถยนต์จากนางสุดสวาท อายุ 28 ปี ในราคา 1,000,000 บาทนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าในขณะที่นายสุดหล่อทํานิติกรรมซื้อรถยนต์จากนางสุดสวาทนั้น นายสุดหล่อจะไม่มีอาการวิกลจริต และนางสุดสวาทไม่ทราบว่านายสุดหล่อเป็นคนไร้ความสามารถ อีกทั้งในการทํา นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวนายสุดหล่อยังได้รับความยินยอมจากนางสุดสวยผู้อนุบาลก็ตาม ก็ถือว่า การทํานิติกรรม ซื้อขายรถยนต์ของนายสุดหล่อนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 29 ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ ระหว่างนายสุดหล่อกับนางสุดสวาทจึงมีผลเป็นโมฆียะ

สรุป นิติกรรมการซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายสุดหล่อกับนางสุดสวาทมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์ของตนคันหนึ่งเลขทะเบียน กท 9999 ให้แก่นาย ข. ในราคา 3,000,000 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ เสียหายไปหมดทั้งคันตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 โดยที่นาย ก. และนาย ข. มิได้รู้แต่ประการใด

ดังนี้ สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า

“นิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ”

คําว่า “พ้นวิสัย” หมายถึง การใด ๆ ที่ไม่สามารถกระทําได้โดยแน่แท้ และให้หมายความ รวมถึงการทํานิติกรรมที่มุ่งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สิ่ง ๆ นั้นไม่มีตัวตนอยู่ในขณะทํานิติกรรม

ตามปัญหา การที่นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน กท 9999 ของตนให้แก่ นาย ข. ในวันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ เสียหายไปหมดทั้งคันตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 จึงถือว่าสิ่งที่นาย ก. และนาย ข. ได้มุ่งถึงโดยเฉพาะจากการ ทํานิติกรรมคือรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในขณะทํานิติกรรม ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ ดังกล่าวถือว่าเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมจึงมีผลเป็นโมฆะ

สรุป

นิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลเป็นโมฆะ เพราะ มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย

 

ข้อ 3. นายมะนาวตกลงทําสัญญาซื้อขายที่ดินของนายมะม่วงจํานวน 100 ตารางวา ราคาตารางวาละ 50,000 บาท โดยทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายมะม่วงส่งมอบที่ดิน ให้นายมะนาวจํานวน 103 ตารางวา นายมะนาวจึงปฏิเสธที่จะไม่รับมอบที่ดินจากนายมะม่วง

ดังนี้ นายมะนาวจะปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินจากนายมะม่วงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 466 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า

“ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าได้มีการระบุจํานวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายได้ส่งมอบ ทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อน้อยกว่าหรือมากไปกว่าที่ได้ตกลงทําสัญญาไว้ ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิที่จะบอกปัดเสียหรือจะรับเอาไว้ และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก

แต่ถ้าจํานวนส่วนที่ขาดตกบกพร่องหรือส่วนที่เกินนั้นมีจํานวนไม่มากกว่าร้อยละ 5 ของเนื้อที่ ทั้งหมดที่ได้ระบุไว้ ผู้ซื้อจะต้องรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนจะบอกปัดไม่รับไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามปัญหา การที่นายมะนาวได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายที่ดินของนายมะม่วงจํานวน 100 ตารางวา นั้น ถือว่าเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มีการระบุจํานวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ ดังนั้นโดยหลักแล้วเมื่อนายมะม่วง ได้ส่งมอบที่ดินให้นายมะนาวมีจํานวนเนื้อที่เกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ นายมะนาวผู้ซื้อย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบ ที่ดินจากนายมะม่วงได้ หรือนายมะนาวจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมะม่วงได้ส่งมอบที่ดินให้แก่นายมะนาวมีจํานวน เนื้อที่ 103 ตารางวา ซึ่งเกินกว่าที่ตกลงกันแต่จํานวนส่วนที่เกินไปนั้นมีจํานวนเพียง 3 ตารางวา ซึ่งเป็นจํานวนที่ ไม่มากกว่าร้อยละ 5 ของจํานวนเนื้อที่ทั้งหมดที่ตกลงกัน ดังนั้นกรณีนี้นายมะนาวจึงต้องรับเอาไว้และใช้ราคา ตามส่วน จะบอกปัดไม่รับไม่ได้

สรุป

นายมะนาวจะปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินจากนายมะม่วงไม่ได้

 

ข้อ 4. นางแย้มสั่งจ่ายเช็คธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) จํานวน 100,000 บาท แล้วส่งมอบให้แก่นางเย็นเพื่อเป็นของขวัญวันเกิด โดยหลังจากที่นางเย็นได้รับเช็คฉบับดังกล่าวมาแล้วก็นําไปเก็บไว้ จนหลงลืมมิได้นําไปยื่นให้ธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ใช้เงินตามเช็คให้ จนเวลาล่วงเลยไป หนึ่งปีเศษนับแต่วันที่ที่ลงไว้ในเช็ค นางเย็นจึงนําเช็คไปยื่นให้ธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ชําระเงินให้ในกรณีนี้หากเงินในบัญชีของนางแย้มที่สั่งจ่ายเช็คไปนั้นยังมีเพียงพอที่จะชําระให้แก่ นางเย็นได้ ธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) จะสามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าว ให้แก่นางเย็นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 991 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการใช้เงินตามเช็ค ของธนาคารไว้ว่า “ธนาคารจําต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ธนาคารมีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คได้ คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจายตามเช็คนั้น หรือ

(2) เช็คนั้นได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ

(3) ได้มีคําบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป”

วินิจฉัย

ตามปัญหา การที่นางแย้มได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) จํานวน 100,000 บาท แล้วส่งมอบให้แก่นางเย็น และนางเย็น ด้นําเช็คไปเก็บไว้จนหลงลืมมิได้นําเช็คไปยื่นให้ธนาคารฯ ใช้เงินตามเช็ค จนเวลาล่วงเลยไปหนึ่งปีเศษนับแต่วันที่ที่ลงไว้ในเช็คนั้น เมื่อต่อมานางเย็นได้นําเช็คไปยื่นให้ธนาคารฯใช้เงิน ตามเช็คย่อมถือว่าเป็นการนําเช็คไปยื่นให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค (วันที่ที่ลงไว้ในเช็ค) แล้ว ดังนั้น แม้ว่าเงินในบัญชีของนางแย้มผู้สั่งจ่ายเช็คจะยังมีเพียงพอที่จะให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คได้ก็ตาม ธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ก็สามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นางเย็นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 (2)

สรุป

ธนาคาร กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าว ให้แก่นางเย็นได้

 

Advertisement