การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายหลักเกณฑ์ที่บุคคลใดจะเป็นคนสาบสูญมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

ป.พ.พ. มาตรา 61 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญไว้ดังนี้ คือ

1 บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลา 5 ปีในกรณีธรรมดา โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีผู้ได้พบเห็น หรือ นับตั้งแต่วันที่บุคคลนั้นได้จากภูมิลําเนาไป หรือนับแต่วันที่ได้รับข่าวคราวของบุคคลนั้น ในครั้งหลังสุดเป็นต้นไป แต่ถ้าเป็นกรณีพิเศษให้นับระยะเวลาเพียง 2 ปี โดยให้เริ่มนับดังนี้คือ 1) ให้เริ่มนับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นได้ไปอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2) ให้เริ่มนับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

3) ให้เริ่มนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน 1) หรือ 2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

2 ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาล เพื่อสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญและ

3 ศาลได้มีคําสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้ว ก็ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย เมื่อครบ กําหนดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งศาลได้มีคําสั่ง ให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกําหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61”

 

ข้อ 2. นาย ก. ได้เอาเข็มขัดทองแดงมาขายให้นาย ข. โดยบอกว่าเป็นวัตถุที่มีทองคําเจือปน ข้อเท็จจริงไม่มีทองคําดังที่นาย ก. อ้าง ถ้านาย ข. หลงเชื่อและซื้อไป ต่อมาได้รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนี้ นาย ข. บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทําขึ้น”

นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล และจะตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้อง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1 มีการใช้อุบายหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการแสดงข้อความให้ผิดต่อความจริง

2 ได้กระทําโดยจงใจเพื่อหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น

3 การใช้อุบายหลอกลวงนั้นจะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น คงจะมิได้กระทําขึ้น

ตามปัญหา การที่นาย ข. ได้ซื้อเข็มขัดทองแดงจากนาย ก. นั้น นิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขาย ดังกล่าวเป็นโมฆียะ ซึ่งนาย ข. สามารถบอกเลิกสัญญาได้ เพราะเป็นนิติกรรมที่นาย ข. ได้แสดงเจตนาเนื่องจาก ถูกนาย ก. ใช้กลฉ้อฉลตามมาตรา 159 คือ การที่นาย ก. ได้หลอกลวงนาย ข. ว่าเข็มขัดเส้นนั้นเป็นวัตถุที่มีทองคํา เจือปน แต่ข้อเท็จจริงไม่มีทองคําตามที่นาย ก. อ้างแต่อย่างใด และการใช้อุบายหลอกลวงดังกล่าวถึงขนาดทําให้ นาย ข. หลงเชื่อและซื้อเข็มขัดเส้นนั้นจากนาย ก.

สรุป

สัญญาซื้อขายเป็นโมฆยะ นาย ข. บอกเลิกสัญญาได้

 

ข้อ 3. นายดําตกลงซื้อไข่เป็ดของนายแดงจํานวน 500 ฟอง เป็นเงิน 2,000 บาท โดยนายแดงจะนําไข่เป็ดนั้นมาส่งมอบให้แก่นายดําที่บ้านในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าในเวลาที่นายแดงมาส่งมอบไข่ที่ ตกลงซื้อกันไว้นั้น กลับพบว่ามีทั้งไข่ไก่และไข่เป็ดระคนปนกันมาจํานวน 500 ฟอง นายดําจึงปฏิเสธ ที่จะรับมอบไข่ดังกล่าวทั้งหมด รวมทั้งปฏิเสธที่จะชําระราคาค่าไข่เป็ดแก่นายแดง เช่นนี้นักศึกษา จงวินิจฉัยว่านายดํามีสิทธิตามกฎหมายที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไข่ที่นายแดงนํามาส่งมอบ ทั้งหมดและไม่ชําระราคาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 465 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับหน้าที่และความ รับผิดของผู้ขายในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ หรือ ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ในข้อสัญญา ไว้ดังนี้คือ

(1) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะบอกปัดไม่รับเอาทรัพย์สินนั้น ก็ได้ หรือจะรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(2) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้เฉพาะที่ ตกลงไว้ในสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเลยก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสียทั้งหมดก็ได้ หรือจะรับเอาไว้ทั้งหมดแล้ว ใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(3) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ใน ข้อสัญญา ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะทรัพย์สินตามสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสีย ทั้งหมดก็ได้

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายดําได้ตกลงซื้อไข่เป็ดจากนายแดง ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายสังหาริมทรัพย์ เมื่อนายแดงผู้ขายได้ส่งมอบไข่ไก่ระคนปนกันมากับไข่เป็ด ดังนี้ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คือมีสิทธิที่จะรับเอาไว้เฉพาะไข่เป็ดซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและบอกปัดไม่รับมอบไข่ไก่ หรือจะ ปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไข่ไก่และไข่เป็ดนั้นทั้งหมดตลอดจนไม่ชําระราคาค่าไข่นั้นก็ได้

สรุป นายดํามีสิทธิตามกฎหมายที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไข่ที่นายแดงนํามาส่งมอบทั้งหมด และไม่ชําระราคาได้ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. อัคนีสั่งจ่ายเช็คจํานวน 100,000 บาท ระบุอุบลเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคําว่า “ หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และส่งมอบให้อุบลเพื่อชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีต่อกัน หากต่อมาอุบลต้องการจะ โอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ทิพอาภา อุบลจะต้องกระทําการโอนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการโอนเช็ค ฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 918 บัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

ตามหลักกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า ตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือนั้น ถ้าจะมีการโอน ให้แก่กัน การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตั๋วเงินให้แก่กันเท่านั้นไม่ต้องมีการสลักหลังแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริง เช็คที่อัคนีสั่งจ่ายระบุชื่ออุบลเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ใน เช็คออก ถือว่าเป็นเช็คแบบระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ดังนั้นหากต่อมาอุบลต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่ ทิพอาภา อุบลสามารถโอนได้โดยการส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ทิพอาภาเท่านั้นโดยไม่ต้องสลักหลัง ก็ถือว่าการโอนเช็ค ดังกล่าวเป็นการโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

อุบลจะต้องกระทําการโอนด้วยการส่งมอบเช็คให้แก่ทิพอาภาเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็น การโอนเซ็คโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement