การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายนิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทําได้โดยลําพังและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมมาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทําได้โดยลําพังและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับ ความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ นิติกรรม ดังต่อไปนี้ คือ

1 นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้น จากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”

นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียวนั้น แยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1) นิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เสียสิทธิ หรือรับเอาหน้าที่อย่างใด ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น การที่ผู้เยาว์ตกลงรับเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นยกให้โดยเสน่หา โดยไม่มี เงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันใด ๆ เป็นต้น

2) นิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นการหลุดพ้นจาก หน้าที่โดยไม่มีเงื่อนไข หรือภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ผู้เยาว์ได้ทํานิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ ทําให้ผู้เยาว์ หลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องชําระหนี้ เป็นต้น

2 นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์ อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทําเองเฉพาะตัว”

คําว่า “นิติกรรมซึ่งเป็นการต้องทําเองเฉพาะตัว” ที่ผู้เยาว์สามารถทําได้โดยลําพังตนเองนั้น หมายถึงนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําด้วยตนเอง จะให้บุคคลอื่นทําแทนไม่ได้นั่นเอง เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ หรือการทําพินัยกรรมในขณะที่ผู้เยาว์มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น

3 นิติกรรมที่เป็นการอันจําเป็นในการดํารงชีพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจําเป็นในการดํารงชีพตาม สมควร”

ซึ่งนิติกรรมที่ได้รับการยกเว้นว่าผู้เยาว์สามารถกระทําได้โดยลําพัง โดยไม่ต้องได้รับ ความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตามมาตรา 24 นี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ

1) ต้องเป็นนิติกรรมที่จําเป็นในการดํารงชีพจริง ๆ อันขาดเสียไม่ได้ และ

2) ต้องเป็นนิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และฐานะการเงินของผู้เยาว์ด้วย

 

ข้อ 2. นายเมฆต้องการซื้อที่ดินของนายหมอก 1 แปลง แต่นายหมอกไม่ยอมขายให้ นายเมฆจึงข่มขู่นายหมอกว่า ถ้าไม่ขายที่ดินให้จะเปิดเผยความลับของนายหมอก นายหมอกไม่กลัวสิ่งที่นายเมฆข่มขู่ แต่นายหมอกยอมขายที่ดินให้เนื่องจากมีธุระจําเป็นต้องใช้เงินพอดี ดังนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาที่บกพร่องหรือไม่ และสัญญาดังกล่าวมีผลในทาง กฎหมายอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 164 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทําให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทําขึ้น”

“การข่มขู่” คือการใช้อํานาจบังคับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของบุคคลอื่น เพื่อให้เขาแสดงเจตนาทํานิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ โดยอาจจะข่มขู่ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นภัย แก่ผู้ถูกข่มขู่ หรือแก่สกุลผู้ถูกข่มขู่ หรืออาจจะเป็นความเสียหายเป็นภัยแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขู่ก็ได้

และตามกฎหมาย ถ้าการข่มขู่นั้นเป็นการข่มขู่ว่าจะก่อให้เกิดภัยที่ร้ายแรงทําให้ผู้ถูกข่มขู่กลัว และยอมทํานิติกรรมตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ นิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 164

ตามปัญหา การที่นายเมฆต้องการซื้อที่ดินของนายหมอก 1 แปลง แต่นายหมอกไม่ยอมขายให้ นายเมฆจึงข่มขู่นายหมอกว่า ถ้าไม่ขายที่ดินให้จะเปิดเผยความลับของนายหมอกนั้น การกระทําของนายเมฆ ถือว่าเป็นการข่มขู่นายหมอกแล้ว เพราะเป็นการใช้อํานาจบังคับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่จิตใจของนายหมอก

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายเมฆข่มขู่นายหมอกดังกล่าวนั้น นายหมอก ไม่กลัวสิ่งที่นายเมฆข่มขู่แต่อย่างใด แต่ที่นายหมอกยอมขายที่ดินให้แก่นายเมฆนั้นเป็นเพราะนายหมอกมีธุระ จําเป็นต้องใช้เงินพอดี จึงถือว่า การที่นายหมอกได้ขายที่ดินให้แก่นายเมฆนั้น เป็นการแสดงเจตนาทํานิติกรรม ของนายหมอกเอง มิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่นายเมฆข่มขู่แต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินจึงมิได้เกิดจาก การแสดงเจตนาที่บกพร่องของนายหมอก คือมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการถูกข่มขู่โดยตรง สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้เกิดจากการแสดงเจตนาที่บกพร่อง และสัญญาดังกล่าวมีผล สมบูรณ์

 

ข้อ 3. นายเอกตกลงซื้อเสื้อสีดําจํานวน 200 ตัวจากนายโทในราคาตัวละ 100 บาท โดยนายเอกและนายโทนัดส่งมอบเสื้อสีดําทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น เมื่อถึงเวลาส่งมอบนายโทกลับนําเสื้อสีดํามาส่งมอบ เพียง 150 ตัว ดังนี้ นายเอกจะปฏิเสธที่จะไม่รับมอบเสื้อสีดําที่นายโทนํามาส่งมอบนั้นทั้งหมดและไม่ยอมชําระราคาเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 465 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับหน้าที่และ ความรับผิดของผู้ขายในกรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ หรือระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ในข้อสัญญา ไว้ดังนี้คือ

(1) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะบอกปัดไม่รับเอาทรัพย์สินนั้น ก็ได้ หรือจะรับเอาทรัพย์สินนั้นแล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(2) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้เฉพาะ ที่ตกลงไว้ในสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสียทั้งหมดก็ได้ หรือจะรับเอาไว้ทั้งหมด แล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

(3) ถ้าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิได้รวมอยู่ใน ข้อสัญญา ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะทรัพย์สินตามสัญญาและนอกนั้นบอกปัดเสียก็ได้ หรือจะบอกปัดไม่รับเสีย ทั้งหมดก็ได้

ตามปัญหา การที่นายเอกได้ตกลงซื้อเสื้อสีดําจํานวน 200 ตัวจากนายโทนั้น เป็นการตกลง ซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ และเมื่อนายโทผู้ขายได้ส่งมอบเสื้อสีดําให้แก่นายเอกผู้ซื้อเพียง 150 ตัว กรณีนี้ถือว่านายโทผู้ขายมิได้ปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ นายโทผู้ขายได้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ให้แก่นายเอกผู้ซื้อน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ดังนั้น ตามกฎหมายนายเอกผู้ซื้อย่อมมีสิทธิตามมาตรา 465 (1) คือ มีสิทธิที่จะบอกปัดไม่รับเอาทรัพย์สินนั้น หรือจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้แล้วใช้ราคาตามส่วนก็ได้

ดังนั้น ตามปัญหานายเอกผู้ซื้อจึงสามารถปฏิเสธไม่รับมอบเสื้อสีดําจํานวน 150 ตัวที่นายโท นํามาส่งมอบทั้งหมดและไม่ชําระราคาเลยได้

สรุป นายเอกปฏิเสธไม่รับมอบเสื้อสีดําที่นายโทนํามาส่งมอบทั้งหมดและไม่ยอมชําระราคาเลยได้

 

ข้อ 4. ให้นักศึกษาตอบคําถามทั้งข้อ ก. และข้อ ข. โดยให้อธิบายหลักกฎหมาย

ก. ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือจําเป็นหรือไม่ที่ผู้โอนตั๋วต้องเซ็นสลักหลังโอนตั๋ว เพราะเหตุใด ข. เช็คที่ผู้ทรงเช็คยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน ธนาคารจะต้องจ่ายเงินให้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายมีไม่พอตามมูลค่าเช็คที่ยื่น

ธงคําตอบ

ก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับวิธีการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ ไว้ดังนี้ คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตัวนั้นให้แก่กัน (มาตรา 918)

2 การสลักหลังตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ ให้ถือว่าเป็นเพียงการอาวัล (รับประกัน) ผู้สั่งจ่าย(มาตรา 921)

ดังนั้น ในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือจึงไม่จําเป็นที่ผู้โอนตั๋วจะต้องเซ็นสลักหลังโอนตั๋วเพราะ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้กําหนดไว้แล้วว่า ในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น การโอนย่อมสมบูรณ์ โดยการที่ผู้โอนเพียงแต่ส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่ผู้รับโอนเท่านั้น ไม่ต้องมีการสลักหลังแต่อย่างใด ในกรณีที่มีการสลักหลัง กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงการรับประกันหรือรับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น

ข. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการใช้เงินตามเช็คของธนาคาร ไว้ดังนี้ คือ

1 ธนาคารจําต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณี ที่ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 991 (1)

2 ถ้าธนาคารได้รับรองเช็คโดยเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคําว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคําใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ธนาคารต้องผูกพันในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงิน แก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 993 วรรคหนึ่ง)

โดยหลักแล้วธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค จะต้องจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น เมื่อ ผู้ทรงเช็คได้นําเช็คมายื่นเพื่อให้ธนาคารจ่ายเงิน แต่ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินตาม เช็คนั้นก็ได้ ถ้าหากเงินในบัญชีของผู้ออกเช็คนั้นไม่มีหรือมีแต่ไม่พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเช็คนั้น เป็นเช็คที่ธนาคารผู้จ่ายได้รับรองเช็คไว้แล้ว ธนาคารก็จะต้องผูกพันในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องจ่ายเงิน ตามเช็คนั้น จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินโดยอ้างว่าเงินในบัญชีของผู้ออกเช็คไม่มีหรือมีแต่ไม่พอจ่ายไม่ได้

สรุป

ก. ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ ในการโอนผู้โอนไม่จําเป็นต้องเซ็นสลักหลังโอนตั๋ว

ข. เช็คที่ผู้ทรงเช็คยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน ถ้าปรากฏว่าเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายมีไม่พอตามมูลค่าเช็ค ธนาคารจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ถ้าเป็นเช็คที่ธนาคารผู้จ่าย ได้รับรองไว้แล้ว ธนาคารก็จะต้องจ่ายเงินตามเช็คนั้น

Advertisement