การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 (ก) การอาวัลตั๋วแลกเงินคืออะไร เกิดขึ้นได้กรณีใดบ้าง

(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารอ่างทองชําระหนี้โท โดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออก โทสลักหลังชําระหนี้ตรีระบุชื่อตรีเป็นผู้รับโอนและส่งมอบเช็ค ให้กับตรี ต่อมาตรีสลักหลังลอยและส่งมอบเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่จัตวา จัตวาส่งมอบเช็ค ชําระหนี้บัวขาว เมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บัวขาวนําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอม จ่ายเงิน โดยอ้างว่าเงินในบัญชีของเอกมีไม่พอจ่าย

ดังนี้ บัวขาวจะไล่เบี้ยโท ตรี จัตวาให้รับผิด ได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) การอาวัลหรือการรับอาวัลตั๋วแลกเงิน คือการที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว ในตั๋วแลกเงินนั้น ได้เข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินต่อผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งตั๋วแลกเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลได้หลายคน และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่ารับประกันผู้ใด ถ้าไม่ระบุ ไว้ให้ถือว่าเป็นการรับประกันผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 938 และมาตรา 939 วรรคสี่)

การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา และการอาวัลโดยผลของกฎหมาย

1 การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา ทําได้โดย

1.1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัสในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่)

1.2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตัวแลกเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความ ใด ๆ ไว้ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

2 การอาวัลโดยผลของกฎหมาย เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงิน ชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายและ ต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคแรก “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตัวแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่น โดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงิน ตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่ายอมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคแรก “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา….. 914 ถึง 923, 938 ถึง 940″

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกสั่งจ่ายเช็คโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือ ผู้ถือ” ออกนั้น เช็คนั้นย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง (มาตรา 918 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จากการโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่ตรี จัตวา และบัวขาวตามลําดับนั้น โท และตรีได้ทําการสลักหลังเช็คฉบับนี้ด้วย ดังนี้ตามกฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังของโทและตรีนั้นเป็นเพียงการ รับอาวัลเอกผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (มาตรา 921 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก) ซึ่งโทและตรีก็จะต้องรับผิดเป็นอย่าง เดียวกันกับเอกผู้สั่งจ่าย (มาตรา 940 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก)

และเมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บัวขาวนําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน ดังนี้ บัวขาวย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้เอก โท และตรีรับผิดใช้เงินให้แก่ตนได้ เพราะ

1 เอกได้ลงลายมือชื่อของตนลงไว้ในเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดตามเช็คนั้นในฐานะ ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900, 914 และมาตรา 989 วรรคแรก

2 โทและตรีได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คโดยการสลักหลังเช็ค ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นเพียง การรับอาวัลผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลเอกผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900, 921 และมาตรา 989 วรรคแรก

ส่วนจัตวานั้นไม่ต้องรับผิดตามเช็ค เพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็ค ดังนั้นบัวขาวจะไล่เบี้ย ให้จัตวารับผิดไม่ได้

สรุป

บัวขาวสามารถไล่เบี้ยให้เอก โท และตรีรับผิดแก่ตนได้ แต่จะไล่เบี้ยให้จัตวารับผิดไม่ได้

 

ข้อ 2 (ก) ให้นักศึกษาอธิบายถึงหลักเกณฑ์ของการเป็น “ผู้ทรงตัวเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” มาให้เข้าใจ

(ข) นายกบสั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่ง ระบุชื่อนายไก่เป็นผู้รับเงิน พร้อมทั้งขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือในเช็คออกแล้วส่งมอบชําระหนี้ให้แก่นายไก่ ต่อมานายไก่นําเช็คนั้นไปสลักหลังลอยชําระหนี้ให้แก่ นางสาวหงส์ ต่อมานางสาวหงส์ได้ส่งมอบเช็คนั้นชําระหนี้ให้แก่นางสาวนก หลังจากนั้น นางสาวนกเกิดความสงสัยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในเช็คนี้โดยชอบหรือไม่ จึงมาปรึกษานายเป็ด ซึ่งนายเป็ดบอกกับนางสาวนกว่า นางสาวนกมิใช่ผู้มีสิทธิในเช็คฉบับนี้ เนื่องจากมีการโอน เช็คมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนี้ คําแนะนําของนายเป็ดที่ให้กับนางสาวนกนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่า เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคล ผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสีย และห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตัวเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตัวตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทําให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตัวเงินโดย ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง คือมีการครอบครองหรือยึดถือตั๋วเงินนั้นด้วยเจตนา ยึดถือเพื่อตน

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลังในกรณีที่เป็นตั๋วเงิน ชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ หรืออาจครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะผู้ถือในกรณีที่เป็นตัวเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่น ได้ตั๋วเงินนั้นมาจากผู้สั่งจ่าย (หรือผู้ออกตัว) หรือได้รับโอนตั๋วเงินนั้นมาโดยสุจริต

4 ในกรณีเป็นผู้ครอบครองตัวเงินในฐานะผู้รับสลักหลัง (ไม่ว่าจะเป็นผู้รับสลักหลังจาก การสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอย) จะต้องแสดงให้ปรากฏสิทธิในการสลักหลังที่ไม่ขาดสายด้วย คือแสดง ให้เห็นว่าตั๋วเงินนั้นมีการสลักหลังโอนติดต่อกันมาตามลําดับโดยไม่ขาดตอน แม้ว่าการสลักหลังบางรายจะเป็น สลักหลังลอยก็ตาม

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 905 วรรคแรก “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ใน ครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอย ก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้นเป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่ง คําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้วท่านให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย”

มาตรา 917 วรรคแรก “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อม ฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย” ”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใด ก็ได้ คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 914 ถึง 923”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อเช็คที่นายกบออกให้แก่นายไก่เป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (เพราะมี การขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือในเช็คออก) ดังนั้นถ้านายไก่จะโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่นางสาวหงส์ นายไก่ก็จะต้องโอนเช็ค โดยการสลักหลังและส่งมอบ ซึ่งการสลักหลังนั้นอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ตามมาตรา 917 วรรคแรก และมาตรา 919 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายไก่ได้โอนเช็คฉบับนี้ให้แก่นางสาวหงส์โดยการสลักหลังลอย ดังนั้นเมื่อนางสาวหงส์ต้องการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไปให้แก่นางสาวนก นางสาวหงส์ก็สามารถโอนได้โดยการสลักหลัง และส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก หรืออาจจะโอนโดยการส่งมอบเช็คให้แก่ นางสาวนกโดยไม่มีการสลักหลังใด ๆ เลยก็ได้ตามมาตรา 920(3) ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก และเมื่อปรากฏว่า นางสาวหงส์ได้โอนเช็คฉบับนี้ให้แก่นางสาวนกโดยการส่งมอบ ย่อมถือว่านางสาวนกได้รับโอนเช็คมาโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย และให้ถือว่านางสาวนกได้รับโอนเช็คมาจากการสลักหลังลอยของนายไก่ การสลักหลังโอนเช็คฉบับนี้ จึงไม่ขาดสาย นางสาวนกซึ่งครอบครองเช็คฉบับนี้อยู่จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคแรก และย่อมมีสิทธิในเช็คฉบับนี้โดยชอบ ดังนั้นคําแนะนําของนายเป็ดที่ว่า นางสาวนก มิใช่ผู้มีสิทธิในเซ็คฉบับนี้ เนื่องจากมีการโอนเช็คมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจึงไม่ถูกต้อง

สรุป

คําแนะนําของนายเป็ดที่ให้กับนางสาวนกนั้นไม่ถูกต้อง

 

 

ข้อ 3 (ก) ธนาคารมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คที่ผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตนเสมอไปหรือไม่ อนึ่งคําว่า “ผู้เคยค้า” นั้น หมายถึงใคร อีกทั้งมีนิติสัมพันธ์กับธนาคารเกี่ยวด้วยเรื่องใด

(ข) เอกได้รับเช็คจากการชําระหนี้โดยโทลูกหนี้เป็นเช็คที่ตรีเป็นผู้สั่งจ่ายล่วงหน้าระบุโทเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ปรากฏจากใบคืนเช็คว่าบัญชีของตรีได้ปิดไปแล้ว

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า เอกจะเรียกร้องให้โทและธนาคารต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาท ดังกล่าวได้เพียงใด หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) โดยหลักแล้ว ธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงิน แก่ตนเสมอตามสัญญาฝากทรัพย์ในรูปบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (Current Deposit Account) ซึ่ง “ผู้เคยค้า” นั้นหมายถึง “ผู้สั่งจ่ายเช็ค” อันเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับผู้สั่งจ่ายในฐานะเจ้าหนี้ ขณะที่ธนาคาร มีฐานะเป็นลูกหนี้

แต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นตามมาตรา 991(1) (2) และ (3) ที่กฎหมายบัญญัติให้ธนาคาร มีสิทธิใช้ดุลพินิจว่าจะจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายหรือไม่ก็ได้ กล่าวคือธนาคารอาจจะปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ตามเช็คก็ได้ ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

(1) กรณีไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า หรือมีแต่ไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่หากธนาคารอนุมัติ ให้จ่าย ย่อมถือว่าธนาคารได้อนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชี (O/D) และก่อให้เกิดบัญชีเดินสะพัดตามนัย มาตรา 856 ระหว่างธนาคารกับผู้สั่งจ่าย

(2) กรณีผู้ทรงเช็คได้ยืนเช็คเกิน 6 เดือนนับแต่วันเดือนปีที่ออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค)

(3) กรณีที่ได้มีคําบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป

และถ้าหากเป็นกรณีตามมาตรา 992(1) (2) และ (3) ธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คไม่ได้เลย เพราะถือว่าอํานาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คของธนาคารได้สิ้นสุดลงแล้ว กรณีดังกล่าวได้แก่

(1) มีคําบอกห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยผู้สั่งจ่าย

(2) ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คตาย

(3) ธนาคารรู้ว่าศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือคําสั่ง ให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือได้มีประกาศโฆษณาคําสั่งเช่นนั้น

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคแรก “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคแรก “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 914 ถึง 923 938 ถึง 940.”

มาตรา 993 วรรคแรก “ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคําว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคําใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ท่านว่าธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นใน อันจะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกได้รับเช็คจากการชําระหนี้ของโทและเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ (เพราะเป็นเช็คสั่งจ่ายแก่โทหรือผู้ถือ) เมื่อเอกนําเช็คไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ เอกจะเรียกร้องให้โทรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าการโอนเช็คให้แก่เอกนั้น โทได้สลักหลังโอนเซ็คผู้ถือให้แก่เอกหรือไม่

กรณีแรก ถ้าโทได้สลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่เอก เอกย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้โทรับผิด ในฐานะเป็นผู้รับอาวัลตรีผู้สั่งจ่ายได้ตามมาตรา 900 วรรคแรก, 918, 921 และ 940 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก

กรณีที่ 2 ถ้าโทได้โอนเช็คให้แก่เอกโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อ สลักหลังในเช็คนั้น เอกย่อมไม่สามารถเรียกร้องให้โทรับผิดได้ เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อของโทในเช็คนั้น

ส่วนธนาคารนั้น เอกจะเรียกร้องให้ธนาคารรับผิดไม่ได้ เพราะเมื่อธนาคารไม่ได้ลงลายมือชื่อ รับรองเช็ค ธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดตามเช็ค (มาตรา 900 วรรคแรก ประกอบมาตรา 993 วรรคแรก)

สรุป

เอกจะเรียกร้องให้โทรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทได้ก็ต่อเมื่อโทได้สลักหลังโอนเช็ค ให้แก่เอก แต่เอกจะเรียกร้องให้ธนาคารซึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเช็ครับผิดตามเช็คไม่ได้

Advertisement