การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายชาติเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ศาลได้ตั้งนางก้อยซึ่งเป็นมารดาของนายชาติเป็นผู้อนุบาล วันหนึ่งนายชาติให้แหวนของตนแก่นายวีระที่เป็นญาติกัน โดยนางก้อย ได้ให้ความยินยอมในการให้แหวนดังกล่าว

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นิติกรรมการให้แหวนของนายชาติแก่นายวีระมีผลทางกฎหมายอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 29 บัญญัติว่า “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

ตามหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถ กระทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีการฝ่าฝืนไปกระทํานิติกรรมใด ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะได้กระทําในขณะที่จิตปกติหรือไม่ หรือการทํานิติกรรมนั้นผู้อนุบาลจะได้ให้ความยินยอมหรือไม่ นิติกรรมก็จะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายชาติซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทํา นิติกรรมโดยการให้แหวนของตนแก่นายวีระที่เป็นญาติกันนั้น แม้นายชาติจะได้ทํานิติกรรมการให้ดังกล่าว โดยนางก้อยมารดาของนายชาติที่ศาลได้ตั้งให้เป็นผู้อนุบาลของนายชาติได้ให้ความยินยอมในการให้แหวนดังกล่าว ก็ตาม นิติกรรมการให้แหวนของนายชาติแก่นายวีระก็มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

นิติกรรมการให้แหวนของนายชาติแก่นายวีระมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2. นายเมฆเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ซึ่งนายหมอกต้องการซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายเมฆนายหมอกจึงข่มขู่นายเมฆว่า ถ้าไม่ยอมขายที่ดินแปลงนี้ให้ นายหมอกจะเปิดเผยความลับของ นายเมฆให้คนอื่นทราบ นายเมฆไม่กลัวที่นายหมอกข่มขู่ แต่ยอมขายที่ดินให้เพราะสงสารนายหมอก ดังนี้ การแสดงเจตนาเข้าทําสัญญาระหว่างนายเมฆและนายหมอก เป็นการแสดงเจตนาอย่างไรและมีผลในทางกฎหมายอย่างไร ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 164 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทําให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทําขึ้น”

“การข่มขู่” คือการใช้อํานาจบังคับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของบุคคลอื่น เพื่อให้เขาแสดงเจตนาทํานิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ โดยอาจจะข่มขู่ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นภัย แก่ผู้ถูกข่มขู่ หรือแก่สกุลผู้ถูกข่มขู่ หรืออาจจะเป็นความเสียหายเป็นภัยแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขู่ก็ได้

และตามกฎหมาย ถ้าการข่มขู่นั้นเป็นการข่มขู่ว่าจะก่อให้เกิดภัยที่ร้ายแรงทําให้ผู้ถูกข่มขู่กลัว และยอมทํานิติกรรมตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ นิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 164

ตามปัญหา การที่นายหมอกต้องการซื้อที่ดินของนายเมฆ นายหมอกจึงได้ข่มขู่นายเมฆว่า ถ้าไม่ยอมขายที่ดินแปลงนี้ให้จะเปิดเผยความลับของนายเมฆให้คนอื่นทราบนั้น การกระทําของนายหมอกถือว่า เป็นการข่มขู่นายเมฆแล้ว เพราะเป็นการใช้อํานาจบังคับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่จิตใจของนายหมอก

การแต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายหมอกข่มขู่นายเมฆดังกล่าวนั้น ไม่ได้ทําให้ นายเมฆเกิดความกลัวต่อสิ่งที่นายหมอกข่มขู่แต่อย่างใด แต่ที่นายเมฆได้ขายที่ดินให้แก่นายหมอกนั้นเป็นเพราะ นายเมฆสงสารนายหมอก จึงถือว่า การที่นายเมฆได้ขายที่ดินให้แก่นายหมอกนั้น เป็นการแสดงเจตนาทํานิติกรรม ของนายเมฆเอง มิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่นายหมอกข่มขู่แต่อย่างใด ดังนั้น การแสดงเจตนาขายที่ดินของนายเมฆ จึงเป็นการแสดงเจตนาที่ถูกต้องสมบูรณ์ และสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์

สรุป

การแสดงเจตนาเข้าทําสัญญาระหว่างนายเมฆและนายหมอก เป็นการแสดงเจตนา ที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีผลทําให้สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 3. นายเอกและนายโทตกลงทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งของนายโทในราคาหนึ่งล้านบาท นายเอกชําระเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้นายโทและนายโทได้ส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเอง โดยทั้งสองตกลงกันว่าจะไม่ไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินที่นายเอกและนายโทตกลงทํากันนี้เป็นสัญญาซื้อขาย ประเภทใด และกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นของใคร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 453 บัญญัติว่า “อันว่าซื้อขายนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อ ตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย”

และมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ท่านว่าเป็นโมฆะ…”

ตามปัญหา การที่นายเอกกับนายโทตกลงทําสัญญาซื้อขายที่ดินของนายโทในราคาหนึ่งล้านบาท นั้น ข้อตกลงระหว่างนายเอกกับนายโทดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 และการที่นายเอก และนายโทได้ตกลงกันว่าจะไม่ไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ถือได้ว่าทั้งสองได้ทํา สัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นสัญญาระหว่างนายเอกและนายโทจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และคู่กรณีไม่มีเจตนาที่จะไปกระทำตามแบบคือไปทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหน้าแต่อย่างใด

และแม้ว่าในการทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้น นายเอกจะได้ชําระเงินค่าที่ดินทั้งหมด นายโทและนายโทจะได้ส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเอกแล้วก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายนั้นเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์ แต่คู่กรณีไม่ได้กระทําให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ คือไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเอกและนายโท จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 455 วรรคหนึ่ง

และเมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังไม่โอนไปเป็น ของนายเอก ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายโท

สรุป

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่มีผล เป็นโมฆะ และกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่โอนไปเป็นของนายเอก ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายโท

 

ข้อ 4. สุดหล่อเขียนเช็คฉบับหนึ่งสังธนาคารกรุงไทย สาขาสยามสแควร์จ่ายเงินแก่สุดสวย สุดสวยรับเช็คมาแล้วขอให้สุดหล่อช่วยพาไปที่ธนาคารด้วย เมื่อถึงธนาคาร สุดสวยยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้จ่ายเงิน สุดหล่อยืนดูเป็นลมตายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคาร ดังนี้ ธนาคารต้องจ่ายเงินตามเช็คให้แก่สุดสวยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 992 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า“หน้าที่และอํานาจของธนาคารซึ่งจะต้องใช้เงินตามเช็คที่นํามาเบิกแก่ตนนั้น ย่อมเป็นอัน สิ้นสุดลงเมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1 มีคําบอกห้ามการใช้เงิน

2 ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย

3 ธนาคารรู้ว่าศาลได้มีคําสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคําสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคําสั่งเช่นนั้น”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า โดยหลักแล้วธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็ค ที่ผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คเพื่อนํามาเบิกแก่ตน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 992 ที่ธนาคาร จะต้องงดจ่ายเงินโดยเด็ดขาด ถ้าธนาคารได้จ่ายเงินไปก็ไม่มีอํานาจที่จะไปหักเงินในบัญชีผู้สั่งจ่ายได้

ตามปัญหา การที่สุดหล่อผู้สั่งจ่ายได้เขียนเช็คฉบับหนึ่งและสั่งให้ธนาคารฯ จ่ายเงินแก่สุดสวย และในขณะที่สุดสวยยืนเช็คแก่ธนาคารฯ เพื่อให้จ่ายเงินนั้น สุดหล่อซึ่งได้ไปกับสุดสวยและยืนดูอยู่ด้วยเป็นลมตาย ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ดังนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารได้รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย ก็ถือว่าธนาคารฯ ได้รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตายด้วย ดังนั้นธนาคารฯ จะต้องงดจ่ายเงินตามเช็คนั้น เพราะหน้าที่และอํานาจ ในการจ่ายเงินตามเช็คของธนาคารฯ ได้สิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา 992 (2)

สรุป

ธนาคารฯ จะต้องงดจ่ายเงินตามเช็คให้แก่สุดสวย ตามเหตุผลและหลักกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement