การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้ายประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายก้านมีนิสัยชอบสูบบุหรี่ แต่ตรวจสุขภาพของตนทุกปี และปีนี้แพทย์สรุปผลการตรวจว่าสุขภาพแข็งแรงแต่มีจุดสีดําในปอดหลายที่ ถ้าต้องการตรวจจุดสีดําที่ปอดและโรคอย่างอื่นให้ละเอียดต้องนัด มาตรวจใหม่และแพทย์ยังแนะนํานายก้านให้เลิกสูบบุหรี่เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หลังจากตรวจสุขภาพได้ 2 สัปดาห์ นายก้อนตัวแทนบริษัทประกันชีวิตแนะนํานายก้านทําประกันชีวิต แบบอาศัยความมรณะโดยกําหนดภริยาและบุตรเป็นผู้รับประโยชน์ นายก้านไม่ได้กรอกแบบพิมพ์ ใบคําขอเอาประกันชีวิตด้วยตนเองแต่นายก้อนเป็นคนกรอกข้อมูลตามคําบอกกล่าวของนายก้าน และนายก้านลงชื่อในใบคําขอเอาประกันภัยด้วยตนเอง นายก้านไม่ได้แจ้งผลการตรวจสุขภาพ และคําแนะนําของแพทย์ให้นายก้อนกรอกลงในแบบพิมพ์คําของเอาประกันภัย หลังจากทําสัญญา ประกันชีวิตได้ 2 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างอายุสัญญา นายก้านได้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายฉับพลัน หลังจาก เสร็จงานศพของนายก้านแล้ว ภริยาและบุตรของนายก้านจึงไปเรียกร้องเงินจํานวนหนึ่งตามที่ได้ กําหนดไว้ในสัญญากับบริษัทประกันชีวิต ดังนี้ บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินให้แก่ภริยาและบุตรของนายก้านหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 865 วรรคหนึ่ง “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณี ประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผย ข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆยะ”

วินิจฉัย

มาตรา 865 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆยะ ถ้าประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ คือ

1 ในขณะเวลาทําสัญญาประกันภัย

2 ผู้เอาประกันภัย หรือในกรณีสัญญาประกันชีวิตบุคคลผู้ถูกเอาประกันชีวิต

3 รู้อยู่แล้ว

4 ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ

5 ข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจให้ผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือ อาจบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา

กรณีตามอุทาหรณ์ในการทําคําเสนอขอเอาประกันภัยนั้น ผู้ขอเอาประกันภัยไม่จําเป็นต้องกรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบคําขอด้วยตนเองโดยอาจจะให้บุคคลใดกรอกให้ก็ได้ แต่ต้องลงลายมือในใบคําขอด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการให้บุคคลอื่นกรอกข้อความให้ ผู้ขอเอาประกันภัยต้องไม่ละเว้นเสียใน การเปิดเผยข้อความจริงและต้องไม่แถลงข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นข้อความจริงที่อาจจะได้จูงใจให้ผู้รับประกันภัย เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรืออาจบอกปัดไม่ยอมทําสัญญาด้วย และเป็นข้อความจริงที่ตนเองได้รู้อยู่แล้ว ในขณะขอเอาประกันภัยไปจนกว่าผู้รับประกันภัยจะตอบรับทําสัญญา

ตามข้อเท็จจริง เมื่อนายก้านไม่ได้กรอกแบบพิมพ์ใบคําขอเอาประกันชีวิตด้วยตนเอง แต่นายก้อนเป็นคนกรอกให้และนายก้านได้ลงชื่อด้วยตนเองนั้นย่อมสามารถทําได้ ส่วนการที่นายก้านไม่ได้แจ้งผล การตรวจสุขภาพและคําแนะนําของแพทย์ในใบคําขอนั้นยังไม่ถือว่านายก้านละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือ แถลงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองที่รู้อยู่แล้วซึ่งจะได้จูงใจให้ผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัย สูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา เพราะผลการตรวจสุขภาพและคําแนะนําของแพทย์นั้นยังไม่เป็นการยืนยัน ว่านายก้านสุขภาพไม่ดีหรือมีสาเหตุที่จะทําให้นายก้านเสียชีวิตโดยฉับพลันแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าอีก 2 ปีต่อมา นายก้านจะได้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายฉับพลันซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่ทําให้คนเสียชีวิตมากก็ตาม สัญญาประกันชีวิต ระหว่างนายก้านกับบริษัทประกันชีวิตก็มีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆยะตามมาตรา 865 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด กรณีนี้ บริษัทประกันชีวิตจึงต้องจ่ายเงินให้แก่ภริยาและบุตรของนายก้าน

สรุป บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินให้แก่ภริยาและบุตรของนายก้าน

ข้อ 2 นายอุดรเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง นายอุดรได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวมาได้ปีกว่า หลังจากนั้นได้ขายรถยนต์คันนั้นไปให้กับนางบัวชื่น อีก 2 เดือนต่อมานางบัวชื่นได้นํารถยนต์นั้นไปทําประกันวินาศภัย ไว้กับบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ในความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์ที่เอาประกันรวมทั้ง ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สามด้วย จํานวนวงเงินที่เอาประกันภัยสองแสนบาท มีกําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญาได้ 9 เดือน นางบัวชื่นขับรถยนต์คันดังกล่าวชนราวสะพานและเสียหลัก พุ่งตกลงบนหลังคาบ้านของนางบัวชมได้รับความเสียหายหนึ่งแสนบาท โดยที่นางบัวชื่นยังไม่ได้ ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางบัวชม แต่นางบัวชื่นได้มาเรียกให้บริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนจํานวนหนึ่งแสนบาทในความเสียหายที่เกิดกับนางบัวชม ปรากฏว่าบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าสิทธิในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังกล่าวนั้นเป็นของนางบัวชมซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายโดยตรง เนื่องจากนางบัวชื่นนั้น ไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเสียหาย แม้จะเป็นผู้เอาประกันภัยนั้นก็ตาม

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางบัวชื่นได้นํารถยนต์ไปทําประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ในความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์ที่เอาประกันรวมทั้งประกันภัยความรับผิดต่อบุคคล ที่สามซึ่งเป็นประกันภัยค้ำจุนด้วยนั้น บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สัญญาคือนางบัวชื่น (ผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย) ซึ่งตามมาตรา 887 วรรคหนึ่งนั้น สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นสัญญา ซึ่งผู้รับประกันภัยได้ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่ บุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

จากข้อเท็จจริง การที่นางบัวชื่นขับรถยนต์คันดังกล่าวชนราวสะพานและเสียหลักพุ่งตกลง บนหลังคาบ้านของนางบัวชมได้รับความเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นความเสียหายที่นางบัวชื่น ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อนางบัวชมในความเสียหายต่อทรัพย์สินของนางบัวชม ดังนั้น แม้นางบัวชื่นจะยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางบัวชม นางบัวขึ้นก็มีสิทธิเรียกให้บริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบัวชมได้ตามมาตรา 887 วรรคหนึ่ง ในกรณีประกันภัย ค้ำจุน เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องรับช่วงสิทธิ การที่บริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่า สิทธิในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวนั้นเป็นของนางบัวชมซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายโดยตรง เนื่องจากนางบัวชื่นนั้นไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายนั้น ข้ออ้างของบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของบริษัท ธานี ประกันวินาศภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น

ข้อ 3 นายชิดชัยทําประกันชีวิตตนเองกับบริษัท พอใจประกันชีวิต จํากัด ด้วยเหตุมรณะ จํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการคุ้มครอง 10 ปี กําหนดให้นางเตือนเป็นผู้รับประโยชน์ ขณะทําสัญญานายชิดชัยอายุ 71 ปี แต่แจ้งอายุในการทําประกันชีวิต 68 ปี เพื่อให้ทําสัญญาได้ เพราะบริษัทฯ จํากัดอายุผู้เอาประกันไว้ที่ 70 ปี นายชิดชัยทําประกันได้ 6 ปีก็เสียชีวิต นางเดือน จึงเรียกร้องจํานวนเงิน 1 ล้านบาทจากบริษัทฯ แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินขณะเดียวกันก็ใช้สิทธิ บอกล้างสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างว่านายชิดชัยแถลงอายุคลาดเคลื่อน ซึ่งหากบริษัทฯ ทราบจะ ไม่รับทําประกันชีวิตให้ สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆยะ

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าบริษัท พอใจประกันชีวิต จํากัด จะใช้สิทธิบอกล้างสัญญาได้หรือไม่ นางเดือนจะมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา 893 “การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลใด แม้ได้แถลงอายุ ของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้กําหนดจํานวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจํานวนเงิน อันผู้รับประกันภัยจะพึ่งต้องใช้นั้นลงตามส่วน

แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทําสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจํากัดอัตรา ตามทางการค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชิดชัยได้ทําประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัท พอใจประกันชีวิต จํากัด ด้วยเหตุมรณะจํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการคุ้มครอง 10 ปี กําหนดให้นางเดือนเป็น ผู้รับประโยชน์ และเมื่อนายชิดชัยทําประกันได้ 6 ปีก็เสียชีวิตนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะทําสัญญานั้น นายชิดชัยอายุ 71 ปี แต่ได้แจ้งอายุในการทําประกันชีวิต 68 ปี ถือว่านายชิดชัยได้แถลงอายุไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง และเมื่อบริษัทฯ ได้จํากัดอายุของผู้เอาประกันไว้ที่ 70 ปี ย่อมถือว่าในขณะทําสัญญานั้น อายุที่ถูกต้องแท้จริง ของนายชิดชัยคือ 71 ปี อยู่นอกจํากัดอัตราทางการค้าปกติของบริษัทฯ จึงมีผลทําให้สัญญาประกันชีวิตดังกล่าว ตกเป็นโมฆยะตามมาตรา 893 วรรคสอง ดังนั้น บริษัทฯ จึงสามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาได้ภายในกําหนด ระยะเวลาตามหลักทั่วไป นางเดือนจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา

สรุป บริษัท พอใจประกันชีวิต จํากัด สามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาได้ และนางเดือนจะ ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา

Advertisement