การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) การโอนเช็คนั้นต้องทําอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายตั๋วเงิน

(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารอ่างทอง ชําระหนี้โทโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก โทสลักหลังชําระหนี้ตรีระบุชื่อตรีเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาตรี สลักหลังลอยและส่งมอบเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่จัตวา ต่อมาจัตวาได้นําเช็คไปส่งมอบ ชําระหนี้ให้กับบ้านไร่ เมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บ้านไร่นําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคาร ไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่าบ้านไร่ได้รับโอนเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของธนาคารอ่างทองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 989 ได้บัญญัติให้นําวิธีการในการโอนตั๋วแลกเงินตามมาตรา 917 ถึง มาตรา 920 มาใช้กับการโอนเช็คด้วย ดังนั้น ในการโอนเช็คเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายตั๋วเงินจึงต้องปฏิบัติดังนี้ คือ

1 ถ้าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) การโอนจะต้องกระทําโดยการสลักหลัง และส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก) จะโอนโดยการส่งมอบเพียงอย่างเดียวไม่ได้

“การสลักหลัง” คือการที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของ ตนไว้ในเช็ค โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรืออาจเป็นการสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับโอน) ไว้ด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของเช็คก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของเช็คเท่านั้น

อนึ่ง ในการสลักหลังโอนเช็คนั้น ในกรณีที่เป็นการสลักหลังเฉพาะ (สลักหลังระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงจะโอนเช็คนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้แต่จะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น โดยอาจจะสลักหลัง เฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ถ้าในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น เป็นการสลักหลังลอย ดังนี้ผู้ทรงซึ่งได้ เช็คนั้นมาจากการสลักหลังลอย ย่อมสามารถโอนเช็คนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบหรืออาจจะโอนเช็ค นั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (มาตรา 920 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

2 ถ้าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ การโอนเช็คชนิดนี้ย่อมสามารถกระทําได้โดยการส่งมอบ แต่เพียงอย่างเดียวไม่ต้องสลักหลัง การโอนก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย (มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคแรก “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา 919 “คําสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อ และต้องลงลายมือชื่อ ผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้ กระทําอะไรยิ่งไปกวาลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย” ”

มาตรา 220 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923…”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่เอกออกเซ็คชําระหนี้แก่โท โดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคําว่า หรือผู้ถือออกนั้น ถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้นถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนจะถูกต้องตาม กฎหมายก็จะต้องมีการสลักหลังและส่งมอบ โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 917 วรรคแรก และมาตรา 919 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก) ดังนั้นเมื่อโทสลักหลังโดยระบุชื่อตรี เป็นผู้รับประโยชน์ และตรีได้สลักหลังลอยและส่งมอบให้แก่จัตวา การโอนเช็คระหว่างโทกับตรี และระหว่างตรี กับจัตวาย่อมเป็นการโอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

และเมื่อเช็คนั้นได้ตกอยู่ในความครอบครองของจัตวา ซึ่งเป็นผู้ทรงที่ได้รับเช็คมาจากการ สลักหลังลอยของตรี จัตวาย่อมมีสิทธิตามมาตรา 920 (3) ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก คือสามารถโอนเช็คนั้น ต่อไปได้โดยไม่ต้องสลักหลังแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นเมื่อจัตวาส่งมอบเช็คให้แก่บ้านไร่ การโอนเช็คของจัตวาแก่บ้านไร่จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และถือว่าบ้านไร่เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้รับโอนเช็ค มาโดยถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายได้กําหนดไว้ และบ้านไร่ย่อมมีสิทธินําเช็คไปยื่นให้ธนาคารอ่างทองจ่ายเงินได้ เมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค การที่ธนาคารอ่างทองไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่าบ้านไร่ได้รับโอนเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้ออ้างของธนาคารอ่างทองจึงไม่ถูกต้อง

สรุป ข้ออ้างของธนาคารอ่างทองไม่ถูกต้อง ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. (ก) เช็คขีดคร่อมคืออะไร ใครมีอํานาจขีดคร่อมเช็คได้บ้าง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กําหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คไว้อย่างไรบ้าง

(ข) ขาวเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารนิมิตใหม่เป็นผู้จ่ายสองฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าของเช็ค และในรอยเส้นคู่ขนานนั้นมีคําว่า “A/C PAYEE ONLY” อีกฉบับหนึ่งเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าของเช็ค และมีชื่อของธนาคาร ชาวสวนอยู่ในรอยเส้นขนาน เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค ขาวนําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคารเขาใหญ่เรื่องการเบิกเงินตามเช็ค ธนาคารฯ เห็นว่าขาวไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จึงแนะนําให้ขาว เปิดบัญชีเพื่อฝากเงินกับธนาคารฯ แล้วให้ขาวฝากเงินตามเช็คเข้าบัญชีเงินฝาก แล้วธนาคาร จะนําเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารนิมิตใหม่ผู้จ่ายเงิน แล้วให้ขาวเบิกเงินสด จากบัญชีเงินฝากในภายหลัง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าคําแนะนําของธนาคารเขาใหญ่ถูกต้อง ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) “เช็คขีดคร่อม” คือ เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้าเช็ค ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป คือ เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างหน้าเช็ค กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท (& Co.)” หรือคําย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นคู่ขนานนั้น และจะมีคําว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ คือเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างหน้าเช็ค และในระหว่างเส้น คู่ขนานนั้นมีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งถูกระบุลงไว้โดยเฉพาะ และจะมีคําว่า”ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 994)

“บุคคลผู้มีอํานาจขีดคร่อมเช็ค” ได้แก่ ผู้สั่งจ่าย ผู้ทรง และธนาคาร โดย ป.พ.พ. มาตรา 995 ได้วางหลักไว้ว่า

(1) เช็คไม่มีขีดคร่อม ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะขีดคร่อมก็ได้ โดยอาจจะ ขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(2) เช็คขีดคร่อมทั่วไป ผู้ทรงจะทําให้เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(3) เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารใด ธนาคารนั้นจะซ้ำขีดคร่อมเฉพาะให้ไปแก่ ธนาคารอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินก็ได้

(4) เช็คไม่มีขีดคร่อม หรือเช็คขีดคร่อมทั่วไปที่ส่งไปยังธนาคารเพื่อให้เรียกเก็บเงิน ธนาคารนั้นจะลงเป็นขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนเองก็ได้

“หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็ค” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991, 992 และมาตรา 994 ได้วางหลักไว้ดังนี้ คือ

1 ธนาคารจะต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ธนาคารอาจจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คก็ได้ คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ (2) เช็คนั้นได้ยืนเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นกําหนด 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ

(3) ได้มีคําบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป (มาตรา 991)

  1. หน้าที่และอํานาจของธนาคาร ซึ่งจะใช้เงินตามเช็คที่เบิกแก่ตนนั้น ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ เกิดกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

(1) มีคําบอกห้ามการใช้เงิน

(2) ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย

(3) ธนาคารรู้ว่าศาลได้มีคําสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคําสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคน ล้มละลาย หรือได้มีประกาศคําสังเช่นนั้นแล้ว (มาตรา 992)

3 ในกรณีที่เป็นเช็คขีดคร่อม มาตรา 994 ได้วางหลักไว้ว่า

(1) ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายจะต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคาร หนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนําเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บเงิน หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่าย เป็นเงินสดมิได้

(2) ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายจะต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ถูกระบุ ชื่อไว้โดยเฉพาะ จะจ่ายให้ธนาคารอื่นไม่ได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เป็นอาหาร มาตรา 994 “ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท” หรือคําย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะ ใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่า เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น”

วินิจฉัย

ตามหลัก ป.พ.พ. มาตรา 994 ในกรณีที่เช็คนั้นเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้าย ด้านหน้าของเช็ค ย่อมถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อม ซึ่งเช็คขีดคร่อมนั้นถ้าไม่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอย ขีดคร่อม ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ซึ่งผู้ทรงจะนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชีกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเป็น เช็คขีดคร่อมเฉพาะ คือเป็นเช็คที่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ผู้ทรงจะต้องนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชี กับธนาคารที่มีชื่ออยู่ในรอยขีดคร่อมเท่านั้น จะไปเข้าบัญชีกับธนาคารอื่นเพื่อให้ธนาคารอื่นนั้นไปเรียกเก็บเงิน กับธนาคารผู้จ่ายไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ขาวเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารนิมิตใหม่เป็นผู้จ่าย 2 ฉบับ โดย ฉบับแรกเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าของเช็คและในรอยเส้นคู่ขนานนั้น มีคําว่า “N/C PAYEE ONLY” นั้น ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และฉบับที่ 2 เป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้าย ด้านหน้าของเซ็ค และมีชื่อของธนาคารชาวสวนอยู่ในรอยเส้นขนานนั้น ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ

เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คขาวนําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคารเขาใหญ่เรื่องการเบิกเงินตามเช็ค การที่ธนาคารฯ เห็นว่าขาวไม่มีเงินฝากกับธนาคารฯ จึงแนะนําให้ขาวเปิดบัญชีเพื่อฝากเงินกับธนาคารฯ แล้วให้ ขาวฝากเงินตามเช็คเข้าบัญชีเงินฝากแล้วธนาคารจะนําเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารนิมิตใหม่ผู้ จ่ายเงิน แล้วให้ขาวเบิกเงินสดจากบัญชีเงินฝากในภายหลังนั้น จะเห็นได้ว่าคําแนะนําของธนาคารเขาใหญ่ ถูกต้องและใช้ได้กับเช็คฉบับแรกซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปเท่านั้น จะใช้กับเซ็คฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อม เฉพาะไม่ได้ เพราะเช็คขีดคร่อมเฉพาะนั้น ขาวจะต้องเปิดบัญชีฝากเงินกับธนาคารชาวสวนซึ่งมีชื่ออยู่ในรอยขีดคร่อม เพื่อให้ธนาคารชาวสวนเป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารนิมิตใหม่เท่านั้น จะเปิดบัญชีฝากเงินกับธนาคารเขาใหญ่ ไม่ได้

สรุป คําแนะนําของธนาคารเขาใหญ่ดังกล่าวถูกต้องเฉพาะเช็คฉบับแรกที่เป็นเช็คขีดคร่อม ทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่ถูกต้องกับเช็คฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ

 

ข้อ 3. เช็คที่ออกมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วมีการแก้ไขจํานวนเงินอันพึงใช้นั้น จะเกิดผลอย่างไรกับ เช็คฉบับนั้นและคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1007 “ถ้าข้อความในตัวเงินใด หรือในคํารับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตัวนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้ง เมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงินไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย”

จากบทบัญญัติตามมาตรา 1007 จะเห็นได้ว่า เช็คที่ออกมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ถ้ามีการแก้ไขจํานวนเงินอันจะพึงใช้ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ จะเกิดผลในทางกฎหมายกับ เช็คฉบับนั้น และคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ

1 ถ้าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นได้ประจักษ์ หมายถึง การแก้ไขนั้น แก้ไขได้ไม่แนบเนียน สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่าว่ามีการแก้ไข จะมีผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคแรก คือ ให้ถือว่า เช็คนั้นเสียไป ไม่มีผลบังคับในฐานะเป็นเช็ค แต่เพื่อคุ้มครองผู้ทรงเช็คที่ได้รับเช็คไว้โดยสุจริต กฎหมายจึงได้บัญญัติ เป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ทรงเช็คยังคงใช้เช็คนั้นบังคับกับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้ที่ได้ยินยอม ด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น และผู้ที่ได้สลักหลังเช็คในภายหลังที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น

2 ถ้าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์ หมายถึง การแก้ไขนั้นทําได้อย่างแนบเนียน ไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่าว่ามีการแก้ไข จะมีผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคสอง คือ ให้ถือว่า เช็คนั้นไม่เสีย ยังบังคับกันได้ในฐานะเป็นเช็ค กล่าวคือ ถ้าเช็คนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ทรง โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถที่จะถือเอาประโยชน์จากเช็คนั้นเสมือนว่าเช็คนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งเช็คนั้นก็ได้

Advertisement