การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายสมจดทะเบียนสมรสกับนางสาวศรี ต่อมานายสมเอาประกันชีวิตนางศรีไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแบบอาศัยความมรณะ ระยะเวลาเอาประกันภัย 30 ปี วงเงิน 5 แสนบาท ชื่อผู้เอาประกันภัย และชื่อผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์คือนายสม 10 ปีต่อมา นายสมอุปการะเลี้ยงดูและยกย่อง นางสาวสวยฉันภริยา นางศรีจึงฟ้องหย่า ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ อีก 2 ปีต่อมา นางศรี จดทะเบียนสมรสใหม่กับนายเท่ห์ ครั้น 1 ปีต่อมานางศรีประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงแก่ความตาย นายสมทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์จึงยื่นขอรับเงินประกันชีวิต แต่บริษัทประกันฯ ปฏิเสธการจ่าย อ้างว่านายสมได้หย่าขาดกับนางศรีไปแล้วโดยคําพิพากษาของศาล บริษัทประกันจึงไม่มีหน้าที่ จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตแม้อยู่ในระหว่างอายุสัญญาก็ตาม อยากทราบว่าข้ออ้างของบริษัทประกันฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวอย่างบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

วินิจฉัย

สัญญาประกันชีวิตนั้นถือว่าเป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง จึงต้องนําเอาบทบัญญัติใน หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันชีวิตจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย กล่าวคือ มีส่วนได้เสียในชีวิตของผู้เอาประกันภัยด้วย ซึ่งอาจจะเป็นชีวิตของตนเองหรือชีวิตของผู้อื่นก็ได้ สัญญา ประกันชีวิตจึงจะมีผลผูกพันคู่สัญญา (มาตรา 863)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมจดทะเบียนสมรสกับนางสาวศรี และต่อมานายสมเอาประกันชีวิตนางศรีไว้กับบริษัทประกันชีวิตนั้น ถือว่าเป็นการประกันชีวิตผู้อื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวผู้เอาประกันภัย คือนายสม จะเห็นได้ว่า มีความสัมพันธ์กับนางศรีในฐานะคู่สมรส ทั้งนี้เพราะนายสมมีสิทธิและหน้าที่ความรับผิด ต่อชีวิตของนางศรีภริยาที่ได้มาเอาประกันไว้กับบริษัทผู้รับประกัน จึงถือว่านายสมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้แล้ว และประการสําคัญส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันต้องมีในขณะทําสัญญาด้วย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะทําสัญญานายสมมีส่วนได้เสียในชีวิตของนางศรีเนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่ากันสัญญาจึงมีผลผูกพัน แม้ต่อมาส่วนได้เสียจะหมดไปเพราะหย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทําให้สัญญาที่มีผลผูกพันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่ ผูกพันในภายหลัง ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงมีหน้าที่จ่ายเงินตามสัญญา จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่านายสม ได้หย่าขาดกับนางศรีไปแล้ว บริษัทประกันจึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นไม่ได้

สรุป

บริษัทประกันชีวิตมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่นายสมผู้รับประโยชน์ ข้ออ้างของบริษัท ประกันชีวิตดังกล่าวข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 มดจองรถยนต์คันหนึ่งกับบริษัท อีอีซี จํากัด ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยบริษัทฯ แถมฟรีประกันภัยชั้น 1 (คุ้มครองรถคันเอาประกันกรณีมีการเฉี่ยวชนเกิดขึ้นทั้งที่มีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณีรวมถึงรถหาย) กับลูกค้าที่จองรถยนต์ของบริษัททุกคัน บริษัทฯ กําหนดให้มดรับรถยนต์คันที่จองได้ในวันที่ 23 มีนาคม ช่วงที่มดรอรับรถยนต์ ตัวแทนบริษัท นําร่องประกันภัย จํากัด ได้ตกลงทําสัญญาประกันวินาศภัย รถยนต์กับมดและจะออกกรมธรรม์ให้มดในวันที่มดรับรถจากบริษัท อีอีซุ จํากัด ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม ขณะทีมดขับขี่รถยนต์บนถนน เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของหมวยได้รับความเสียหาย โดยมดเป็นฝ่ายผิด มดจึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท นําร่องประกันภัย จํากัด แต่บริษัท ประกันภัยปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า ขณะทําสัญญามดไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัย

ดังนี้ ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยฟังขึ้นหรือไม่ บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือไม่อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 867 วรรคสาม “กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย และ มีรายการดังต่อไปนี้

(1) วัตถุที่เอาประกันภัย

(3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กําหนดกันไว้

(4) จํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัย”

มาตรา 869 “อันคําว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การทีมดจองรถยนต์คันหนึ่งกับบริษัท อีอีซี จํากัด ในเดือนกุมภาพันธ์โดย บริษัทฯ แถมฟรีประกันภัยชั้น 1 กับลูกค้าที่จองรถยนต์ของบริษัททุกคัน และบริษัทฯ กําหนดให้มครับรถยนต์ คันที่จองได้ในวันที่ 23 มีนาคมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในช่วงที่มดรอรับรถยนต์ ตัวแทนของบริษัทนําร่อง ประกันภัย จํากัด ได้ตกลงทําสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์กับมดและจะออกกรมธรรม์ให้มดในวันที่มดรับรถ จากบริษัท อีอีซุ จํากัด จะเห็นได้ว่าในขณะทําสัญญาประกันวินาศภัยนั้น ยังอยู่ในช่วงของการจองรถเพื่อรอรับรถ และรอทําสัญญาเช่าซื้อ จึงยังไม่สามารถที่จะระบุตัวรถยนต์ซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยตามมาตรา 867 วรรคสาม (1) ได้ มดจึงยังไม่มีความสัมพันธ์หรือมีส่วนได้เสียกับทรัพย์สินที่เอาประกันและไม่สามารถตีราคาทรัพย์สินที่เอาประกัน วินาศภัยได้ตามมาตรา 863 ประกอบมาตรา 869 และมาตรา 867 วรรคสาม (3) และ (4) แม้ตัวแทนจะส่งมอบ กรมธรรม์ในวันรับรถและวันทําสัญญาเช่าซื้อก็ตาม การส่งมอบกรมธรรม์ไม่เกี่ยวกับการเกิดของสัญญาประกันภัย ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงถือว่าสัญญาไม่มีผลผูกพันกับคู่สัญญา

และเมื่อสัญญาไม่มีผลผูกพัน การที่มดได้ขับขี่รถยนต์บนถนนในวันที่ 27 มีนาคม และเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของหมวยได้รับความเสียหาย การที่บริษัท นําร่องประกันภัย จํากัด ปฏิเสธการจ่ายเงินแก่มด โดยอ้างว่า ขณะทําสัญญามดไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยนั้น ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยจึงฟังขึ้น บริษัท ประกันภัยจึงไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มด

สรุป

ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยฟังขึ้น บริษัทประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้แก่มด

 

ข้อ 3. นายหมึกทําสัญญาประกันชีวิตตนเองอาศัยเหตุมรณะกับบริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 ระบุให้นายกุ้งบุตรของนายหมึกเป็นผู้รับประโยชน์จํานวนเงินซึ่งเอาประกันชีวิต 1 ล้านบาท วันที่ 2 มกราคม 2554 นายหมึกทําสัญญาประกันโดยเอาประกันชีวิตนางปลากริยา ที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหมึกไว้กับบริษัท ร่ำรวยประกันชีวิต จํากัด ระบุให้นายกุ้งเป็นผู้รับ ประโยชน์เช่นกัน มีจํานวนเงินที่เอาประกันชีวิต 5 แสนบาท วันที่ 2 มกราคม 2555 ซึ่งอยู่ในอายุ กรมธรรม์ นายหมึกทะเลาะกับนางปลาอย่างรุนแรง นายหมึกใช้อาวุธปืนยิงนางปลาตาย และใช้ปืนนั้น ยิงตัวเองตายตาม จงวินิจฉัยว่า บริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด และบริษัท ร่ำรวยประกันชีวิต จํากัด จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นายกุ้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก เมื่อผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย บริษัทผู้รับประกัน จะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้น เว้นแต่บุคคลนั้นจะได้กระทําอัตวินิบาตหรือฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทําสัญญา หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมึกได้ทําสัญญาประกันชีวิตตนเองอาศัยเหตุมรณะกับบริษัท มั่งมีประกันชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 โดยระบุให้นายกุ้งบุตรของนายหมึกเป็นผู้รับประโยชน์ และได้ทํา สัญญาประกันโดยเอาประกันชีวิตนางปลากริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหมึกไว้กับบริษัท ร่ำรวยประกันชีวิต จํากัด ในวันที่ 2 มกราคม 2554 โดยระบุให้นายกุ้งเป็นผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกันนั้น ทั้งสองกรณีนายหมึกย่อม สามารถทําได้เพราะถือว่านายหมึกผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 ดังนั้นสัญญา จึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

ในวันที่ 2 มกราคม 2555 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุกรมธรรม์ การที่นายหมึกทะเลาะกับนางปลาอย่างรุนแรง นายหมึกได้ใช้อาวุธปืนยิงนางปลาตายและใช้ปืนยิงตัวเองตายตามนั้น กรณีดังกล่าว บริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด และบริษัท ร่ำรวยประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่นายกุ้งผู้รับประโยชน์ทั้งนี้เพราะ

กรณีแรก การที่นายหมึกใช้อาวุธปืนยิงตัวเองตายนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายหมึกได้กระทํา อัตวินิบาตด้วยใจสมัครเมื่อพ้นกําหนด 1 ปีนับแต่วันทําสัญญาแล้ว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 (1)

กรณีที่ 2 การที่นางปลาตายนั้น เกิดจากการที่นายหมีกซึ่งมิใช่ผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา มิได้เกิดจากการกระทําของนายกุ้งผู้รับประโยชน์แต่อย่างใด จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 (2)

สรุป

บริษัท มั่งมีประกันชีวิต จํากัด และบริษัท ร่ำรวยประกันชีวิต จํากัด จะปฏิเสธไม่ใช้เงิน ตามสัญญาประกันชีวิตให้นายกุ้งไม่ได้

 

Advertisement