การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสงบทําสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบมรณะกับบริษัทไทยประกันชีวิต มีระยะเวลาตามกรมธรรม์ 20 ปี โดยระบุให้นางแก้วตาภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ในเวลาทําสัญญานายสงบรู้ตัวดีว่าตนกําลัง ป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ได้ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยให้บริษัทฯ ทราบ เพราะกลัวว่าบริษัทฯ จะไม่รับทํา สัญญาด้วย อีก 2 ปีต่อมาหลังจากทําสัญญา นายสงบถูกสุนัขบ้ากัดจนเสียชีวิต อยากทราบว่าสัญญาระหว่างบริษัทไทยประกันชีวิตกับนายสงบมีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสงบทําสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบมรณะกับบริษัทไทยประกันชีวิต มีระยะเวลาตามกรมธรรม์ 20 ปี โดยระบุให้นางแก้วตาภริยาเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมถือว่านายสงบ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเวลาทําสัญญา นายสงบรู้ตัวดีว่าตนกําลังป่วย เป็นโรคหัวใจซึ่งเป็นโรคสําคัญที่บริษัทประกันชีวิตไม่รับทําสัญญา แต่นายสงบได้ปกปิดไว้ไม่เปิดเผยให้บริษัทฯ ทราบ เพราะกลัวว่าบริษัทฯ จะไม่รับทําสัญญาด้วย กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีที่นายสงบผู้เอาประกันชีวิต รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆยะตั้งแต่ขณะทําสัญญาตามมาตรา 865 วรรคหนึ่ง แม้จะปรากฏใน ภายหลังว่านายสงบได้เสียชีวิตเพราะถูกสุนัขบ้ากัดไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคที่ปกปิดก็ตาม ก็ไม่ทําให้สัญญาที่ตกเป็น โมฆียะตั้งแต่แรกนั้นเปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญาที่สมบูรณ์แต่อย่างใด บริษัทประกันชีวิตจึงมีสิทธิ์บอกล้างสัญญา ประกันชีวิตนี้ได้แต่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่บริษัทประกันชีวิตได้ทราบมูล อันอาจจะบอกล้างได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันทําสัญญา (มาตรา 865 วรรคสอง)

สรุป

สัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัทไทยประกันชีวิตกับนายสงบมีผลเป็นโมฆียะ และ บริษัทไทยประกันชีวิตมีสิทธิบอกล้างได้ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 865 วรรคสอง

 

ข้อ 2 ออมทําประกันภัยรถยนต์กับบริษัท ตะวันประกันภัย จํากัด (มหาชน) คุ้มครองครอบคลุมภัยที่เกิดจากรถชนและรถหายในวงเงิน 100,000 บาท ขณะที่ออมขับขี่รถยนต์อยู่ได้ถูกเอ้ซึ่งประกันภัย กับบริษัท โปรดปราณประกันภัย จํากัด (มหาชน) คุ้มครองเฉพาะกรณีผู้เอาประกันภัยขับรถไป ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลภายนอุกในวงเงิน 100,000 บาท ได้ขับรถเสียหลักมาชนรถออม ได้รับความเสียหาย 70,000 บาท บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยของออม ได้นํารถของออมไปจัดการซ่อมแซม และส่งมอบคืนให้แก่ออมเรียบร้อย บริษัท ตะวันประกันภัยฯ จึงเข้ามาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จํานวน 70,000 บาทคืนจากเอ้ และบริษัทโปรดปราณประกันภัยฯ แต่บริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบริษัท ตะวันประกันภัยฯ ไม่มีสิทธิ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหาย นอกจากนี้การที่บริษัท ตะวันประกันภัยฯ นํารถ ไปซ่อมแซมให้ออมยังถือไม่ได้ว่าได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอันจะทําให้บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ และหากบริษัท ตะวันประกันภัยฯ จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ต้องให้ออมในฐานะผู้เสียหายโอนสิทธิเรียกร้องก่อน ดังนี้

1)ข้ออ้างของบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ที่ว่า บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องเนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายฟังไม่ขึ้น เพราะเหตุใด

2) ข้ออ้างของบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ที่ว่า บริษัท ตะวันประกันภัยฯ นํารถไปซ่อมแซมให้ออมยังถือไม่ได้ว่าได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอันจะทําให้บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

3) กรณีบริษัท ตะวันประกันภัยฯ ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ นั้น ออมต้องโอนสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ก่อนหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 438 วรรคสอง “อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหาย ต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”

มาตรา 880 วรรคหนึ่ง “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอา ประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

โดยหลัก ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก เมื่อผู้รับ ประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย ไปเรียกร้องเอาจากบุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ออมทําประกันภัยรถยนต์กับบริษัท ตะวันประกันภัย จํากัด (มหาชน) ขณะขับรถถูกเอ้ซึ่งประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัท โปรดปราณประกันภัย จํากัด (มหาชน) ได้ขับรถเสียหลักมาชนรถออมได้รับความเสียหาย 70,000 บาท บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยของออมได้นํารถ ของออมไปจัดการซ่อมแซมและส่งมอบคืนให้แก่ออมเรียบร้อยแล้ว บริษัท ตะวันประกันภัยฯ จึงเข้ามาเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจํานวน 70,000 บาทคืนกับเอ และบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ แต่บริษัท โปรดปราณ ประกันภัยฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยมีข้ออ้างดังกล่าวนั้น ข้ออ้างของบริษัท โปรดปราณประกันภัยๆ ฟังขึ้นหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1) ข้ออ้างของบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ที่ว่า บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ไม่มีสิทธิ์ เรียกร้อง เนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะบริษัท ตะวันประกันภัยฯ ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง ในการเข้ารับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน และการที่บริษัท ตะวันประกันภัยฯ นํารถไปซ่อมให้ออมนั้นถือเป็น การชําระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ออมแล้ว ดังนั้น บริษัท ตะวันประกันภัยฯ จึงใช้สิทธิเรียกเงิน 70,000 บาท จากบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ตามมาตรา 887 วรรคหนึ่งได้

2) ข้ออ้างของบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ที่ว่า บริษัท ตะวันประกันภัยฯ นํารถ ไปซ่อมแซมให้ออมยังถือไม่ได้ว่าได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอันจะทําให้บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ใช้สิทธิ เรียกค่าสินไหมทดแทนนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะการที่บริษัท ตะวันประกันภัยฯ นํารถไปซ่อมแซมและส่งมอบคืนให้ ผู้เอาประกันภัยแล้ว ถือได้ว่าเป็นการชําระค่าสินไหมทดแทนโดยการคืนทรัพย์ตามมาตรา 438 วรรคสองแล้ว

3) การที่บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท โปรดปราณ ประกันภัยฯ นั้น ออมไม่จําต้องโอนสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ก่อน เพราะผู้รับประกันภัยย่อม ใช้สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกได้ในนามของตนเองตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง โดยผู้รับประกันภัยสามารถ เข้ารับช่วงสิทธิได้ทันทีโดยไม่ต้องให้ผู้เอาประกันภัยทําหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องก่อนแต่อย่างใด

สรุป

ข้ออ้างของบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ ตาม 1) และ 2) ฟังไม่ขึ้น และตาม 3) กรณี บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท โปรดปราณประกันภัยฯ นั้น ออมไม่ต้อง โอนสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ตะวันประกันภัยฯ ก่อนแต่อย่างใด

 

ข้อ 3 นายปรีชาและนางบุญมีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นายปรีชาได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเจริญมาจํานวน 200,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในกิจการค้าของตน ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2555 นายปรีชาได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตนางบุญมีต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงิน เอาประกัน 500,000 บาท โดยทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ ระบุให้นายปรีชาเป็นผู้รับประโยชน์ โดยได้ชําระเบี้ยประกันไป จํานวน 50,000 บาท วันที่ 25 สิงหาคม 2556 นางบุญมีประสบอุบัติเหตุ ระหว่างเดินทางไปเที่ยวกับเพื่อน ทําให้นางบุญมีถึงแก่ความตาย นายปรีชาจึงแจ้งไปยังบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด เพื่อขอรับเงินประกันตามสัญญา และนอกจากนั้นนายเจริญเจ้าหนี้ของ นายปรีชาก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด ใช้เงินให้แก่นายเจริญก่อน ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้เอาประกันภัย ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนายปรีชาและ นายเจริญหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 897 วรรคสอง “ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกําหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จํานวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปรีชาและนางบุญมีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และนายปรีชาได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตนางบุญมีต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 500,000 บาท โดยทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ และระบุให้นายปรีชาเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ถือว่าเป็นการ ประกันชีวิตของผู้อื่น และเมื่อนายปรีชามีความสัมพันธ์กับนางบุญมในฐานะคู่สมรส จึงถือว่านายปรีชามีส่วนได้เสีย ในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 และมาตรา 889 สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อนางบุญมี ถึงเก่ความตาย บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จึงต้องใช้เงินตามสัญญาให้แก่นายปรีชาผู้รับประโยชน์ จํานวน 500,000 บาท

ส่วนกรณีของนายเจริญซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายปรีชานั้น บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด ไม่ต้องใช้เงินให้กับนายเจริญเนื่องจากกรณีตามมาตรา 897 วรรคสองนั้น จะใช้กับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้ทํา สัญญาประกันชีวิตตนเอง และเมื่อผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย เฉพาะจํานวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัย ได้ส่งไปแล้วจึงจะตกเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้สามารถเอาไปใช้หนี้ได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่อง เอาประกันชีวิตผู้อื่น ย่อมไม่มีโอกาสที่เงินประกันภัยหรือเบี้ยประกันภัยจะตกเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันชีวิตได้ เพราะผู้เอาประกันชีวิตยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามสัญญานั้น

สรุป

บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนายปรีชาแต่ไม่ต้องใช้ ให้แก่นายเจริญ

Advertisement