การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) การโอนตั๋วแลกเงินนั้นจะต้องทําอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมายตั๋วเงิน

(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารอ่างทอง ชําระหนี้โทโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออก โทสลักหลังชําระหนี้ตรีระบุชื่อตรีเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาตรีสลักหลังลอย และส่งมอบเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่จัตวา ต่อมาจัตวาได้นําเช็คไปส่งมอบชําระหนี้ให้กับบ้านไร่ เมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บ้านไร่นําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน โดยอ้างว่าบ้านไร่ได้รับโอนเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของ ธนาคารอ่างทองถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) อธิบาย

ในการโอนตั๋วแลกเงินนั้น การโอนจะชอบด้วยกฎหมายตั๋วเงิน ผู้โอนจะต้องทําให้ถูกต้องตาม วิธีการที่กฎหมายลักษณะตั๋วเงินได้กําหนดไว้ ดังนี้คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ

การโอนสามารถกระทําได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 919)

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตัวก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตัวเงินเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 919 วรรคสอง)

อนึ่ง ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น ในกรณีที่เป็นการสลักหลังเฉพาะ (สลักหลัง ระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้แต่จะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น โดยอาจจะสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ถ้าในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น เป็นการสลักหลังลยย ดังนี้ผู้ทรงซึ่งได้ ตั๋วแลกเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอย ย่อมสามารถโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบหรือ อาจจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 920)

2 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

การโอนตั๋วเงินชนิดนี้ย่อมสามารถกระทําได้โดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมี การสลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ซึ่งบัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียง ด้วยส่งมอบให้กัน”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคแรก “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 “คําสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อ และต้องลงลายมือชื่อ ผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้ กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตัวแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย” ”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923…”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่เอกออกเช็คชําระหนี้แก่โท โดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคําว่า หรือผู้ถือออกนั้น ถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้นถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนจะถูกต้องตาม กฎหมายก็จะต้องมีการสลักหลังและส่งมอบ โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 917 วรรคแรก และมาตรา 919 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก) ดังนั้นเมื่อโทสลักหลังโดยระบุชื่อตรี เป็นผู้รับประโยชน์ และตรีได้สลักหลังลอยและส่งมอบให้แก่จัตว่า การโอนเช็คระหว่างโทกับตรี และระหว่างตรีกับจัตวาย่อมเป็นการโอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

และเมื่อเช็คนั้นได้ตกอยู่ในความครอบครองของจัตวา ซึ่งเป็นผู้ทรงที่ได้รับเช็คมาจากการ สลักหลังลอยของตรี จัตวาย่อมมีสิทธิตามมาตรา 920 (3) ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก คือสามารถโอนเช็คนั้น ต่อไปได้โดยไม่ต้องสลักหลังแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นเมื่อจัตวาส่งมอบเช็คให้แก่บ้านไร่ การโอนเช็คของจัตวา ให้แก่บ้านไร่จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และถือว่าบ้านไร่เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้รับโอนเช็ค มาโดยถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายได้กําหนดไว้ และบ้านไร่ย่อมมีสิทธินําเช็คไปยื่นให้ธนาคารอ่างทองจ่ายเงินได้

เมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค การที่ธนาคารอ่างทองไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่าบ้านไร่ได้รับโอนเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้ออ้างของธนาคารอ่างทองจึงไม่ถูกต้อง

สรุป

ข้ออ้างของธนาคารอ่างทองไม่ถูกต้อง ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. (ก) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อมต้องทําอย่างไรถึงจะได้รับเงินตามเช็ค

(ข) ขาวเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารนิมิตใหม่เป็นผู้จ่ายสองฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้ายด้านหน้าของเช็ค อีกฉบับหนึ่งเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้าย ด้านหน้าของเช็ค และมีชื่อของธนาคารชาวสวนอยู่ในระหว่างเส้นขนาน เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค ขาวนําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคารเมืองใหม่ จะต้องทําอย่างไรถึงจะได้รับเงินตามเช็ค ธนาคารเมืองใหม่แนะนําให้ขาวเปิดบัญชีฝากเงินประเภทออมทรัพย์กับธนาคารเมืองใหม่ แล้วธนาคารเมืองใหม่จะเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารนิมิตใหม่ แล้วให้ขาวมาเบิกเงินออกจาก บัญชีในวันหลัง ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าคําแนะนําของธนาคารเมืองใหม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 994 ได้บัญญัติไว้ว่า

“ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท” หรือคําย่อ อย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตาม เช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่า เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น”

ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คําว่า “เช็คขีดคร่อม” นั้น หมายถึงเช็คที่มีการขีดเส้น คู่ขนานไว้ที่ด้านหน้าเช็ค ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่มีเส้นขนานคู่ขัดขวางไว้ด้านหน้า โดยในระหว่าง เส้นคู่ขนานนั้นอาจจะไม่มีข้อความอะไรเลยหรือมีคําว่า “และบริษัท” หรือคําย่อใด ๆ ก็ได้ เช็คขีดคร่อมทั่วไปนี้ ผู้ทรงเช็คจะนําไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้ จะต้องนําเช็คไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเพื่อให้ธนาคาร ผู้รับฝากเป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารผู้จ่ายแล้วผู้ทรงค่อยไปเบิกเงินในวันหลัง เพราะเช็คชนิดนี้จะใช้เงิน ตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคแรก) เพียงแต่ผู้ทรงจะนําเช็คไปเข้าบัญชี ธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่มีเส้นคู่ขนานขีดไว้ที่ด้านหน้าเช็ค และในระหว่าง เส้นคู่ขนานจะมีชื่อของธนาคารใดธนาคารหนึ่งลงไว้โดยเฉพาะ เช็คชนิดนี้จะมีการใช้เงินตามเช็คให้แก่ธนาคารที่ ระบุไว้เท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคสอง) ดังนั้นผู้ทรงเช็คจะต้องนําเช็คไปเข้าบัญชีกับธนาคารที่ระบุลงไว้ ในเส้นคู่ขนานเท่านั้น เป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารผู้จ่ายแล้วผู้ทรงค่อยไปเบิกเงินในวันหลัง (และจะนําเช็คไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้เช่นเดียวกัน)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 994 “ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคําว่า “และบริษัท หรือคําย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่า เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น”

วินิจฉัย

ตามหลัก ป.พ.พ. มาตรา 994 ในกรณีที่เช็คนั้นเป็นเช็คที่มีเส้นขนานคู่ขีดขวางอยู่ที่มุมซ้าย ด้านหน้าของเช็คย่อมถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อม ซึ่งเช็คขีดคร่อมนั้นถ้าไม่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ถือว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป ซึ่งผู้ทรงจะนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชีกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อม เฉพาะ คือเป็นเช็คที่มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่ในรอยขีดคร่อม ผู้ทรงจะต้องนําเช็คนั้นไปเข้าบัญชีกับธนาคารที่มี ชื่ออยู่ในรอยขีดคร่อมเท่านั้น จะไปเข้าบัญชีกับธนาคารอื่นเพื่อให้ธนาคารอื่นนั้นไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้จ่ายไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่ขาวเป็นผู้รับเงินตามเช็คที่ธนาคารนิมิตใหม่เป็นผู้จ่าย 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และฉบับที่ 2 เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ เมื่อขาวได้นําเช็คไปขอคําแนะนําจากธนาคารเมืองใหม่ และธนาคารเมืองใหม่ให้คําแนะนําแก่ขาวว่าให้ขาวเปิดบัญชีฝากเงินประเภทออมทรัพย์กับธนาคารเมืองใหม่แล้ว ธนาคารเมืองใหม่จะเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารนิมิตใหม่ แล้วให้ขาวมาเบิกเงินออกจากบัญชีในวันหลังนั้น จะเห็นได้ว่าคําแนะนําของธนาคารเมืองใหม่ถูกต้องเละใช้ได้กับเช็คฉบับแรกซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป เท่านั้น จะใช้กับเช็คฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะไม่ได้ เพราะเช็คขีดคร่อมเฉพาะนั้น ขาวจะต้องเปิด บัญชีฝากเงินกับธนาคารชาวสวนซึ่งมีชื่ออยู่ในรอยขีดคร่อมเพื่อให้ธนาคารชาวสวนเป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็ค จากธนาคารนิมิตใหม่เท่านั้น จะเปิดบัญชีฝากเงินกับธนาคารเมืองใหม่ไม่ได้

สรุป คําแนะนําของธนาคารเมืองใหม่ดังกล่าวถูกต้องเฉพาะเช็คฉบับแรกที่เป็นเช็คขีดคร่อม ทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่ถูกต้องกับเช็คฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ

 

ข้อ 3 (ก) เช็คที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความสําคัญ เช่น วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน เป็นต้น จะเกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

(ข) เช็คพิพาทเป็นเช็คของธนาคารอ่าวไทยที่เมษาเป็นผู้สั่งจ่าย ธันวาเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคําว่า“หรือผู้ถือ” ออกระบุจํานวนเงินลงไว้ในเช็ค 500,000 บาท ธันวาสลักหลังและส่งมอบชําระหนี้ มีนา แต่มีนาเห็นว่าเมษายังเป็นหนี้เงินกู้ตนอีก 1,000,000 บาท จึงไปทวงหนี้จากเมษา เมษาจึง ขอเช็คคืนและแก้ไขเปลี่ยนแปลงจํานวนเงินเป็น 1,500,000 บาท ลงลายมือชื่อกํากับการแก้ แล้วส่งมอบให้กับมีนาตามเดิม มีนานําเช็คนั้นไปสลักหลังเพื่อชําระหนี้ให้แก่กุมภา ต่อมากุมภา ได้สลักหลังลอยเช็คนั้นชําระหนี้มกรา มกรายืนเช็คให้ธนาคารอ่าวไทยจ่ายเงินแต่ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีของมษามีไม่พอจ่าย

ดังนี้ให้ทานวินิจฉัยว่า มกราจะบังคับไล่เบี้ย บุคคลใดให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้เพียงใด หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) เช็คที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความสําคัญ เช่น วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้เวลาใช้เงิน หรือสถานที่ใช้เงิน เป็นต้น จะเกิดผลตามกฎหมาย ดังนี้คือ

1 ถ้าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นได้ประจักษ์ หมายถึง การแก้ไขนั้น แก้ไขได้ไม่แนบเนียน สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่าว่ามีการแก้ไข จะมีผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคแรก คือ ให้ถือว่า เช็คนั้นเสียไป ไม่มีผลบังคับในฐานะเป็นเช็ค แต่เพื่อคุ้มครองผู้ทรงเช็คที่ได้รับเช็คไว้โดยสุจริต กฎหมายจึงได้บัญญัติ เป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ทรงเช็คยังคงใช้เช็คนั้นบังคับกับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้ที่ได้ยินยอม ด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น และผู้ที่ได้สลักหลังเช็คในภายหลังที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น

2 ถ้าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์ หมายถึง การแก้ไขนั้นทําได้อย่างแนบเนียน ไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่าว่ามีการแก้ไข จะมีผลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคสอง คือ ให้ถือว่า เช็คนั้นไม่เสีย ยังบังคับกันได้ในฐานะเป็นเช็ค กล่าวคือ ถ้าเช็คนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ทรง โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถที่จะถือเอาประโยชน์จากเช็คนั้นเสมือนว่าเช็คนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งเช็คนั้นก็ได้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1007 “ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคํารับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร์ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตัวเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้ง เมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงินไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่เมษาผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารอ่าวไทยผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่ธันวาเพียง 500,000 บาท และเป็นเช็คระบุชื่อเพราะมีการขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก และเมื่อธันวาได้สลักหลัง และส่งมอบชําระหนี้แก่มีนา มีนาเห็นว่าเมษายังเป็นหนี้เงินกู้ตนอีก 1,000,000 บาท จึงไปทวงหนี้จากเมษา และ เมษาผู้สั่งจ่ายได้ขอเช็คคืนและได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจํานวนเงินในเช็คจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท

แล้วลงลายมือชื่อกํากับการแก้ไขแล้วส่งมอบเช็คให้กับมีนาตามเดิมนั้น กรณีนี้ย่อมถือได้ว่าเซ็คนั้นได้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญและเห็นได้ประจักษ์ โดยที่คู่สัญญาฯ ต้องรับผิดตามเช็คอีกคนหนึ่ง คือธันวามิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น จึงมีผลทําให้เช็คนั้นเสียไป เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทํา การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นกับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง (มาตรา 1007 วรรคแรก และวรรคสาม)

ดังนั้นเมื่อมกราซึ่งเป็นผู้ทรงได้ยื่นเช็คให้ธนาคารอ่าวไทยจ่ายเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มกราย่อมสามารถบังคับไล่เบี้ยเอากับบุคคลผู้ซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าว ดังนี้คือ

1 เมษาผู้สั่งจ่ายและเป็นคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น

2 มีนาผู้สลักหลังและเป็นคู่สัญญาซึ่งได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น

3 กุมภา ซึ่งเป็นผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น

แต่มกราจะบังคับไล่เบี้ยเอากับธันวาไม่ได้ เพราะเช็คได้เสียไปแล้วสําหรับธันวาเนื่องจากธันวา มิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นแต่อย่างใด

สรุป

มกราสามารถบังคับไล่เบี้ยเอากับเมษาผู้สั่งจ่าย มีนาและกุมภาผู้สลักหลังได้ แต่จะบังคับ ไล่เบี้ยเอากับธันวาไม่ได้

 

Advertisement