การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายกรุงไทยนํารถยนต์ที่เขาซื้อกับบริษัท กรุงเก่า ไปทําสัญญาประกันภัยกับบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด โดยนายกรุงไทยเป็นผู้เอาประกันภัย และระบุให้บริษัท กรุงเก่า เป็นผู้รับประโยชน์ หลังจาก ทําสัญญาประกันภัยได้สามเดือน นายกรุงไทยได้ค้างชําระค่าเช่าซื้อกับบริษัท กรุงเก่า ทําให้บริษัท กรุงเก่า ฟ้องเรียกให้นายกรุงไทยชําระค่าเช่าซื้อที่ค้างชําระ นายกรุงไทยจึงเปลี่ยนแปลงข้อตกลง ในสัญญาประกันภัยกับบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด โดยระบุให้นายกรุงไทยเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากนั้นรถยนต์คันดังกล่าวได้สูญหายไป นายกรุงไทยจึงเรียกให้บริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอ้างว่า นายกรุงไทยยังค้างชําระค่าเช่าซื้ออยู่ ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน ดังนี้ ข้ออ้างของบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ซึ่งขึ้นหรือไม่ และนายกรุงไทยจะฟ้องให้บริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทําสัญญาตกลงว่าจะชําระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่า บุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนา แก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น”

มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่”

มาตรา 376 “ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดังกล่าวมาในมาตรา 374 นั้น ลูกหนี้อาจจะ ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้”

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับ จํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 877 “ผู้รับประกันภัยจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) เพื่อจํานวนวินาศภัยอันแท้จริง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกรุงไทยนํารถยนต์ที่เช่าซื้อไปทําสัญญาประกันภัยกับบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด โดยระบุให้บริษัท กรุงเก่า เป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมถือว่านายกรุงไทยเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในเหตุที่จะเอาประกันภัยตามมาตรา 863 สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

อย่างไรก็ตาม การที่นายกรุงไทยระบุในสัญญาให้บริษัท กรุงเก่า ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อเป็น ผู้รับประโยชน์จึงเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยระบุให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงต้องปรับเข้ากับมาตรา 374, 375 และ 376 นั่นคือ ผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้น จะต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยเสียก่อน สิทธิของผู้รับประโยชน์จึงจะเกิดขึ้น และเมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์เกิดขึ้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย จะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของผู้รับประโยชน์ในภายหลังไม่ได้

กรณีตามข้อเท็จจริง การที่บริษัท กรุงเก่า ฟ้องเรียกให้นายกรุงไทยชําระค่าเช่าซื้อที่ค้างชําระนั้น ย่อมแสดงว่า บริษัท กรุงเก่า ได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยแล้ว นายกรุงไทย ผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาเข้าเป็นผู้รับประโยชน์เองได้ (มาตรา 862) นายกรุงไทย ผู้เอาประกันภัยและบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด จึงเป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัย ซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ที่นายกรุงไทยได้เอาประกันภัยไว้สูญหายไป บริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ผู้รับประกันภัยจึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับนายกรุงไทยตามมาตรา 877 ถึงแม้ว่านายกรุงไทยจะค้างชําระค่าเช่าซื้ออยู่ก็ตาม (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1950/2543)

ดังนั้น ข้ออ้างของบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ที่ว่านายกรุงไทยยังค้างชําระค่าเช่าซื้ออยู่ ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น และนายกรุงไทยสามารถฟ้องให้บริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ในการเพิ่ม สรุป ข้ออ้างของบริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น และนายกรุงไทยสามารถฟ้องให้ บริษัท มั่นคงประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

 

ข้อ 2 นายแหลมซื้อรถเบนซ์ด้วยเงินสดราคา 3 ล้าน 5 แสนบาท นายแหลมทําสัญญาประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองทุกอย่าง รวมถึงตัวรถของผู้เอาประกันภัยด้วยจํานวนเงินเอาประกันภัย 2 ล้าน 5 แสนบาท ในระหว่างที่สัญญา มีผลบังคับ นายแมนเป็นผู้ทําให้เกิดอุบัติเหตุโดยขับรถกระบะด้วยความประมาทเลินเล่ออย่าง ร้ายแรงแซงรถบรรทุกคันหน้าเข้าไปในช่องเดินรถที่นายแหลมแล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด โดยนายแมนไม่รอให้รถเบนซ์ของนายแหลมขับแล่นผ่านไปก่อน เป็นเหตุให้นายแหลมจําต้องขับ รถเบนซ์หลบไปด้านซ้ายของถนนเพื่อไม่ให้ถูกรถของนายแมนชนประสานงากัน จึงทําให้รถเบนซ์ ของนายแหลมพลิกคว่ําเสียหาย นายแหลมจึงแจ้งผู้รับประกันภัย บริษัทประกันชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนแก่นายแหลมตามทุนประกัน คือ 2 ล้าน 5 แสนบาท แต่ปรากฏว่านายแหลมนํารถนั้นเข้า อู่ซ่อมและจ่ายค่าซ่อมให้เก่นายแช่มเจ้าของอู่ไป 1 ล้าน 5 แสนบาท อยากทราบว่า บริษัทประกันภัย มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจํานวน 2 ล้าน 5 แสนบาท จากนายแมนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงยก ตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 880 วรรคหนึ่ง “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 880 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการ กระทําของบุคคลภายนอก และผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิ เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น แต่ผู้รับประกันภัย สามารถเข้ารับช่วงสิทธิไปเรียกเอาแก่บุคคลภายนอกเพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้รับ ความเสียหายจริงเท่านั้น จะเรียกเอาจากบุคคลภายนอกเกินความเสียหายจริงที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ได้รับไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รถของนายแหลมผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายโดยการพลิกคว่ํา นั้น เป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายแมน ซึ่งขับรถแซงเข้ามาในช่องเดินรถสวน จึงต้องถือว่าวินาศภัยดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก และการที่บริษัทประกันวินาศภัย ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแหลม 2 ล้าน 5 แสนบาท ถือว่าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว บริษัทประกันภัยจึงสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายแหลมที่มีต่อนายแมนบุคคลภายนอกได้ ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยในการเรียกร้องเอาจากนายแมนนั้น จะต้องไม่เกินความเสียหายจริงที่นายแหลมได้รับจากการกระทําของนายแมน ดังนั้น เมื่อความเสียหายที่นายแหลม ได้รับจากการกระทําของนายแมน คือ 1 ล้าน 5 แสนบาท บริษัทจึงเข้ารับช่วงสิทธิของนายแหลมในการเรียกร้อง เอาแก่นายแมนได้เพียง 1 ล้าน 5 แสนบาทเท่านั้น ส่วนที่เกินความเสียหายอีก 1 ล้านบาท นายแมนหาจําต้อง รับผิดต่อบริษัทประกันภัยแต่อย่างใดไม่ (เทียบฎีกาที่ 16/2552)

สรุป

บริษัทประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจํานวน 2 ล้าน 5 แสนบาท จากนายแมน แต่สามารถเรียกได้เพียง 1 ล้าน 5 แสนบาทเท่านั้น

 

ข้อ 3 นายหมึกทําสัญญาประกันชีวิตตนเองอาศัยเหตุมรณะกับบริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ระบุให้นายกุ้งบุตรของนายหมึกเป็นผู้รับประโยชน์จํานวนเงินซึ่งเอาประกันชีวิต 1 ล้านบาท วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 นายหมึกทําสัญญาประกันโดยเอาประกันชีวิตนางปลา ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหมึกไว้กับบริษัท ร่ํารวยประกันชีวิต จํากัด ระบุให้นายกุ้งเป็น ผู้รับประโยชน์เช่นกัน มีจํานวนเงินที่เอาประกันชีวิต 5 แสนบาท วันที่ 1 มีนาคม 2556 ซึ่งอยู่ใน อายุกรมธรรม์ นายหมึกทะเลาะกับนางปลาอย่างรุนแรง นายหมึกใช้อาวุธปืนยิงนางปลาตาย และใช้ ปืนนั้นยิงตัวเองตายตาม จงวินิจฉัยว่า บริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด และบริษัท ร่ํารวยประกันชีวิต จํากัด จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นายกุ้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก เมื่อผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย บริษัทผู้รับประกัน จะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้น เว้นแต่บุคคลนั้นจะได้กระทําอัตวินิบาตหรือฆ่าตัวตายด้วยใจสมัคร ภายใน 1 ปีนับแต่วันทําสัญญา หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมีกได้ทําสัญญาประกันชีวิตตนเองอาศัยเหตุมรณะกับบริษัท มั่งมีประกันชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 โดยระบุให้นายกุ้งบุตรของนายหมึกเป็นผู้รับประโยชน์ และได้ทํา สัญญาประกันโดยเอาประกันชีวิตนางปลากริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหมีกไว้กับบริษัท ร่ํารวยประกันชีวิต จํากัด ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยระบุให้นายกุ้งเป็นผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกันนั้น ทั้งสองกรณีนายหมึก ย่อมสามารถทําได้เพราะถือว่านายหมึกผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 ดังนั้น สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

ในวันที่ 1 มีนาคม 2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุกรมธรรม์ การที่นายหมึกทะเลาะกับนางปลา อย่างรุนแรง นายหมึกได้ใช้อาวุธปืนยิงนางปลาตายและใช้ปืนยิงตัวเองตายตามนั้น กรณีดังกล่าว บริษัท มั่งมี ประกันชีวิต จํากัด และบริษัท ร่ํารวยประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่นายกุ้งผู้รับ ประโยชน์ทั้งนี้เพราะ

กรณีแรก การที่นายหมึกใช้อาวุธปืนยิงตัวเองตายนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายหมึกได้กระทํา อัตวินิบาตด้วยใจสมัครเมื่อพ้นกําหนด 1 ปีนับแต่วันทําสัญญาแล้ว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 (1)

กรณีที่ 2 การที่นางปลาตายนั้น เกิดจากการที่นายหมีกซึ่งมิใช่ผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา มิได้เกิดจากการกระทําของนายกุ้งผู้รับประโยชน์แต่อย่างใด จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 (2)

สรุป

บริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด และบริษัท ร่ำรวยประกันชีวิต จํากัด จะปฏิเสธไม่ใช้เงิน ตามสัญญาประกันชีวิตให้นายกุ้งไม่ได้

Advertisement