การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางสาวน้ำสั่งจ่ายเช็คชําระหนี้ให้แก่นายพิชญ์ 2 ฉบับ

ฉบับแรกเป็นเช็คชนิดผู้ถือ ฉบับที่สองระบุชื่อนายพิชญ์ เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่า “หรือผู้ถือ” นายพิชญ์ทําเช็คทั้งสองฉบับตกหาย นายกุ้งเก็บเช็คได้ จึงได้นําเช็คฉบับแรกไปชําระหนี้กู้ยืมโดยส่งมอบให้นางสาวทราย

ฉบับที่สอง นายกุ้งได้ทําการ ปลอมลายมือชื่อ นายพิชญ์ สลักหลังและส่งมอบชําระค่างวดผ่อนคอนโดฯ ที่ซื้อมาจากนางสาวเดียร์ โดยนางสาวทรายและนางสาวเดียร์ต่างรับเช็คไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อมานายพิชญ์ทราบว่าเช็คที่ตนทําตกหายอยู่ที่นางสาวทรายและนางสาวเดียร์ จึงทวงถามบุคคล ทั้งสองให้คืนเช็คให้

จงวินิจฉัยว่า

(ก) นางสาวทราย ต้องคืนเช็คฉบับแรกซึ่งเป็นเช็คชนิดผู้ถือ หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) นางสาวเดียร์ ต้องคืนเช็คฉบับที่สองซึ่งเป็นชนิดระบุชื่อ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่า เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคล ผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินตัวยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสีย และห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

มาตรา 1008 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อ ในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจ ให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิ อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญา แห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) เช็คฉบับแรกที่นางสาวน้ำสั่งจ่ายให้แก่นายพิชญ์นั้น เมื่อเป็นเช็คชนิดผู้ถือ การที่นายพิชญ์ได้ ทําเช็คฉบับนี้ตกหายและนายกุ้งเก็บได้ การที่นายกุ้งได้นําเช็คฉบับนี้ไปชําระหนี้โดยส่งมอบให้แก่นางสาวทราย โดยนางสาวทรายได้รับเช็คไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง นางสาวทรายย่อมเป็นผู้ทรงและเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 ประกอบมาตรา 905 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ดังนั้น เมื่อนายพิชญ์ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครองเนื่องจากการทำเช็คตกหายได้ทวงถามเช็คคืน จากนางสาวทราย นางสาวทรายซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและสามารถแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนที่ ได้รับเช็คฉบับดังกล่าวมาโดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่ต้องคืนเช็คให้แก่นายพิชญ์ตาม มาตรา 905 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม

(ข) เช็คฉบับที่ 2 นั้น เมื่อนางสาวน้ำสั่งจ่ายให้แก่นายพิชญ์ โดยระบุชื่อนายพิชญ์เป็นผู้รับเงิน และได้ขีดฆ่าคําว่า “ หรือผู้ถือ” ในเช็คออก ย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดระบุชื่อ เมื่อนายพิชญ์ทําเช็คฉบับนี้ตกหาย และนายกุ้งเป็นผู้เก็บได้ ได้ทําการปลอมลายมือชื่อของนายพิชญ์แล้วสลักหลังและส่งมอบให้แก่นางสาวเดียร์ไปนั้น แม้นางสาวเดียร์จะได้รับเช็คไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่เมื่อตามมาตรา 1008 ให้ถือว่าลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย คือให้ถือเสมือนหนึ่งว่านายพิชญ่ไม่เคยสลักหลังเช็คนั้นเลย ดังนั้น จึงถือว่านางสาวเดียร์ได้รับเช็คชนิดระบุชื่อนี้มาจากการสลักหลังที่ขาดสาย นางสาวเดียร์จึงมิใช่ผู้ทรง โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง และเมื่อนายพิชญ์ได้ทวงถามเรียกเช็คคืนจากนางสาวเดียร์ นางสาวเดียร์จะต้องคืนเช็คฉบับนี้ให้แก่นายพิชญ์ตามมาตรา 905 วรรคสอง นางสาวเดียร์จะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิ อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงเช็คไว้ไม่ได้ แม้นางสาวเดียร์จะได้รับเช็คมาโดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงก็ตาม ทั้งนี้เพราะมาตรา 905 ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008

สรุป

(ก) นางสาวทรายไม่ต้องคืนเช็คให้แก่นายพิชญ์

(ข) นางสาวเดียร์ต้องคืนเช็คให้แก่นายพิชญ์

 

ข้อ 2. (ก) การรับรองตั๋วแลกเงินจะต้องทําอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

(ข) การอาวัลตั๋วแลกเงินคืออะไร เกิดขึ้นได้ในกรณีใดบ้างจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

ธงคําตอบ

(ก) “การรับรองตั๋วแลกเงิน” คือ การที่ “ผู้จ่าย” ได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคําสั่งของผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ทรง (หรือผู้รับเงิน) ตามจํานวนเงินที่ได้ให้ คํารับรองไว้

สําหรับ “วิธีการรับรองตั๋วแลกเงิน” ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ผู้จ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แบบหรือวิธีการรับรองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 931 ดังนี้ คือ

1 ให้ผู้จ่ายเขียนข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทํานองเดียวกันนั้น และ ลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น โดยอาจจะลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือ

2 ผู้จ่ายลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน โดยไม่เขียนข้อความ ดังกล่าวไว้เลยก็ได้ กฎหมายก็ให้จัดว่าเป็นคํารับรองแล้ว

อนึ่ง ถ้าผู้จ่ายได้ทําการรับรองโดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินนั้น ย่อมเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกําหนด จึงไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคํารับรองนั้นไม่มีผลนั่นเอง

(ข) “การอาวัลหรือการรับอาวัลตั๋วแลกเงิน” คือการที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว ในตัวแลกเงินนั้น ได้เข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินต่อผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่ง ตั๋วแลกเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลได้หลายคน และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่ารับประกันผู้ใด ถ้าไม่ระบุไว้ ให้ถือว่าเป็นการรับประกันผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 938 และมาตรา 939 วรรคสี่)

การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา และอาวัลโดยผลของกฎหมาย

1 การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา ทําได้โดย

1.1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่)

1.2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความ ใด ๆ ไว้ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

2 การอาวัลโดยผลของกฎหมาย เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินชนิด สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายและต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย

 

ข้อ 3. (ก) การที่มีลายมือชื่อปลอม หรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจ ปรากฏอยู่ในตั๋วเงินนั้น จะมี ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

(ข) นายจันทร์ลักเอาสมุดเช็คของนายอาทิตย์บิดาไป แล้วนายจันทร์ได้ทําการปลอมลายมือชื่อของนายอาทิตย์ลงในเช็คฉบับหนึ่งเพื่อสั่งจ่ายเช็คที่ลักมานั้นระบุชําระเงินให้กับตัวนายจันทร์เอง แล้วต่อมานายจันทร์ได้นําเช็คนั้นไปโอนชําระหนี้ต่อให้กับนายเสาร์ นายเสาร์เมื่อได้รับเช็คมาแล้ว ได้สอบถามไปยังนายอาทิตย์ถึงการสั่งจ่ายเช็คฉบับดังกล่าว นายอาทิตย์จึงได้ตรวจสอบและ ทราบว่านายจันทร์บุตรชายได้ทําการปลอมลายมือชื่อตนเพื่อสั่งจ่ายเช็คไป แต่เนื่องจากเกรงว่า นายจันทร์จะถูกดําเนินคดี นายอาทิตย์จึงได้แจ้งแก่นายเสาร์ไปว่าตนเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับ ดังกล่าวเอง หากต่อมา เช็คฉบับดังกล่าวขาดความเชื่อถือ นายเสาร์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจะสามารถไล่เบี้ยให้นายอาทิตย์ต้องรับผิดตามเช็คฉบับนั้นกับตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1008 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อ ในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิ อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่ง ตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับ ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็น ข้อต่อสู้

แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อ ซึ่งลงโดยปราศจากอํานาจแต่หากไม่ถึงเเก่เป็นลายมือปลอม”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว กรณีที่มีลายมือชื่อปลอม หรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจ ปรากฏอยู่ในตั๋วเงินนั้น จะมีผลทางกฎหมายดังนี้ คือ

1 ผลต่อเจ้าของลายมือชื่อ ลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจนั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันต่อเจ้าของลายมือชื่อ กล่าวคือ เจ้าของลายมือชื่อไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ทั้งนี้เพราะเจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมมิได้เป็นผู้เขียนลายมือชื่อนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน หรือมิได้มอบอํานาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อ ในตั๋วเงินในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอํานาจ เว้นแต่กรณีที่เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจาก อํานาจนั้นอาจมีผลผูกพันเจ้าของลายมือชื่อได้ หากเจ้าของลายมือชื่อได้ให้สัตยาบันตามมาตรา 1008 วรรคท้าย

2 ผลต่อคู่สัญญาคนอื่น ๆ ในตั๋วเงิน ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อปลอม ย่อมไม่มี ผลกระทบถึงความรับผิดของคู่สัญญาคนอื่น ๆ ที่ลงไว้ในตั๋วเงินโดยถูกต้อง ทั้งนี้เป็นเพราะความรับผิดของลูกหนี้ แต่ละคนที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในตั๋วเงิน และต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง นั้นเป็น เรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้แต่ละคนนั่นเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1006 ที่บัญญัติไว้ว่า

“การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์ แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

3 ผลต่อผู้ที่ได้ตั๋วเงินไว้ในความครอบครองและบุคคลอื่น ๆ ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีการลงลายมือชื่อปลอม หรือมีการลงลายมือโดยปราศจากอํานาจจะมีผลตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง คือ ให้ถือว่าลายมือชื่อ ปลอมหรือลงโดยปราศจากอํานาจนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย และผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อ

(1) จะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้ เว้นแต่ ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง อยู่ในฐานเป็นผู้ต้อง ตัดบท มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(2) จะทําให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้ เว้นแต่ ได้ใช้เงินไป ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม (ตามมาตรา 1009)

(3) จะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้ เว้นแต่ คู่สัญญา ผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจาก อํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใด ลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้ มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัย แสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่ คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง หรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจาก อํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ได้ลักเอาสมุดเช็คของนายอาทิตย์บิดาไปแล้วทําการปลอม ลายมือชื่อของนายอาทิตย์ลงในเช็คฉบับดังกล่าวนั้น โดยหลักแล้ว ลายมือชื่อปลอมของนายอาทิตย์นั้นเป็นอันใช้ ไม่ได้เลย กล่าวคือ นายอาทิตย์ไม่ต้องรับผิดต่อนายเสาร์เพราะนายอาทิตย์มิได้ลงลายมือชื่อในเช็คนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อนายเสาร์ได้รับเช็คฉบับดังกล่าวมาแล้วได้สอบถามไปยังนายอาทิตย์ถึงการสั่งจ่ายเช็ค และนายอาทิตย์ได้แจ้งแก่นายเสาร์ว่าตนเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ย่อมถือได้ว่านายอาทิตย์เป็นผู้ที่อยู่ใน ฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

ดังนั้น เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวขาดความเชื่อถือ นายเสาร์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจึงสามารถไล่เบี้ยให้นายอาทิตย์รับผิดตามเช็คฉบับนั้นให้กับตนได้

สรุป

นายเสาร์สามารถไล่เบี้ยให้นายอาทิตย์รับผิดตามเช็คฉบับนั้นให้กับตนได้

 

Advertisement