การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

1 นายเนื่องเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันที่เป็นของนายเจริญผู้เป็นนายจ้าง นายเจริญยื่นคําขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับบริษัทสยามรุ่งเรือง แอสชัวรันซ์ จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจรับประกันอุบัติเหตุ โดยนายเจริญเป็นทั้งผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย จํานวนเงินเอาประกันภัย 3 แสนบาท นายเจริญเป็นผู้ชําระเบี้ยประกันภัยเอง กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า “นายเนื่องถึงแก่ความตาย ในระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ถึง 7 สิงหาคม 2551 บริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ตกลงจ่ายเงินจํานวน ดังกล่าวให้แก่นายเจริญ”

ครั้นวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 นายเนื่องขับรถบรรทุกน้ำมันกลับจาก ต่างจังหวัดได้เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำลงไปข้างถนน นายเนื่องถึงแก่ความตายจากการถูกรถทับศีรษะ นายเจริญจึงยื่นขอรับเงินประกันภัย 3 แสนบาท แต่บริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ปฏิเสธการจ่าย อ้างว่านายเจริญไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหาย เพราะผู้ได้รับความเสียหายที่แท้จริงคือทายาทของนายเนื่อง นายเจริญจึงมีเจตนาไม่สุจริตเพราะรู้ดีว่าตนไม่มีส่วนได้เสียที่จะนําชีวิตของนายเนื่องมา ประกันภัยไว้ แสดงให้เห็นว่าก่อนทําสัญญา นายเจริญมีเจตนาพนันกับบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ โดย ใช้ชีวิตของนายเนื่องเป็นเครื่องเดิมพัน สัญญาประกันภัยจึงเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อยากทราบว่า ข้ออ้างของบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ต้องจ่ายเงิน 3 แสนบาทให้แก่นายเจริญหรือไม่เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเนื่องลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันที่เป็นของนายเจริญผู้เป็นนายจ้าง และนายเจริญได้ยื่นคําขอเอาประกันอุบัติเหตุไว้กับบริษัทสยามรุ่งเรือง แอสชัวรันซ์ จํากัด โดยนายเจริญเป็นทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ และในกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า “ถ้านายเนื่องถึงแก่ความตาย บริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ตกลงจ่ายเงินให้แก่นายเจริญ” นั้น ถือได้ว่านายเจริญผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุ ที่ประกันภัยไว้นั้น เพราะการที่นายเจริญจะมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างนายเจริญผู้เอาประกันภัยกับผู้ถูกเอาประกันภัยคือนายเนื่อง ซึ่งเมื่อปรากฏว่าบุคคลทั้งสอง มีความสัมพันธ์ที่มีกฎหมายจ้างแรงงานรับรองไว้ทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบที่นายเจริญในฐานะที่ เป็นนายจ้างมีต่อนายเนื่องในฐานะลูกจ้าง จึงต้องถือว่านายเจริญมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น ดังนั้น ข้ออ้างของบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ที่ว่านายเจริญไม่มีส่วนได้เสียจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การที่บริษัทสยามรุ่งเรืองฯ อ้างว่า นายเจริญมีเจตนาพนันกับบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ โดยใช้ชีวิต ของนายเนื่องเป็นเครื่องเดิมพันก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสัญญาประกันภัยมิใช่การพนันขันต่อ เนื่องจาก สัญญาการพนันขันต่อนั้นผู้เข้าพนั้นไม่ต้องมีส่วนได้เสีย ซึ่งแตกต่างกับสัญญาประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยต้องมี ส่วนได้เสีย เมื่อนายเจริญมีส่วนได้เสียจึงมิใช่การเดิมพันชีวิตของนายเนื่องแต่อย่างใด

และข้ออ้างของบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ที่ว่าสัญญาประกันภัยเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ข้ออ้างดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเมื่อนายเจริญผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ ย่อมทําให้สัญญาประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญา ตามมาตรา 863 ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทสยามรุ่งเรืองฯ จึงต้องจ่ายเงินประกันภัยจํานวน 3 แสนบาท ให้แก่นายเจริญ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 64/2516)

สรุป

ข้ออ้างของบริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัทสยามรุ่งเรืองฯ ต้องจ่ายเงิน 3 แสนบาท ให้แก่นายเจริญผู้เอาประกันภัย

 

ข้อ 2 นายวีรภาพทําสัญญาเอาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยประกันภัยประเภทที่ 1 คือคุ้มครองทุกอย่าง รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับตัวรถที่เอาประกันด้วย วงเงินเอาประกัน 5 แสนบาท ในระหว่างอายุสัญญา นายเอกภาพขับรถโดยประมาทชนท้ายรถ ของนายวีรภาพเสียหาย บริษัทประกันภัยจึงนํารถยนต์ของนายวีรภาพไปให้นายโชคดีซ่อม คิดเป็น เงิน 5 หมื่นบาท แต่บริษัทประกันภัยยังมิได้จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่นายโชคดีเจ้าของอู่เมือซ่อมรถ ของนายวีรภาพเสร็จ นายวีรภาพได้รับมอบรถไปแล้ว บริษัทประกันภัยเรียกร้องให้นายเอกภาพ จ่ายค่าซ่อมรถ แต่นายเอกภาพปฏิเสธ ดังนี้ บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าซ่อมรถ 5 หมื่นบาทจากนายเอกภาพได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 438 วรรคสอง “อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหาย ต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึ่งบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”

มาตรา 880 วรรคแรก “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอา ประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก เมื่อผู้รับ ประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย ไปเรียกร้องเอาจากบุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา 880 วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์ นายวีรภาพทําสัญญาเอาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัย และในระหว่างอายุสัญญานายเอกภาพได้ขับรถโดยประมาทชนท้ายรถของนายวีรภาพเสียหาย กรณีนี้ถือว่า ความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของนายเอกภาพซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว และการที่บริษัทประกันภัย ได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปให้นายโชคดีซ่อมจนใช้การได้ และส่งมอบรถยนต์ให้นายวีรภาพแล้วนั้น ถือว่าเป็นการ คืนทรัพย์ตามมาตรา 438 วรรคสอง ซึ่งถือได้ว่าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว (เทียบฎีกาที่ 1006/2503)

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายวีรภาพผู้เอาประกันภัย เรียกค่าซ่อมรถยนต์ 5 หมื่นบาทจากนายเอกภาพได้ตามมาตรา 880 วรรคแรก

ส่วนการที่บริษัทประกันภัยติดค้างค่าซ่อมรถ ซึ่งยังมิได้ชําระให้แก่นายโชคดีเจ้าของอู่นั้น เป็นหนี้ตามสัญญาจ้างทําของระหว่างบริษัทประกันภัยกับนายโชคดีซึ่งเป็นหนี้ต่างหากจากกัน ไม่เกี่ยวกับการที่ บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายวีรภาพ

สรุป

บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน 5 หมื่นบาท จากนายเอกภาพได้เพราะเป็นกรณีที่บริษัทประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิตามมาตรา 880

 

ข้อ 3 ประพันธ์ทําสัญญาประกันชีวิตเพื่อความมรณะกับบริษัท B&B จํากัด ระยะเวลาเอาประกัน 10 ปี จํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท กําหนดให้สมรคู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์ สมรทําหนังสือถึง บริษัทผู้รับประกันภัยว่าตนประสงค์จะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต ทําประกันชีวิตได้ 3 ปี ประพันธ์ทําหนังสือแจ้งบริษัทฯ ว่าขอโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันให้ดวงใจคนรักใหม่ บริษัทฯ รับทราบการเปลี่ยนแปลงแล้ว ต่อมาประพันธ์ทะเลาะกับสมรอย่างรุนแรงเนื่องจากสมร ไม่ยอมหย่าตามความต้องการของประพันธ์ ประพันธ์จึงนําปืนมาขู่จะฆ่าตัวตายหากสมรไม่ยอมหย่าให้ ดวงใจเข้าไปแย่งปืนเพื่อไม่ให้ประพันธ์ฆ่าตัวตาย ขณะยื้อแย่งปืนกันอยู่ปืนเกิดลั่นถูกประพันธ์ทําให้ประพันธ์เสียชีวิต

ดังนี้ สมรและดวงใจจะมีสิทธิตามสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ อย่างไร ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึ่งได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับ จํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 891 “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อม มีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับ ประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอา ประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่ประพันธ์ทําสัญญาประกันชีวิตเพื่อความมรณะกับบริษัท B&B จํากัด ระยะเวลาเอาประกัน 10 ปี จํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท กําหนดให้สมรคู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ถือว่า ประพันธ์เป็นผู้เอาประกันภัย ส่วนสมรเป็นผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 862

ตามข้อเท็จจริง แม้สมรจะได้ทําหนังสือถึงบริษัทผู้รับประกันภัยว่าตนประสงค์จะถือประโยชน์ ตามสัญญาประกันชีวิตแล้วก็ตาม แต่เมื่อประพันธ์ยังไม่ได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้แก่สมร ประพันธ์ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ตามมาตรา 891 ดังนั้น เมื่อทําสัญญา ประกันชีวิตได้ 3 ปี ประพันธ์ได้ทําหนังสือแจ้งบริษัทฯ ว่าขอโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้นให้ดวงใจคนรักใหม่ และบริษัทฯ รับทราบการเปลี่ยนแปลงแล้ว ย่อมถือว่าประพันธ์ได้โอนสิทธิตามสัญญาประกันให้กับดวงใจแล้ว และถือว่าดวงใจเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยรายนี้แล้ว

เมื่อต่อมา ประพันธ์ทะเลาะกับสมรอย่างรุนแรง เนื่องจากสมรไม่ยอมหย่าตามความต้องการ ของประพันธ์ ประพันธ์จึงนําปืนมาขู่ว่าจะฆ่าตัวตายหากสมรไม่ยอมหย่า และดวงใจได้เข้าไปแย่งปืนเพื่อไม่ให้ ประพันธ์ฆ่าตัวตายทําให้ปืนเกิดลั่นถูกประพันธ์ทําให้ประพันธ์เสียชีวิตนั้น การเสียชีวิตของประพันธ์ไม่ถือว่าเป็น การกระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทําสัญญา หรือถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา ตามมาตรา 895 แต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทผู้รับประกันภัยจึงต้องใช้เงินให้แก่ดวงใจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับประโยชน์ ตามสัญญาประกันชีวิต

สรุป

ดวงใจจะมีสิทธิตามสัญญาประกันภัยชีวิต เพราะดวงใจเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยรายนี้

Advertisement