การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 (ก) การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

(ข) จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินจํานวน 500,000 บาท ระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก เพื่อเป็นการมัดจําในการสั่งซื้อสินค้า ทองไทย สลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับโอนและซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ต่อมาพุธได้ ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชําระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าทองไทยจะต้องรับผิดต่อ พฤหัสผู้ทรงตามกฎหมายตัวเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) อธิบาย

การอาวัลตั๋วแลกเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงินนั้นเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา และการอาวัลโดยผลของกฎหมาย

1 การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา ทําได้โดย

1.1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคแรก วรรคสอง และ วรรคสี่)

1.2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความ ใด ๆ ไว้ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

2 การอาวัลโดยผลของกฎหมาย เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินชนิด สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายและ ต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคแรก “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายืน โดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้ เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคแรก “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินจํานวน 500,000 บาท ให้แก่ทองไทยโดยมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก ตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวถือเป็นตั๋วแลกเงินชนิด สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าทองไทยจะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ขายลดให้แก่พุธ ทองไทยย่อมสามารถโอนได้โดย การส่งมอบตั๋วให้แก่พุธได้เลยโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อสลักหลังตัวแต่อย่างใด (ตามมาตรา 918)

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทองไทยได้สลักหลังโอนตั่วให้แก่พุธ แม้ว่าทองไทยจะมีเจตนา สลักหลังตั๋วก็ตาม แต่ตามกฎหมายให้ถือว่า การสลักหลังตั๋วของทองไทยนั้น เป็นเพียงการประกันหรือรับอาวัล ผู้สั่งจ่ายคือจันทร์ (ตามมาตรา 921) ซึ่งมีผลทําให้ทองไทยจะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้น เช่นเดียวกับจันทร์ โดยต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลจันทร์ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคแรก มาตรา 914 ประกอบมาตรา 921 และมาตรา 940 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อพุธได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชําระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส ทองไทยจึงต้องรับผิดต่อ พฤหัสผู้ทรงตามกฎหมายตั๋วเงินดังกล่าว

สรุป

ทองไทยต้องรับผิดต่อพฤหัสผู้ทรงตามกฎหมายตั๋วเงินในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย

 

 

ข้อ 2. (ก) ให้นักศึกษาอธิบายหลักการโอนตั๋วเงินตามกฎหมายมาโดยละเอียด

(ข) นายชาติสั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่งระบุให้ชําระเงินแก่นายชาย พร้อมทั้งขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วส่งมอบเช็คนั้นชําระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายชาย หลังจากนั้นนายชายได้ทําการ สลักหลังลอย และส่งมอบเช็คนั้นชําระหนี้ค่าเช่าอาคารให้แก่นางสาวหญิง ต่อมานางสาวหญิง ต้องการจะนําเช็คฉบับนั้นไปโอนชําระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นางสวยแต่ไม่ทราบวิธีการ นางสาวหญิง จึงมาปรึกษาท่าน ดังนี้ให้ท่านจงอธิบายถึงวิธีการโอนเช็คฉบับดังกล่าวตามหลักกฎหมายที่ ถูกต้องให้แก่นางสาวหญิง

ธงคําตอบ

(ก) ตามกฎหมายตั๋วเงินมี 3 ประเภท ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค ซึ่งหลักในการโอนตั๋วเงินนั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินเท่านั้น เพียงแต่ได้กําหนดให้นําหลักในการโอน ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อไปใช้กับการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย (ตามมาตรา 985 วรรคแรก และ มาตรา 989 วรรคแรก) และให้นําหลักในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือไปใช้กับการโอนเช็คชนิดสั่งจ่าย แก่ผู้ถือด้วย (ตามมาตรา 989 วรรคแรก)

สําหรับหลักในการโอนตั๋วแลกเงินนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ

การโอนสามารถกระทําได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่ บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 919)

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตัวก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 919 วรรคสอง)

อนึ่ง ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น ในกรณีที่เป็นการสลักหลังเฉพาะ (สลักหลัง ระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้แต่จะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น โดยอาจจะสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ถ้าในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น เป็นการสลักหลังลอย ดังนี้ผู้ทรงซึ่งได้ ตั๋วแลกเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอย ย่อมสามารถโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบหรือ อาจจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 920)

2 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

การโอนตั๋วเงินชนิดนี้ย่อมสามารถกระทําได้โดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมี การสลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ซึ่งบัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียง ด้วยส่งมอบให้กัน”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคแรก “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใด ก็ได้ คือ

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923.”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายชาติสั่งจ่ายเช็คโดยระบุให้ธนาคารใช้เงินแก่นายชาย และได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออก ถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป ก็จะต้องมีการ สลักหลังและส่งมอบ โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อผู้รับประโยชน์) หรือสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 917 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก) ดังนั้นเมื่อนายชายได้ทําการสลักหลังลอย (ไม่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ และส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นางสาวหญิง การโอนเช็คระหว่างนายชายและนางสาวหญิงย่อมเป็นการโอนที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย

และเมื่อเช็คนั้นได้ตกอยู่ในความครอบครองของนางสาวหญิง นางสาวหญิงย่อมเป็นผู้ทรงที่ได้รับ เช็คมาจากการสลักหลังลอยของนายชาย นางสาวหญิงย่อมมีสิทธิตามมาตรา 920 (2) (3) ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก กล่าวคือ สามารถที่จะโอนเช็คนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ ซึ่งการสลักหลังนั้นอาจจะ เป็นการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ หรืออาจจะโอนเช็คนั้นต่อไปโดยการส่งมอบเช็คเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องสลักหลังก็ได้

ดังนั้น เมื่อนางสาวหญิงต้องการโอนเช็คชําระหนี้ให้แก่นางสวย นางสาวหญิงสามารถโอนเช็ค นั้นได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ หรืออาจจะส่งมอบเช็คให้แก่นางสวยโดยไม่ต้องสลักหลังก็ได้

สรุป ข้าพเจ้าจะอธิบายถึงวิธีการโอนเช็คฉบับดังกล่าวแก่นางสาวหญิง ตามที่ได้อธิบายไว้ ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 (ก) เช็คขีดคร่อมทั่วไปที่มีข้อความ “A/C payee only” กลางรอยขีดคร่อมนั้นโดยผู้สั่งจ่ายก็ดี หรือโดยผู้ทรงก็ดี ยังคงโอนต่อไปได้หรือไม่ และจะมีผลกระทบต่อผู้รับโอนอย่างไร

(ข) แสนลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค ธนาคารสินไทย ขีดคร่อมทั่วไปลงวันที่ เดือน และปี ล่วงหน้าวางมัดจําจ้างศักดิ์ผลิตสินค้า โดยระบุคําว่า “เงินสด” หลังคำว่า “จ่าย” และมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก ศักดิ์ได้รับเช็คนั้นมาแล้วจึงเติมคําว่า “A/C payee only” บนรอยขีดคร่อม แต่ได้ทําเช็คนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว ส่งเก็บเช็คนั้นได้แล้วนําไปชําระหนี้ ชื่อซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้ โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าซื้อเป็นผู้ทรงเช็คซึ่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจะบังคับไล่เบี้ยแสน ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

(ก) เช็คขีดคร่อมทั่วไปที่มีข้อความ “A/C payee only” (จ่ายเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น) กลางรอย ขีดคร่อมโดยผู้สั่งจ่ายนั้น เป็นเช็คขีดคร่อมที่ผู้สั่งจ่ายสั่งห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช็คนั้นต่อไปตามมาตรา 917 วรรคสองประกอบมาตรา 989 วรรคแรก และจะมีผลตามกฎหมาย คือ ถ้าผู้รับเงิน (ผู้ทรง) จะโอนเช็คนั้นต่อไป ผู้ทรงจะโอนเช็คนั้นด้วยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคแรกไม่ได้ แต่จะต้องโอนโดยวิธีการโอน หนี้สามัญทั่ว ๆ ไปเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 กล่าวคือ จะต้องทําเป็นหนังสือโอนหนี้ตามเช็คนั้นระหว่างผู้โอน กับผู้รับโอนและผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้สั่งจ่าย (ลูกหนี้) หรือให้ผู้สั่งจ่ายให้ความยินยอม ในการโอนหนี้นั้นด้วยโดยการทําเป็นหนังสือเช่นเดียวกัน

ส่วนเช็คขีดคร่อมทั่วไปที่มีข้อความ “A/C payee only” โดยผู้ทรงนั้น เป็นเช็คขีดคร่อมที่ผู้ทรง สั่งห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช็คนั้นต่อไปตามมาตรา 905 3) และจะมีผลต่อผู้รับโอนตามมาตรา 999 กล่าวคือ ในกรณีที่บุคคลใดได้รับเช็คขีดคร่อมซึ่งผู้ทรงได้ระบุข้อความว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ลงไว้แล้ว บุคคลผู้รับโอนเช็คนั้น จะไม่มีสิทธิดีกว่าผู้ที่โอนเช็คให้แก่ตน ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” นั่นเอง เช่น ถ้าผู้ที่ โอนเช็คไม่มีสิทธิในเช็ค ผู้รับโอนเช็คนั้นก็ย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นเช่นเดียวกัน

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตัวเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่า เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคล ผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไบซึ่งตัวเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสีย และห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

มาตรา 995 (1) “เช็คไม่มีขีดคร่อม ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะขีดคร่อมเสียก็ได้ และจะทําเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคําลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้”

มาตรา 999 “บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคําว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้น ไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง ถ้าเป็นตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และ บุคคลนั้นได้ตั๋วเงินมาโดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 ประกอบมาตรา 905 เว้นแต่ในกรณีที่เป็นเช็คขีดคร่อมและมีข้อความว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” หรือ ข้อความอย่างอื่น เช่น “A/C payee only” อยู่ในระหว่างรอยขีดคร่อม บุคคลผู้ได้เช็คนั้นมาย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้น ยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา (มาตรา 999) กล่าวคือ ถ้าผู้โอนเช็คนั้นไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับโอนก็จะไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แสนลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค และขีดคร่อมทั่วไปไว้โดยมิได้ขีดฆ่า คําว่า “หรือผู้ถือ” ออก ย่อมเป็นเช็คใช้เงินให้แก่ผู้ถือ และการที่ศักดิ์ซึ่งได้รับเช็คนั้นจากแสนได้เติมคําว่า “A/C payee only” ซึ่งมีความหมายว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ลงไว้บนรอยขีดคร่อม ศักดิ์ย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 995 (3) และเมื่อศักดิ์ได้ทําเช็คนั้นตกหายไป และส่งเก็บเช็คนั้นได้ ดังนี้ส่งย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 904 และ 905 เพราะส่งได้เช็คนั้นมาอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเมื่อส่งนําเช็คนั้น ไปชําระหนี้แก่ชื่อ แม้ว่าชื่อจะได้รับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซื่อก็ไม่เป็นผู้ทรง โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะชื่อซึ่งได้รับโอนเช็คมาจากสงย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าส่ง (ตามมาตรา 999) และชื่อก็จะบังคับไล่เบี้ยแสนผู้สั่งจ่ายไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป ชื่อไม่เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะบังคับไล่เบี้ยแสนไม่ได้

Advertisement