ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายชายอยู่กินกับนางสมฉันสามีภริยา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส นายชายขวนขวายจัดให้นางสมเอาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งเป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยนายชายเป็นผู้ให้ข้อความในแบบพิมพ์คำขอประกันชีวิต และนายชายเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันแทนนางสม ในกรมธรรม์ประกันภัยมีชื่อผู้เอาประกันคือนางสม แต่ระบุให้นายชายเป็นผู้รับประโยชน์
ต่อมาในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับ นางสมถึงแก่ความตาย นายชายจึงยื่นขอรับประโยชน์ ปรากฏว่าบริษัทประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่านางสมไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยเอง แต่นายชายเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน นายชายจึงเป็นผู้เอาประกันไม่ใช่นางสม สัญญาประกันชีวิตรายนี้จึงเป็นการที่นายชายประกันชีวิตผู้อื่นคือนางสม ไม่ใช่เป็นการที่นางสมประกันชีวิตตนเอง ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า
(ก) สัญญานี้ใครเป็นผู้เอาประกันชีวิต
(ข) เป็นการประกันชีวิตตนเองหรือผู้อื่น
(ค) สัญญาผูกพันหรือไม่
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 862 ตามข้อความในลักษณะนี้
คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 867 วรรคสาม กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย และมีรายการดังต่อไปนี้
(8) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ พิจารณาได้ดังนี้
(ก) จากข้อเท็จจริง การที่นายชายเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยนั้น ไม่ได้หมายความว่านายชายจะต้องเป็นผู้เอาประกันภัยเสมอไป เพราะเบี้ยประกันภัยเป็นหนี้ตามสัญญาซึ่งผู้เอาประกันภัยตกลงจะส่งให้ผู้รับประกันภัย (มาตรา 862) ซึ่งในทางปฏิบัติผู้เอาประกันภัยอาจไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยด้วยตนเอง คนอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัยก็ได้ส่วนใครเป็นผู้เอาประกันภัยรายนี้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชายได้ขวนขวายจัดให้นางสมเอาประกันชีวิต และในกรมธรรม์ประกันภัยมีชื่อผู้เอาประกันภัยคือ นางสม ดังนั้นตามมาตรา 867 วรรคสาม(8) สัญญานี้ผู้เอาประกันชีวิตก็คือนางสมนั่นเอง ทั้งนี้เพราะนางสมเป็นผู้เอาประกันโดยแท้จริง และมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงในเรื่องส่วนได้เสียแต่อย่างใด (ฎ. 1769/2521)
(ข) จากข้อเท็จจริง เมื่อนางสมเป็นผู้เอาประกันชีวิต และชีวิตที่เอาประกันแบบอาศัยความมรณะ ก็คือชีวิตของนางสมเอง จึงเป็นการประกันชีวิตตนเอง
(ค) จากข้อเท็จจริง เมื่อเป็นการเอาประกันชีวิตของนางสม โดยนางสมเป็นผู้เอาประกันซึ่งเป็นการประกันชีวิตตนเอง ดังนั้น จึงถือว่านางสมผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น เพราะในเรื่องสัญญาประกันชีวิตมีหลักอยู่ว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนได้เสียในชีวิตของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้น สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา 863
(ง) จากข้อเท็จจริง เมื่อสัญญาประกันชีวิตมีผลผูกพันคู่สัญญา และนางสมผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายนั้น ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินประกันจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่นายชายผู้รับประโยชน์ (มาตรา 889)
สรุป
(ก) สัญญานี้นางสมเป็นผู้เอาประกันชีวิต
(ข) เป็นการประกันชีวิตตนเอง
(ค) สัญญามีผลผูกพัน
(ง) บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงิน 1 ล้านบาทให้แก่นายชาย
ข้อ 2 นายสมหวังนำตึกหลังหนึ่งไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทดำในวงเงิน 200,000 บาท และต่อมานำไปประกันไว้กับบริษัทแดงในวงเงิน 400,000 บาท เกิดอัคคีภัยเสียหาย 250,000 บาท อยากทราบว่า บริษัทดำและบริษัทแดงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายสมหวังหรือไม่ ถ้าต้องรับผิดจะรับผิดมากน้อยเพียงใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 870 ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมหวังนำตึกหลังหนึ่งไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทดำและต่อมานำไปประกันไว้กับบริษัทแดงอีกนั้น ถือเป็นเรื่องการประกันวินาศภัยหลายรายในวัตถุเดียวกันและเป็นสัญญาสืบต่อเนื่องกัน ซึ่งตามหลักในเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดวินาศภัยนั้น ผู้รับประโยชน์จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริง และตามมาตรา 870 วรรคสามได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนเงินวินาศภัย ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้เกิดวินาศภัยคืออัคคีภัยขึ้นเสียหายเป็นจำนวนเงิน 250,000 บาท ดังนั้น บริษัทดำและบริษัทแดงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายสมหวังตามลำดับดังนี้คือ บริษัทดำผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อน เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับประกันไว้ เมื่อปรากฏว่ายังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัย บริษัทแดงผู้รับประกันภัยรายต่อมาจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ยังไม่คุ้มเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท (ตามมาตรา 870 วรรคสาม)
สรุป บริษัทดำและบริษัทแดงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายสมหวัง โดยบริษัทดำต้องรับผิดเป็นจำนวน 200,000 บาท ส่วนบริษัทแดงรับผิดเป็นจำนวน 50,000 บาท
ข้อ 3 นายเอกชัยสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางวาสนา ทำสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัท แสนดีประกันชีวิต จำนวนเงินที่เอาประกันภัย 2,000,000 บาท โดยระบุให้นางวาสนาเป็นผู้รับประโยชน์ นางวาสนาทะเลาะกับนายเอกชัยอย่างรุนแรงเนื่องจากว่านายเอกชัยระแวงว่านางวาสนาจะกลับไปอยู่กับสามีเก่าและคิดจะฆ่าตนเองเพื่อเอาเงินประกันภัย นางวาสนาน้อยใจนายเอกชัยจึงหนีไปอยู่กับน้องสาว ต่อมาบริษัทประกันภัยส่งกรมธรรม์มาให้ นายเอกชัยจึงทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าตนเองต้องการเปลี่ยนผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกราชลูกชาย ซึ่งเป็นลูกกับภริยาคนก่อน หลังจากนั้นอีก 2 ปี นายเอกชัยเดินทางไปดูงานที่ต่างจังหวัดได้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นางวาสนาได้ทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปเรียกร้องขอเงินประกันชีวิต แต่บริษัทประกันภัยแจ้งว่าได้จ่ายเงินให้แก่นายเอกราชไปแล้ว ดังนี้ บริษัทฯ แสนดีประกันภัยจ่ายเงินให้นายเอกราชนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 891 วรรคแรก แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 891 วรรคแรกนั้น แม้ผู้เอาประกันชีวิตจะได้กำหนดตัวผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตไว้แล้ว ผู้เอาประกันชีวิตก็ยังมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์ตามสัญญานั้นให้บุคคลอื่นได้ (โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตในการที่จะได้รับชดใช้เงินที่เอาประกันภัย) เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการต่อไปนี้ ผู้เอาประกันชีวิตไม่มีสิทธิโอนประโยชน์ให้แก่ผู้ใดอีก คือ
1 ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ
2 ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกชัยทำหนังสือแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าต้องการเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกราชลูกชายนั้น ถือเป็นการโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัยให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งคือจากนางวาสนาเป็นนายเอกราช เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางวาสนาผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้รับมอบกรมธรรม์ประกันภัย เนื่องจากหนีไปอยู่กับน้องสาว และไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทประกันภัยว่าตนเองประสงค์จะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัยนั้น ดังนั้น การโอนประโยชน์ในสัญญาประกันภัยที่นายเอกชัยได้กระทำนั้นจึงมีผลสมบูรณ์ นายเอกราชจึงเป็นผู้รับโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัยตามมาตรา 891 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายเอกชัยประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย การที่บริษัท แสนดีประกันภัยจ่ายเงินประกันภัยตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาให้นายเอกราชนั้นจึงถูกต้องแล้ว
สรุป บริษัท แสนดีประกันภัยจ่ายเงินให้นายเอกราชนั้นถูกต้องแล้ว