การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อำนาจเป็นหนี้เงินตามบัญชีที่บริษัท อุบล จำกัด ลงรายการไว้คือเอาเงินจำนวนสามแสนบาทไปสร้างโรงเรือนและซื้อลูกไก่ อาหารไก่เป็นเงินสี่แสนบาท ซึ่งเป็นการไปเลี้ยงเพื่อขายให้กับผู้ส่งออกไปต่างประเทศ และอำนาจจะชำระหนี้เมื่อมีการขายไก่ให้กับผู้ส่งออกแต่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดผู้ส่งออกจึงงดรับซื้อ อำนาจจึงขอให้บริษัทอุบล จำกัด รับซื้อไก่ของตนเพื่อเอาไปขายให้กับผู้ผลิตไก่ย่าง บริษัทอุบล จำกัด ตกลงรับซื้อโดยตีราคาไก่ห้าแสนบาทและเมื่อหักทอนบัญชีแล้วปรากฏว่าอำนาจยังคงเป็นหนี้สองแสนบาท ดังนี้บริษัทอุบล จำกัด จะคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นจากหนี้เงินจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 655 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมเงินจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

ข การรับรองตั๋วแลกเงินคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน แต่คงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ข้อตกลงระหว่างอำนาจกับบริษัทอุบล จำกัด ที่มีการหักทอนราคาไก่ที่บริษัทอุบล จำกัด จะต้องจ่ายให้กับอำนาจ กับหนี้เงินตามบัญชีที่อำนาจจะต้องชำระให้กับบริษัทอุบล จำกัด เป็นการตกลงเพื่อการหักกลบลบหนี้กันเพียงครั้งเดียวโดยมิได้มีการตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างอำนาจกับบริษัทอุบล จำกัด โดยการหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค ข้อตกลงระหว่างอำนาจกับบริษัทอุบล จำกัด จึงไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856 เมื่อมีการหักทอนบัญชีแล้วอำนาจยังคงเป็นหนี้บริษัทอุบล จำกัด สองแสนบาท ดังนั้นบริษัทอุบล จำกัด จะคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามมาตรา 655 จากหนี้เงินจำนวนดังกล่าวกับอำนาจไม่ได้

สรุป บริษัทอุบล จำกัด จะคิดดอกเบี้ยทบต้นกับอำนาจไม่ได้ เพราะข้อตกลงระหว่างอำนาจ กับบริษัทอุบล จำกัด มิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้

1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ

– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ 2 ก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงินนั้น มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วเงินโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ข นายถั่วพูได้รับเช็คระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งปรากฏลายมือชื่อนายถั่วแดงเป็นผู้สั่งจ่ายมาจากนายถั่วเขียวฉบับหนึ่งเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกัน ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน นายถั่วพูได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย นายถั่วพูจึงเรียกให้นายถั่วแดงใช้เงินตามเช็คให้ นายถั่วแดงไม่ยอมชำระเงินให้แก่นายถั่วพูโดยอ้างว่าแท้จริงแล้ว นายถั่วแดงสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายถั่วเหลือง และไม่ทราบว่าเช็คฯไปตกอยู่กับนายถั่วเขียวได้อย่างไร

กรณีนี้ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายถั่วพูได้รับเช็คจากนายถั่วเขียวโดยสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้ออ้างดังกล่าวของนายถั่วแดงจะฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

ตาม ป.พ.พ. ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วเงินโดยสุจริตไว้ในมาตรา 916 ซึ่งมีหลักคือ “บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล”

จากหลักดังกล่าวนี้สามารุอธิบายได้ว่า ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายคนใดได้รับตั๋วมาโดยตนเองสุจริต มิได้คบคิดฉ้อฉลกับผู้โอนตั๋วมาให้ตนแต่ประการใด ผู้ทรงคนนั้นมีสิทธิฟ้องให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วต้องรับผิดชอบตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นได้ทุกคน ผู้ที่ถูกไล่เบี้ยจะอ้างว่าข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือตนกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นมาต่อสู้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตนั้นไม่ได้

ตัวอย่าง

แดงออกตั๋วแลกเงินสั่งดำจ่ายเงินให้ขาว ขาวได้โอนตั๋วเงินใบนี้ให้เขียวเป็นค่าตอบแทนที่ซื้อฝิ่นจากเขียว เขียวได้โอนตั๋วต่อไปให้เหลือง เหลืองรับตั๋วที่โอนมาจากเขียวโดยสุจริต มิทราบการซื้อขายฝิ่นระหว่างขาวกับเขียวแต่อย่างใด ดังนี้เมื่อตั๋วแลกเงินนี้ถึงกำหนดใช้เงิน เหลืองสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเขียว ขาวและแดงได้ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วจะต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นตามมาตรา 900 โดยเขียวและขาวต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สลักหลังตั๋ว ส่วนแดงรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายตั๋ว เขียวจะอ้างว่า “ตั๋วใบนี้เป็นโมฆะเนื่องจากสัญญาซื้อขายฝิ่นระหว่างตนกับขาวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ฉะนั้นตั๋วเงินที่ขาวให้มาเป็นค่าฝิ่นนั้นจึงใช้ไม่ได้เป็นโมฆะ ดังนั้นเหลืองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเขียวได้ตามตั๋วแลกเงินใบนี้” ข้ออ้างของเขียวเหล่านี้จะยกขึ้นมาต่อสู้กับเหลืองซึ่งเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตไม่ได้ เพราะเหลืองไม่ทราบการซื้อขายฝิ่นโดยใช้ตั๋วเงินระหว่างขาวกับเขียวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า แม้ผู้ทรงนั้นจะสุจริตและเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าปรากฏว่าข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงนั้น เป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินนั้นเอง เช่น ตั๋วนั้นขาดอายุความใช้เงินแล้ว ฯลฯ เหล่านี้สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมายนั้นได้

ข อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923…

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงนายถั่วพูได้รับเช็ค ซึ่งเป็นเช็คระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ มาจากนายถั่วเขียว การชำระหนี้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงถือว่านายถั่วพูเป็นผู้ทรงเช็คฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 905 จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก กล่าวคือ เมื่อนายถั่วพูเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายและมิใช่ได้เช็คมาโดยการคบคิดกันฉ้อฉลกับนายถั่วเขียว นายถั่วแดงก็จะยกข้ออ้างที่ว่าไม่ทราบว่านายถั่วพูได้เช็คมาอย่างไรนั้นขึ้นต่อสู้นายถั่วพูไม่ได้

สรุป ข้ออ้างดังกล่าวของนายถั่วแดงจึงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3 ก กฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย และธนาคารผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบ

ข เอกยื่นคำขอให้ธนาคารสินไทยออกแคชเชียร์เช็ค (Cashier’s cheque) จำนวนสี่แสนบาท ระบุโทเป็นผู้รับเงินหรือตามคำสั่ง แล้วได้ส่งมอบเช็คให้แก่โทเพื่อชำระราคารถยนต์ โทรับเช็คนั้นมาแล้วจึงได้ขีดคร่อมทั่วไปไว้ที่ด้านหน้าเช็ค และลงลายมือชื่อของตนไว้ด้านหลังเพื่อประสงค์ที่จะมอบให้ธนาคารอ่าวไทยเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ได้ทำเช็คนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว ตรีเก็บเช็คนั้นได้แล้วโอนโดยส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ให้แก่จัตวา ต่อมาจัตวาได้นำเช็คดังกล่าวไปฝากให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีของจัตวาได้สำเร็จ ครั้นโทรู้ว่าเช็คนั้นหายไปและสืบทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว และได้มาปรึกษาท่าน

(1) โทจะเรียกร้องให้ธนาคารสินไทย ธนาคารกรุงทอง และเอกให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คและมูลหนี้เดิมได้เพียงใดหรือไม่

(2) โทจะเรียกร้องให้ตรีและจัตวาคืนเงินตามมูลหนี้ในเช็คนั้นได้หรือไม่

(3) การโอนเช็คพิพาทดังกล่าวขาดสายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็คที่บนด้านหน้าทางด้านซ้ายของเช็คมีรอยเส้นขนาน 2 เส้น ขีดพาดไว้ ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนี้อาจจะมีถ้อยคำเขียนไว้ก็ได้ ตามมาตรา 994 แบ่งเช็คขีดคร่อมออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นว่างเปล่า ไม่มีถ้อยคำใดเขียนไว้ หรือมีถ้อยคำแต่เพียง “และบริษัท” หรือคำย่อใดๆอยู่ในระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งระบุลงไว้โดยเฉพาะ

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) ตามมาตรา 998 มีหลักคือ

– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้

ดังนั้น ถ้าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผลให้

1 ให้ถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงและธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้สั่งจ่ายด้วย ดังนี้ธนาคารผู้จ่ายย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้

2 ให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นได้หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อผู้รับเงินเงิน ผู้รับเงินจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คนั้นหรือตามมูลหนี้เดิมอีกไม่ได้

หลักเกณฑ์การเบิกเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ตามมาตรา 1000 มีหลักคือ

1 ต้องเป็นเช็คที่ขีดคร่อมมาก่อน มิใช่ธนาคารขีดคร่อมเสียเอง

2 เช็คขีดคร่อมใบนั้น เมื่อเบิกมาแล้วจะต้องนำเข้าบัญชีของลูกค้าธนาคารนั้น

3 ธนาคารจะต้องดำเนินการเบิกเงินเพื่อลูกค้านี้โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ

ดังนั้นหากครบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินรายใดได้เรียกหรือรับเงินไว้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ผู้ทรงเดิม) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิในเช็คขีดคร่อมนั้นเลย หรือผู้เคยค้านั้นมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คขีดคร่อมนั้น

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923

มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

วินิจฉัย

(1) กรณีตามอุทาหรณ์

– โทจะเรียกร้องให้ธนาคารสินไทยรับผิดไม่ได้ เพราะธนาคารสินไทยเป็นธนาคารผู้สั่งจ่ายซึ่งได้ใช้เงินแก่ธนาคารที่เรียกเก็บเงินตามเช็คแล้ว ตามมาตรา 998 ให้ถือว่าธนาคารผู้สั่งจ่ายได้จ่ายเงินแก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของที่แท้จริง

– โทจะเรียกร้องให้ธนาคารกรุงทองรับผิดไม่ได้ เพราะธนาคารกรุงทองเป็นธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ย่อมหลุดพ้นตามมาตรา 1000

– โทจะเรียกร้องให้เอกผู้สั่งจ่ายรับผิดไม่ได้ เพราะเอกหลุดพ้นเช่นเดียวกับธนาคารสินไทย ตามมาตรา 998

(2) โทจะเรียกร้องให้ตรีคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ (มาตรา 409) แต่จะเรียกร้องให้จัตวาคืนเงินมิได้หากจัตวารับมอบเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 905 วรรคแรกและวรรคสอง

(3) การโอนเช็คดังกล่าวไม่ขาดสาย เพราะเป็นการสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อ โดยลงลายมือชื่อของตนโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน โดยมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์หรือผู้รับสลักหลังลงไปด้วย จึงเป็นการสลักหลังลอยการที่ตรีเก็บเช็คนั้นได้แล้วโอนโดยส่งมอบเช็คนั้น ย่อมทำได้ เพราะถ้าสลักหลังลอยสามารถโอนได้โดยการส่งมอบ ดังนั้นการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวจึงไม่ขาดสาย ตามมาตรา 905 วรรคแรกและวรรคสอง มาตรา 917 วรรคแรกประกอบด้วย 989 วรรคแรก

 

Advertisement