การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายหมอกเป็นเจ้าของตึกแถวราคา  10  ล้านบาท  นายเมฆเป็นพี่ชายนายหมอก  นายหมอกอนุญาตให้นายเมฆเข้ามาอาศัยอยู่และขายอาหารในตึกแถวนั้นได้  แต่นายเมฆกลัวว่าถ้าไฟไหม้ตึกแถวนี้  ตนจะได้รับความเดือดร้อน  เพราะต้องหาตึกแถวแห่งใหม่เพื่อทำการค้าต่อไป  นายเมฆจึงนำตึกแถวนี้ไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งเป็นเวลา  1  ปี  วงเงินเอาประกัน  5 แสนบาท  หลังจากทำสัญญาประกันภัยไปได้สามเดือน  นายหมอกได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยให้กับนายเมฆเป็นเวลา  10  ปี  อีก  1  เดือนต่อมาไฟไหม้ตึกแถวข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้ตึกแถวที่นายเมฆเอาประกันภัยไว้เสียหายทั้งหมด  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  สัญญาประกันภัยระหว่างนายเมฆกับบริษัทประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  869  อันคำว่า  วินาศภัย  ในหมวดนี้  ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆบรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเมฆผู้เอาประกันไม่มีส่วนได้เสียตามมาตรา  863  เพราะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆที่กฎหมายรับรองสิทธิเนื่องจากนายเมฆครอบครองตึกของนายหมอกในฐานะผู้อาศัย  โดยมิได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยไว้ด้วย  (คำพิพากษาฎีกาที่  1742/2502)  อีกทั้งนายเมฆไม่สามารถตีราคาความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้  ตามมาตรา  869  นายเมฆจึงไม่ได้รับความเสียหาย  เพราะนายเมฆยังไม่มีสิทธิใดๆในตึกแถวนี้

แม้ต่อมาภายหลังนายเมฆมีสิทธิอาศัย  เพราะมีการจดทะเบียนก็ไม่ทำให้สัญญาที่ไม่ผูกพันตั้งแต่ต้นกลายมาเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันภายหลังได้  เพราะส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันต้องมีก่อนหรือในขณะทำสัญญาเท่านั้น 

สรุป  สัญญาประกันภัยระหว่างนายเมฆกับบริษัทประกันภัยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญา

 

ข้อ  2  นายสักได้นำบ้านของตนไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทเงียบสูญประกันภัย  โดยกำหนดราคาแห่งมูลประกันภัย  1,000,000  บาท  จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย  800,000  บาท  ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาได้เกิดเพลิงไหม้บ้านเสียหายเป็นเงิน  796,000  บาท  และในขณะที่เกิดเพลิงไหม้นั้นนายสักได้พยายามป้องกันบ้านมิให้เกิดเพลิงไหม้โดยเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างฉีดน้ำป้องกันไฟเป็นจำนวนเงิน  6,000  บาท 

ดังนี้  นายสักมีสิทธิเรียกให้บริษัทเงียบสูญประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนได้ในกรณีใดบ้าง  เป็นจำนวนเงินเท่าใด  ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น  ท่านให้ตีราคา  ณ  สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศนั้นได้เกิดขึ้น  อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

วินิจฉัย

นายสักนำบ้านของตนไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทเงียบสูญประกันภัย  มีจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย  800,000  บาท  ในระหว่างอายุสัญญา  เกิดเพลิงไหม้บ้านเสียหายเป็นเงิน  796,000  บาท  และนายสักยังได้เสียค่าใช้จ่ายในการจ้างฉีดน้ำป้องกันไฟเป็นเงิน  6,000 บาท  ดังนี้  นายสักย่อมมีสิทธิเรียกให้บริษัทเงียบสูญประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงที่เกิดขึ้นกับตัวบ้าน  คือ  796,000  บาท  ตามมาตรา  877(1)  และมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไป เพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ  คือค่าใช้จ่ายในการจ้างฉีดน้ำป้องกันไฟเป็นจำนวนเงิน  6,000  บาท  ตามมาตรา  877(3)  เมื่อรวมแล้วคิดเป็นค่าสินไหมทดแทนที่นายสักจะพึงได้คือ  802,000  บาท

แต่อย่างไรก็ตาม  ค่าสินไหมทดแทนที่นายสักจะได้รับนั้น  ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้คือ  800,000  บาท  ตามมาตรา  877  วรรคท้าย

สรุป  นายสักมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทเงียบสูญประกันภัย  ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีความเสียหายที่เกิดแก่ตัวบ้าน  และค่าสินไหมทดแทนในการรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้มิให้วินาศ  รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น  800,000  บาท

 

ข้อ  3  จันทร์ได้เอาประกันชีวิตอังคารซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไว้กับบริษัทไทยประกันชีวิต  จำนวนเงินที่เอาประกันภัย  5  ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  5  ปี  ระบุให้ตนเองและอาทิตย์บุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  ทั้งจันทร์และอาทิตย์ได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตแล้ว  ต่อมา  2  ปี  จันทร์กับอังคารได้หย่าขาดจากกันเนื่องจากจันทร์ไปได้ดาวพระศุกร์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง  จากความประพฤติของบิดาทำให้อาทิตย์บุตรชายไม่พอใจและได้ต่อว่าบิดา  ทั้งคู่เกิดการโต้เถียงกันขึ้นอย่างรุนแรง  อาทิตย์จึงชักปืนออกมาเพื่อขู่บิดา  เมื่ออังคารเห็นเข้าจึงรีบวิ่งเข้าไปห้ามในขณะที่ชุลมุนกันอยู่นั้น  อาทิตย์ได้ทำปืนลั่นถูกอังคารซึ่งเป็นมารดาตาย  ศาลได้พิพากษาจำคุก  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยประมาท  และให้รอลงอาญาไว้  5  เดือน  หลังจากนั้นจันทร์กับอาทิตย์ได้ไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจากบริษัทในฐานะผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  แต่บริษัทฯไม่จ่าย  อ้างว่า

1        จันทร์กับอังคารได้หย่าขาดจากกันแล้ว  จันทร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของอังคารในขณะที่อังคารตาย  จึงไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญา  และ

2      อาทิตย์ก็ไม่มีสิทธิรับเงินด้วยเช่นกัน  เพราะเหตุว่าได้ทำให้อังคารซึ่งเป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิตตาย

จงวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของบริษัททั้ง  2  ข้อ  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895  เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  จะเห็นได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันชีวิต  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1       จันทร์  เป็นผู้เอาประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย

2       อังคาร  เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิต

3       อาทิตย์  เป็นผู้รับประโยชน์

ข้อเท็จจริง  จันทร์ได้เอาประกันชีวิตของอังคารภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งความทรงชีพหรือมรณะของภริยาอาจมีผลกระทบต่อตนเอง  ถือว่ามีเหตุแห่งส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันคู่สัญญา  จากข้ออ้างของบริษัทตามข้อเท็จจริงทั้ง  2  ข้อนั้น  มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

 1       จันทร์กับอังคารได้หย่าขาดจากกันแล้ว  จันทร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของอังคารในขณะที่อังคารตาย  จึงไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญา  เห็นว่า  แม้จันทร์และอังคารจะได้หย่าขาดจากกันไปแล้ว  แต่สัญญาประกันชีวิตยังคงสมบูรณ์อยู่ไม่ทำให้สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด  เพราะส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันชีวิต  คงพิจารณาในขณะทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น  หาจำต้องพิจารณาในขณะมรณะอย่างใดไม่  ซึ่งตราบใดที่ผู้เอาประกันยังคงส่งเบี้ยประกันภัยอยู่ตามสัญญา  และเมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามมาตรา  889  บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาตามมาตรา  890  ให้กับจันทร์ผู้เอาประกัน  ข้ออ้างของบริษัทจึงฟังไม่ขึ้น

2       การที่อาทิตย์ได้ทำปืนลั่นถูกอังคารตายและศาลพิพากษาให้จำคุก  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยประมาทนั้น  ก็ไม่ใช่เป็นการที่ผู้รับประโยชน์ได้ฆ่าผู้เอาประกันหรือผู้ถูกเอาประกันตายโดยเจตนาตามมาตรา  895(2)  ดังนั้นอาทิตย์ก็ยังคงมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกับจันทร์  ข้ออ้างของบริษัทจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้นทั้ง  2  กรณี  ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับจันทร์และอาทิตย์

Advertisement