การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) ให้นักศึกษาอธิบายการแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสายของผู้ที่ครอบครองตั๋วเงินโดยชอบว่า “การสลักหลังไม่ขาดสาย” หมายความว่าอย่างไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ ว่าด้วยตั๋วเงิน

(ข) นายฉันทะ สั่งจ่ายเช็คชําระหนี้ให้นายวิริยะ ขีดฆ่าหรือผู้ถือออก ต่อมานายวิริยะลงลายมือชื่อตนไว้ด้านหลังเช็ค โดยมิได้เติมข้อความใด ๆ แล้วส่งมอบชําระหนี้กู้ยืมให้นายจิตตะ นายจิตตะ ได้ทําการเติมข้อความบนลายมือชื่อของนายวิริยะว่า “ชําระหนี้นายวิมังสา” แล้วส่งมอบเช็ค ฉบับดังกล่าวให้นายวิมังสา โดยมิได้ลงลายมือชื่อตน ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายวิมังสา ได้รับการโอนเช็คมาถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่ง คําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย…”

การแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสายของผู้ที่ครอบครองตั๋วเงินโดยชอบนั้น หมายถึง การที่ผู้ที่ได้รับโอนตั๋วเงินชนิดระบุชื่อได้แสดงหรือได้พิสูจน์ให้เห็นว่าตนได้รับโอนตั๋วเงินนั้นมาโดยมี การสลักหลังติดต่อกันมาเป็นทอด ๆ อย่างถูกต้อง แม้ว่าการสลักหลังบางรายจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม และเมื่อได้แสดงหรือพิสูจน์ให้เห็นถึงการสลักหลังที่ไม่ขาดสายดังกล่าวแล้ว กฎหมายให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย (ตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง)

ตัวอย่าง แดงได้รับตั๋วเงินฉบับหนึ่งไว้ในความครอบครองที่ด้านหลังตัวมีลายมือชื่อของหนึ่ง ผู้รับเงินสลักหลังโอนให้สอง สองสลักหลังโอนตั๋วให้สาม และสามสลักหลังโอนตั๋วให้แดง ดังนี้ แดงย่อมเป็นผู้ทรง โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง เพราะแดงสามารถแสดงหรือพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าตนได้รับตั๋วเงินนั้น มาด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย

หรือตามตัวอย่างข้างต้น ถ้าปรากฏว่าตอนที่สามสลักหลังโอนตั๋วให้แก่แดงนั้น สามเพียงแต่ ลงลายมือชื่อของสามไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินโดยไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใดเป็นผู้รับประโยชน์หรือผู้รับสลักหลัง (ซึ่ง เรียกว่า “สลักหลังลอย”) ดังนี้ ย่อมถือว่าแดงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าแดงได้รับโอนตั๋วเงินนั้นมาด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรา 905 วรรคหนึ่ง อยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 ซึ่งตามมาตรา 1008 มีหลักว่า “ถ้าลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือชื่อปลอม หรือเป็นลายมือชื่อที่ลงไว้ โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจให้ลงลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจาก อํานาจนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย” ซึ่งเมื่อนํามาปรับกับมาตรา 905 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมถือได้ว่า ถ้าการสลักหลังรายใดเป็นการสลักหลังด้วยการลงลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่เจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจให้ลงลายมือชื่อของเขาแล้ว ลายมือชื่อนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ กล่าวคือ ลายมือชื่อนั้นจะถูกตัดออกไป จึงมีผลทําให้การสลักหลังตั๋วเงินนั้น ขาดสาย

ตัวอย่าง แดงได้รับตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง ที่ด้านหลังตั๋วมีลายมือชื่อของหนึ่งผู้รับเงิน สลักหลังโอนให้สอง และสองสลักหลังโอนให้แดง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าลายมือชื่อของหนึ่งเป็นลายมือชื่อปลอม เนื่องจากดําแอบขโมยเอาตั๋วไปจากหนึ่งและดําได้ปลอมลายมือชื่อของหนึ่งสลักหลังโอนให้สอง ดังนี้ ลายมือชื่อของหนึ่ง ย่อมตกเป็นอันใช้ไม่ได้ แดงจึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะแดงได้รับโอนตั๋วมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(1) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายฉันทะสั่งจ่ายเช็คชําระหนี้ให้นายวิริยะและขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออกนั้น ถือว่าเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ การที่นายวิริยะได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ด้านหลังเช็คโดยมิได้ เติมข้อความใด ๆ แล้วส่งมอบชําระหนี้กู้ยืมให้นายจิตตะ ถือว่านายวิริยะได้สลักหลังลอยและส่งมอบเช็คให้แก่ นายจิตตะ การโอนเช็คระหว่างนายวิริยะกับนายจิตตะจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง และมาตรา 919 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และให้ถือว่านายจิตตะเป็นผู้ทรงที่ได้รับเช็คมาจาก การสลักหลังลอยของนายวิริยะ

การที่นายจิตตะได้ทําการเติมข้อความบนลายมือชื่อของนายวิริยะว่า “ชําระหนี้นายวิมังสา” แล้วส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวให้นายวิมังสานั้น เป็นกรณีที่นายจิตตะได้ใช้สิทธิของผู้ทรงที่ได้รับเช็คมาจากการ สลักหลังลอยตามมาตรา 920 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และเมื่อนายจิตตะได้ส่งมอบเช็ค ดังกล่าวให้นายวิมังสา การโอนเช็คระหว่างนายจิตตะกับนายวิมังสาจึงมีผลสมบูรณ์ และให้ถือว่านายวิมังสา เป็นผู้ทรงที่ได้รับเช็คมาจากการสลักหลังลอยของนายวิริยะ

สรุป

นายวิมังสาได้รับโอนเช็คมาโดยถูกต้อง

 

ข้อ 2. (ก) จงอธิบายวิธีการอาวัลตั๋วเงินโดยการแสดงเจตนาพร้อมหลักกฎหมายประกอบ

(ข) นายฟักข้าวสั่งจ่ายเช็คชําระค่าซื้อขายเผือกให้แก่นายฟักทองหรือผู้ถือ นายฟักทองลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็ค แล้วส่งมอบชําระหนี้ให้แก่โรงงานที่มาทําการเก็บเกี่ยวหัวเผือก ให้นักศึกษา วินิจฉัยว่า หากผู้มีอํานาจของโรงงานนําเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินตามวันที่ลงในเช็คแต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่าย บุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วเงิน

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 939 “อันการรับอาวัลย่อมทําให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจําต่อในการนี้จึงใช้ถ้อยคําสํานวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดทํานองเดียวกันนั้นและ ลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคํารับอาวัล แล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคํารับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย”

ตามมาตรา 939 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการอาวัลตั๋วเงินโดยการแสดงเจตนา ซึ่งผู้รับ อาวัลสามารถทําได้ โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วเงิน (ซึ่งอาจเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ เช็ค) หรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัล ประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินก็ได้ (มาตรา 939 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่)

2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความใด ๆ ไว้ ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

ในคํารับอาวัลจะต้องระบุไว้ด้วยว่ารับประกันผู้ใด หากไม่ได้ระบุไว้ให้ถือว่าผู้รับประกันผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสี่)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตาม เนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับ ให้ใช้เงินตามตัวนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าว ต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910…914 ถึง 923, 938 ถึง 940”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟักข้าว สั่งจ่ายเช็คชําระค่าซื้อขายเผือกให้แก่นายฟักทอง หรือ ผู้ถือ ย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการ ส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง และถ้ามีการสลักหลังให้ถือว่าเป็นเพียงการประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย (มาตรา 918 มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายฟักทองได้สลักหลังโอนเช็คโดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังเช็ค จึงให้ถือว่าการสลักหลังของนายฟักทองเป็นเพียงการรับอาวัลนายฟักข้าวผู้สั่งจ่ายเท่านั้น และมีผลทําให้ นายฟักทองต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับนายฟักข้าวผู้สั่งจ่าย (มาตรา 900 วรรคหนึ่ง มาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น เมื่อผู้มีอํานาจของโรงงานที่ได้รับเช็คมาจากนายฟักทองและได้นําเช็คฉบับ ดังกล่าวไปขึ้นเงินตามวันที่ลงในเซ็ค แต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่าย บุคคลที่จะต้องรับผิดตามมูลหนี้ของเช็คนั้น ได้แก่

1 นายฟักข้าว เพราะนายฟักข้าวได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย จึงต้อง รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

2 นายฟักทอง เพราะนายฟักทองได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คในฐานะผู้รับอาวัล นายฟักข้าวผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

สรุป

บุคคลที่จะต้องรับผิดตามมูลหนี้ของเช็คฉบับดังกล่าว ได้แก่ นายฟักข้าวผู้สั่งจ่าย และ นายฟักทองผู้รับอาวัลนายฟักข้าว

 

ข้อ 3. เช็คพิพาทมีชื่อกุมภาเป็นผู้สั่งจ่าย โดยผู้ที่ลงลายมือปลอมเขียนสั่งจ่ายคือ มกรา เป็นผู้ปลอมในช่องผู้สั่งจ่าย สั่งจ่ายแก่ มีนาหรือผู้ถือ มีนาสลักหลังมอบให้เมษา ครั้นถึงกําหนดวันที่ลงในเช็คพิพาท ฉบับนี้ เมษาซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบ นําเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินไม่ได้เพราะทางธนาคารแจ้งว่า เช็คฉบับนี้ถูกระงับการจ่ายจากผู้สั่งจ่ายคือนายกุมภา ดังนี้ มีนาต้องรับผิดใช้เงินแก่เมษาหรือไม่ แม้ชื่อกุมภาผู้สั่งจ่ายจะเป็นลายมือชื่อปลอมจากมกราก็ตาม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1 มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตัวเงินนั้น”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 914 ถึง 923, 938 ถึง 940”

มาตรา 1006 “การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง ความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ผู้สั่งจ่ายสั่งจ่ายแก่มีนาหรือผู้ถือ ย่อมถือว่า เป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบเช็ค ให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง ถ้ามีการสลักหลังให้ถือว่าเป็นเพียงการอาวัลผู้สั่งจ่าย (มาตรา 918 มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น เมื่อมีการสลักหลังมอบเช็คพิพาทให้แก่เมษา จึงถือว่ามีนาซึ่งได้ลงลายมือชื่อ ในเช็คต้องรับผิดตามเช็คในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย (มาตรา 900 วรรคหนึ่ง มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

และแม้ว่าตามข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ลายมือชื่อของกุมภาจะเป็นลายมือปลอม และลายมือปลอม ของกุมภาจะตกเป็นอันใช้ไม่ได้ ก็ไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่อของมีนาที่ได้ลงไว้ในเช็คนั้น (มาตรา 1006) ดังนั้น เมื่อเมษานําเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินไม่ได้ เพราะทางธนาคารแจ้งว่าเช็คฉบับนี้ ถูกระงับการจ่ายจากกุมภาผู้สั่งจ่าย มีนาจึงยังคงต้องรับผิดใช้เงินให้แก่เมษา แม้ชื่อกุมภาผู้สั่งจ่ายจะเป็นลายมือปลอมก็ตาม (คําพิพากษาฎีกาที่ 918/2522)

สรุป มีนาต้องรับผิดใช้เงินให้แก่เมษา แม้ชื่อของกุมภาผู้สั่งจ่ายจะเป็นลายมือชื่อปลอม

Advertisement