การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 วันที่ 15 มกราคม 2553 นายแก้วทําสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบอาศัยความมรณะกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งซึ่งกําหนดให้นางขำภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลา 30 ปี จํานวนเงินเอา ประกันภัย 1 ล้านบาท ก่อนทําสัญญาประกันชีวิตนายแก้วทราบดีว่าตนเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคสําคัญที่บริษัทประกันชีวิตไม่รับทําสัญญา นายแก้วแถลงในใบคําขอเอาประกันชีวิตว่าไม่เคยเป็นโรคดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 นายแก้วเสียชีวิตด้วยโรค ไข้หวัดใหญ่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 นางขำเรียกร้องให้บริษัทประกันชีวิตจ่ายเงินให้แก่ตนพร้อมทั้ง แนบประวัติการรักษาของนายแก้วตั้งแต่เข้ารักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคเบาหวาน และ โรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 บริษัทประกันชีวิตจึงปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า นายแก้วปกปิดข้อเท็จจริง ดังนี้ บริษัทประกันชีวิตจึงต้องจ่ายเงินประกันให้แก่นางขำหรือไม่ เพราะ เหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแก้วได้ทําสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบอาศัยความมรณะ ไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งในวันที่ 15 มกราคม 2553 โดยกําหนดให้นางขำภริยาเป็นผู้รับประโยชน์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนทําสัญญาประกันชีวิตนายแก้วทราบดีว่าตนเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันและ โรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคสําคัญที่บริษัทประกันชีวิตไม่รับทําสัญญา แต่นายแก้วได้แถลงในใบคําขอเอาประกันชีวิต ว่าไม่เคยเป็นโรคดังกล่าว การกระทําของนายแก้วถือว่าเป็นกรณีที่นายแก้วผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วละเว้นเสีย ไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือรู้อยู่แล้วแต่ได้แถลง ข้อความนั้นเป็นเท็จ ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆยะตั้งแต่ขณะทําสัญญาตามมาตรา 865 วรรคแรก แม้จะปรากฏในภายหลังว่านายแก้วได้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคที่ปกปิดก็ตาม ก็ไม่ทําให้สัญญาที่ตกเป็นโมฆียะตั้งแต่แรกนั้นเปลี่ยนแปลงมาเป็นสัญญาที่สมบูรณ์แต่อย่างใด บริษัทประกันชีวิต จึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้ได้แต่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่บริษัท ประกันชีวิตได้ทราบมูลอันอาจจะบอกล้างได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันทําสัญญา (มาตรา 865 วรรคสอง)

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 นางขำเรียกร้องให้ บริษัทประกันชีวิตจ่ายเงินให้แก่ตนพร้อมทั้งแนบประวัติการรักษาของนายแก้วตั้งแต่เข้ารักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันโรคเบาหวาน และโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถือว่าบริษัทประกันชีวิตได้ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างแล้ว และการที่บริษัท ปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่นางขําในวันที่ 10 มีนาคม 2555 จึงเป็นการบอกล้างสัญญาประกันภัยภายในกําหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างได้ และไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันทําสัญญาตามมาตรา 865 วรรคสอง ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่นางขํา

สรุป

บริษัทประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินประกันให้แก่นางขํา

 

ข้อ 2 นายแช่มได้เช่าซื้อรถยนต์จากนายแล่มโดยมีข้อตกลงว่าให้นายแล่มทําสัญญาประกันวินาศภัยเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ในการเสี่ยงภัยทุกประเภท นายแล่มนํารถยนต์คันดังกล่าวไปทําประกันวินาศภัยทั่วไป ประเภทที่ 1 รวมทั้งประกันภัยค้ำจุนด้วยกับบริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด โดยนายแช่มเป็นผู้ชําระ เบี้ยประกันภัยในการทําประกันวินาศภัยดังกล่าว วันเกิดเหตุนายแช่มได้ใช้ให้นายแจ่ม ซึ่งเป็น ลูกจ้างขับรถยนต์นั้นไปส่งของที่จังหวัดชลบุรี ปรากฏว่านายแจ่มขับไปโดยประมาทเลินเล่อทําให้ไปชน กับรถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหาย

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าบริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางแหม่มในกรณีที่รถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 วรรคแรก “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายแล่มนํารถยนต์คันดังกล่าวไปทําประกันวินาศภัยทั่วไปประเภทที่ 1 รวมทั้งประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด นั้น ถึงแม้ว่านายแช่มผู้เช่าซื้อจะเป็นผู้ชําระเบี้ย ประกันภัยในการทําประกันวินาศภัยดังกล่าวก็ตาม บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สัญญาคือนายแล่ม (ผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย)

และตามมาตรา 887 วรรคแรก สัญญาประกันภัยค้ำจุนนั้น เป็นสัญญาซึ่งผู้รับประกันภัยได้ ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ แต่ตามข้อเท็จจริง เป็นกรณีที่นายแจ่มซึ่งเป็นลูกจ้างของนายแช่มขับ รถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหาย จึงมิใช่เป็นกรณีที่นายแล่ม (ผู้เอา ประกันภัย) จะต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด ดังนั้นบริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย) จึงไม่ต้องรับผิด เช่นเดียวกัน กล่าวคือ บริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางแหม่มในกรณีที่ รถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหาย

สรุป

บริษัท ยั่งยืนประกันภัย จํากัด ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางแหม่ม

 

ข้อ 3 นายพนมทําสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งความมรณะ กับบริษัท เสรีประกันชีวิตจํากัด สัญญามีกําหนด 10 ปี จํานวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท โดยระบุให้ น.ส.เชอรี่ซึ่งเป็นคนรัก เป็นผู้รับประโยชน์ และได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ น.ส.เชอรี่เป็นผู้เก็บไว้ น.ส.เชอรี่เมื่อรับมอบกรมธรรม์แล้วได้ทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อแสดงความจํานงจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญา ต่อมานายพนมโกรธกับ น.ส.เชอรี่จึงทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ว่าขอเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ จาก น.ส.เชอรี่เป็นนายตั้มซึ่งเป็นบุตรชาย ต่อมาอีก 3 ปี นายพนมถึงแก่ความตาย นายตั้มจึงติดต่อ ขอรับเงินจากบริษัทฯ แต่ น.ส.เชอรี่คัดค้านโดยอ้างว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ ส่วนนายตั้มต่อสู้ว่า นายพนมทําหนังสือแจ้งบริษัทฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์แล้ว และ น.ส.เชอรี่เป็นเพียงคนรัก ไม่มีส่วนได้เสียที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตได้

ดังนี้ ระหว่าง น.ส.เชอรี่ และนายตั้ม ใครเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาประกันชีวิตดีกว่ากัน และข้อต่อสู้ของนายตั้มรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับ จํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคแรก “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอา ประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่า ตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายพนมทําสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งความมรณะ กับบริษัท เสรีประกันชีวิต จํากัด สัญญามีกําหนด 10 ปี จํานวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท โดยระบุให้ น.ส.เชอรี่ เป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมสามารถทําได้เพราะถือว่านายพนมผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ ตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อทําประกันชีวิตได้ 3 ปี นายพนมถึงแก่ความตาย ซึ่ง เป็นการตายภายในกําหนดเวลาที่เอาประกันไว้ บริษัทฯ จึงต้องใช้เงินจํานวน 1 ล้านบาท ให้แก่ผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาประกันชีวิตนั้น (มาตรา 889)

สําหรับผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินจํานวน 1 ล้านบาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเดิม นายพนมได้กําหนดให้ น.ส.เชอรี่ซึ่งเป็นคนรักเป็นผู้รับประโยชน์ และได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ น.ส.เขอร์ เป็นผู้เก็บไว้ และเมื่อน.ส.เชอรี่ได้รับมอบกรมธรรม์แล้วได้ทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อแสดงความจํานง จะถือเอาประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้ว สิทธิในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยรายนี้ของน.ส.เชอรี่ จึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 891 วรรคแรก นายพนมผู้เอาประกันภัยจึงไม่สามารถที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้น ให้กับนายตั้มซึ่งเป็นบุตรชายได้อีก ดังนั้น การที่นายตั้มไปติดต่อบริษัทฯ เพื่อขอรับเงินโดยต่อสู้ว่านายพนมได้ทํา หนังสือแจ้งบริษัทฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์แล้วนั้นจึงรับฟังไม่ได้ และการที่นายตั้มได้ต่อสู้ว่า น.ส.เชอรี่ เป็นเพียงคนรักไม่มีส่วนได้เสียที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตได้นั้น ก็รับฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะตามมาตรา 862 ไม่ได้กําหนดให้ผู้รับประโยชน์จะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยแต่อย่างใด

สรุป

น.ส.เชอรี่เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาประกันชีวิตดีกว่านายตั้ม และข้อต่อสู้ของนายตั้ม รับฟังไม่ได้

Advertisement