การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายเก่งเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท มอเตอร์อิมแพค จํากัด โดยตกลงจะชําระราคาค่าเช่าซื้อเป็น 60 งวด หลังจากทําสัญญาเช่าซื้อเสร็จนายเก่งกลัวว่ารถยนต์ของตนจะสูญหายเพราะบ้านของตนเอง ไม่มีที่จอดรถจะต้องจอดไว้ที่ถนนหน้าบ้าน ทั้งในบริเวณนั้นเกิดการโจรกรรมรถยนต์ขึ้นบ่อย นายเก่งจึงได้ติดต่อไปที่นายเกมส์ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท มานะประกันภัย ในการจัดหาและ ชักชวนให้ผู้อื่นมาทําสัญญาประกัน (แต่ไม่ได้รับมอบอํานาจในการพิจารณารับทําสัญญาประกันภัย) เพื่อขอทําประกันภัยประเภทที่ 1 คุ้มครองทุกอย่างรวมถึงการโจรกรรมรถยนต์ด้วย ในขณะทํา สัญญาประกันภัย นายเก่งได้แถลงลงในใบขอเอาประกันว่ารถยนต์ของตนนั้นจอดอยู่ในบ้านและ ในบริเวณนั้นไม่เคยมีการโจรกรรมรถยนต์เกิดขึ้น ซึ่งนายเกมส์ได้รู้ว่าข้อความที่นายเก่งแถลงเป็น ความเท็จแต่ก็นําใบขอเอาประกันของนายเก่งไปเสนอต่อบริษัท มานะประกันภัย รับทําสัญญาประกัน ตามใบเสนอขอเอาประกันดังกล่าวโดยมีอายุการคุ้มครองตามสัญญา 5 ปี ในระหว่างอายุความคุ้มครอง ของสัญญารถยนต์ของนายเก่งซึ่งได้ชําระค่าเช่าซื้อไป 40 งวดแล้วเกิดสูญหายจากการลักขโมย นายเก่งจึงแจ้งไปยังบริษัท มานะประกันภัย เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์ถูกโจรกรรม ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขการคุ้มครองของสัญญา บริษัท มานะประกันภัย ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ดังกล่าวโดยอ้างว่านายเก่งยังชําระค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของบริษัท มอเตอร์ อิมแพค นายเก่งไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยประการหนึ่ง และการที่นายเก่งแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จว่ารถยนต์ของตนนั้นจอดอยู่ในบ้านและในบริเวณนั้นไม่เคยมีการโจรกรรมรถยนต์เกิดขึ้น จึงทําให้สัญญาตกเป็นโมฆยะอีกประการหนึ่ง ข้ออ้างในการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัท มานะประกันภัย ทั้งสองประการนี้ ฟังขึ้นหรือไม่ และบริษัท มานะประกันภัย จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเก่งหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะ บอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 866 “ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่า ข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ในขณะทําสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอา ประกันภัย มิเช่นนั้นสัญญาประกันภัยจะไม่ผูกพันคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้รับประกันภัยให้ต้องรับผิดในการจ่าย ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย (มาตรา 863) อีกทั้งผู้เอาประกันภัยยังมีหน้าที่จะต้องแถลงข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ถ้าในขณะทําสัญญา ผู้เอาประกันปกปิดข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆี่ยะ (มาตรา 865) แต่ถ้าหากผู้รับประกันภัยได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการปกปิดข้อความจริงหรือการแถลงข้อความเท็จของผู้เอาประกันภัย ในขณะทําสัญญาประกันภัย สัญญานั้นย่อมเป็นอันสมบูรณ์ (มาตรา 866)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นายเก่งได้นํารถยนต์ที่ตนเช่าซื้อไปทําสัญญาประกันภัยกับบริษัท มานะ ประกันภัยนั้น ถือว่านายเก่งในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันโดยไม่ต้องคํานึงว่า นายเก่งจะได้ชําระราคาค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วหรือไม่ ดังนั้น เมื่อรถยนต์ของนายเก่งซึ่งได้ชําระค่าเช่าซื้อไป 40 งวด ยังไม่ครบ 60 งวด เกิดสูญหายจากการลักขโมย การที่บริษัท มานะประกันภัย ได้ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม ทดแทนโดยอ้างว่านายเก่งยังชําระค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของบริษัท มอเตอร์อิมแพค นายเก่งไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยนั้น ข้ออ้างในการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัท มานะ ประกันภัย ในกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น

กรณีที่ 2 การที่นายเก่งแถลงข้อความอันเป็นเท็จในใบขอเอาประกันว่ารถยนต์ของตนนั้น จอดอยู่ในบ้านและในบริเวณนั้นไม่เคยมีการโจรกรรมรถยนต์เกิดขึ้น ทั้งที่แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ถือว่า นายเก่งได้แถลงข้อความอันเป็นเท็จในขณะทําสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆี่ยะ ตามมาตรา 865 และถึงแม้ว่านายเกมส์ตัวแทนของบริษัท มานะประกันภัย จะได้รู้ถึงการแถลงข้อความอันเป็นเท็จ ดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าบริษัท มานะประกันภัย ได้รู้ถึงการแถลงข้อความอันเป็นเท็จนั้น เพราะนายเกมส์มีหน้าที่เพียง จัดหาและชักชวนให้ผู้อื่นมาทําสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่อํานาจในการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงใน ใบเสนอขอเอาประกันเป็นอํานาจของบริษัท มานะประกันภัย เมื่อบริษัท มานะประกันภัย ได้ทราบถึงการแถลง ข้อความอันเป็นเท็จของนายเก่ง บริษัท มานะประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะบอกล้างให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆะ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ ดังนั้นข้ออ้างในการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ว่านายเก่งแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จจึงฟังขึ้น

สรุป

ข้ออ้างในการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัท มานะประกันภัย ที่ว่า นายเก่งไม่มีสวนได้เสียในสัญญาประกันภัยฟังไม่ขึ้น แต่ข้ออ้างที่ว่านายเก่งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นฟังขึ้น ดังนั้น บริษัท มานะประกันภัย จึงไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเก่ง

 

ข้อ 2 นายหมื่นเป็นเจ้าของรถยนต์คนหนึ่งได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปทําสัญญาประกันภัยในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์กับบริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัยห้าแสนบาท มีกําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญาประกันภัยได้ 5 เดือน นายเรืองมาติดต่อนายหมื่นเพื่อขอซื้อ รถยนต์จากนายหมื่น และนัดทําสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งอยู่ในระหว่าง อายุสัญญาประกันภัย ปรากฏว่าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 นายหมื่นขับรถยนต์นั้นไปทําธุระ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทําให้เกิดเหตุขับไปเฉียวชนกับเสาไฟฟ้าข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์นั้น ได้รับความเสียหายตีราคาความเสียหายเป็นจํานวนสามหมื่นบาท โดยนายหมื่นยังไม่ได้เรียก ค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท ยังยืนประกันวินาศภัย จํากัด ดังนั้น เมื่อครบกําหนดวันนัดทําสัญญาซื้อขาย นายเรืองได้มาทําสัญญาตามที่นัดไว้และแม้นายเรือง จะเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายแต่ก็ต้องการที่จะซื้อเพราะเห็นว่ารถยนต์คันนี้มีประกัน นายเรืองก็สามารถเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด นั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมาโดยสัญญาซื้อขาย อีกทั้งนายหมื่นได้มีการบอกกล่าวการโอนโดยวาจา ไปยังบริษัทฯ แล้ว จงวินิจฉัยว่า นายเรืองมีสิทธิเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 306 วรรคหนึ่ง “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คําบอกกล่าวหรือความยินยอม เช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือ”

มาตรา 875 “ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรม ก็ดี หรือโดยบทบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ยอมโอนตามไปด้วย

ถ้าในสัญญามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและ บอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมื่นซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันภัย ในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์กับบริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด และหลังจากทําสัญญาประกันภัยได้ 5 เดือน นายหมื่นได้ตกลงขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายเรือง และนัดทําสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 นายหมื่นได้ ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเฉียวชนกับเสาไฟฟ้าข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์คันนั้นได้รับความเสียหายตีราคาความเสียหาย เป็นจํานวนเงินสามหมื่นบาท โดยนายหมื่นยังไม่ได้เรียกค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด และเมื่อครบกําหนดวันนัดทําสัญญาซื้อขาย นายเรืองได้มาทําสัญญาตามที่นัดไว้ และนายหมื่นได้มีการบอกกล่าว โดยวาจาไปยังบริษัทฯ แล้วนั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ นายเรืองจะมีสิทธิเรียกให้บริษัทยังยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่นได้หรือไม่

กรณีดังกล่าว นายเรืองย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัท ยังยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหม ทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่นได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การโอนวัตถุ ที่เอาประกันภัยตามมาตรา 875 วรรคสอง เนื่องจากนายเรืองได้รับโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยมาภายหลัง ที่เกิดวินาศภัยแล้ว สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนตามไปด้วย ซึ่งตามมาตรา 875 วรรคสองนั้น การโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยยอมโอนตามไปด้วยนั้นจะต้องเป็นการโอน ก่อนเกิดวินาศภัยเท่านั้น ดังนั้น หากเกิดวินาศภัยขึ้นแล้วและภายหลังมีการโอนเกิดขึ้นก็จะต้องทําตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ จะต้องทําเป็นหนังสือระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนและมีการบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยัง ลูกหนี้ (ผู้รับประกันภัย) ก่อน สิทธิที่มีอยู่จึงจะโอนตามไปด้วย แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่ามิได้มีการปฏิบัติตาม มาตรา 306 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด

สรุป

นายเรืองไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่น

 

ข้อ 3 นายปรีชาและนางบุญมี เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นายปรีชาได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเจริญมาจํานวน 200,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในกิจการค้าของตน ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2555 นายปรีชาได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงิน เอาประกัน 500,000 บาท โดยทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ ระบุให้นางบุญมีเป็นผู้รับประโยชน์ โดยได้ชําระเบี้ยประกันไป จํานวน 50,000 บาท วันที่ 25 สิงหาคม 2556 นายปรีชาประสบอุบัติเหตุ ระหว่างเดินทางไปเที่ยวกับเพื่อน ทําให้นายปรีชาถึงแก่ความตาย นางบุญมีจึงแจ้งไปยังบริษัท เมืองดีประกันชีวิต เพื่อขอรับเงินประกันตามสัญญา และนอกจากนั้นนายเจริญเจ้าหนี้ของนายปรีชา ก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด ใช้เงินให้แก่นายเจริญก่อนในฐานะเจ้าหนี้ ของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น จงวินิจฉัยว่า บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนางบุญมีและ นายเจริญหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 897 “ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกําหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะ ให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จํานวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟัง เอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกําหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่า เฉพาะแต่จํานวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปรีชาได้ทําสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ ต่อบริษัท เมืองดีประกันภัย จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 500,000 บาทนั้น ถือว่านายปรีชาเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในเหตุที่เอาประกัน สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 863 ประกอบมาตรา 889 ดังนั้น เมื่อนายปรีชา ถึงแก่ความตาย บริษัท เมืองดีประกันภัย จํากัด จึงต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนางบุญมีผู้รับประโยชน์เป็นเงิน จํานวน 450,000 บาท

ส่วนกรณีของนายเจริญซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายปรีชานั้น เมื่อนายปรีชาได้ทําสัญญาประกันชีวิต ตนเองและกําหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 897 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายเฉพาะจํานวนเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้ว เท่านั้น จะเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยที่เจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายปรีชาผู้เอาประกันภัยได้ส่งเบี้ยประกันไปแล้วจํานวน 50,000 บาท ดังนั้น บริษัท เมืองดีประกันภัย จํากัด จึงต้องใช้เงินให้แก่นายเจริญจํานวน 50,000 บาท ตามมาตรา 897 วรรคสอง

สรุป

บริษัท เมืองดีประกันภัย จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนางบุญมีจํานวน 450,000 บาท และใช้เงินให้แกนายเจริญจํานวน 50,000 บาท

Advertisement