การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายบุญมีเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก ปรากฏว่านายบุญมากได้มาเช่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเพื่อใช้ในกิจการ โดยทําสัญญาเช่ากันปีต่อปี หลังจากนั้นนายบุญมีได้นํารถยนต์บรรทุกดังกล่าวไป ทําประกันวินาศภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัย แต่ไม่ได้บอกกับบริษัทผู้รับประกันภัยทราบว่ารถคัน ดังกล่าวนายบุญมากได้เช่าอยู่ในระหว่างการเช่าและภายในอายุสัญญาประกันภัย นายบุญมีได้ ผิดสัญญากับนายบุญมาก ขายรถยนต์บรรทุกตามสัญญาเช่านั้นให้กับนายบุญหลาย พร้อมกับโอน ทะเบียนรถยนต์ หลังจากนั้นนายบุญมีกับนายบุญหลายได้ร่วมกันแจ้งการโอนขายรถยนต์บรรทุกให้ บริษัทผู้รับประกันภัยทราบ ต่อมานายบุญมากได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล้วไปประสบอุบัติเหตุ รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหาย

จงวินิจฉัยว่า นายบุญมีหรือนายบุญหลาย จะมีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 865 วรรคแรก “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกัน ชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 865 วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า ในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงที่มีลักษณะสําคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรืออาจบอกปัดไม่ยอมทําสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ มิฉะนั้นแล้วสัญญานั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามอุทาหรณ์ นายบุญมีหรือนายบุญหลาย จะมีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่นั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ สัญญาประกันภัยรายนี้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือตกเป็นโมฆียะ เพราะถ้าสัญญาประกันภัยรายนี้ตกเป็นโมฆียะแล้ว นายบุญมีหรือนายบุญหลายย่อมไม่มีสิทธิ เรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

จากข้อเท็จจริง การที่นายบุญมีซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกได้นํารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ไปทําสัญญาประกันวินาศภัย โดยไม่ได้บอกกับบริษัทผู้รับประกันภัยว่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวนั้นนายบุญมากเช่าอยู่ กรณีนี้จึงถือว่าในเวลาทําสัญญาประกันภัย นายบุญมีไม่ได้เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะจูงใจผู้รับ ประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ดังนั้นสัญญาประกันภัยรายนี้จึง ตกเป็นโมฆียะเมื่อนายบุญมากได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแล้วไปประสบอุบัติเหตุ ทําให้รถยนต์บรรทุก ได้รับความเสียหาย นายบุญมีหรือนายบุญหลายจึงไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

สรุป

นายบุญมีหรือนายบุญหลายไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะสัญญาประกันภัยรายนี้ตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 865 วรรคแรก

 

ข้อ 2 นายคงซื้อรถเบนซ์ด้วยเงินสดราคา 3 ล้านบาท นายคงทําสัญญาประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองทุกอย่างรวมถึงตัวรถ ของผู้เอาประกันภัยด้วย จํานวนเงินเอาประกันภัย 2 ล้าน 2 แสนบาท ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับ นายมึนเป็นผู้ทําให้เกิดอุบัติเหตุโดยขับรถกระบะด้วยความประมาท แซงรถบรรทุกคันหน้าเข้าไปใน ช่องเดินรถที่นายคงแล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด โดยนายมึนไม่รอให้รถเบนซ์ของนายคงขับแล่นผ่านไปก่อน เป็นเหตุให้นายคงจําต้องขับรถเบนซ์หลบไปด้านซ้ายของถนนเพื่อไม่ให้ถูกรถของ นายมึนชนประสานงากัน จึงทําให้รถเบนซ์ของนายคงพลิกคว่ำเสียหาย นายคงจึงแจ้งผู้รับประกันภัย บริษัทประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายคงตามทุนประกันคือ 2 ล้าน 2 แสนบาท แต่ปรากฏว่า นายคงนํารถนั้นเข้าอู่ซ่อม และจ่ายค่าซ่อมให้แก่นายเนียนเจ้าของอู่ไป 1 ล้าน 2 แสนบาท อยากทราบว่า บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจํานวน 2 ล้าน 2 แสนบาท จากนายมึนได้หรือไม่เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 880 วรรคแรก “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 880 วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการ กระทําของบุคคลภายนอก และผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิ เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น แต่ผู้รับประกันภัย สามารถเข้ารับช่วงสิทธิไปเรียกเอาแก่บุคคลภายนอกเพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้รับ ความเสียหายจริงเท่านั้น จะเรียกเอาจากบุคคลภายนอกเกินความเสียหายจริงที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้รับไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รถของนายคงผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายโดยการพลิกคว่ำนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทของนายมึนซึ่งขับรถแซงเข้ามาในช่องเดินรถสวน จึงต้องถือว่าวินาศภัย ดังกล่าวได้เกิดขึ้นจากการกระทําของบุคคลภายนอก และการที่บริษัทประกันวินาศภัยได้ชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่นายคง 2 ล้าน 2 แสนบาท ถือว่าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว บริษัทประกันภัยจึงสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายคงที่มีต่อนายมึนบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 880 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันในการเรียกร้องเอาจากนายมึนนั้น จะต้องไม่เกินความเสียหายจริงที่นายคงได้รับจากการกระทําของนายมึน ดังนั้นเมื่อความเสียหายจริงที่นายคงได้รับจาก การกระทําของนายมึนคือ 1 ล้าน 2 แสนบาท บริษัทจึงสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายคงในการเรียกร้องเอาแก่ นายมึนได้เพียง 1 ล้าน 2 แสนบาทเท่านั้น ส่วนที่เกินความเสียหายจริงอีก 1 ล้านบาท นายมึนไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ประกันภัยแต่อย่างใด

สรุป

บริษัทประกันภัยมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของนายคง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายมึน ได้เพียง 1 ล้าน 2 แสนบาทเท่านั้น

 

ข้อ 3 นายเอกชัยสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางวาสนา ทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัท แสนดีประกันชีวิต จํานวนเงินที่เอาประกันภัย 2,000,000 บาท โดยระบุให้นางวาสนาเป็น ผู้รับประโยชน์ นางวาสนาทะเลาะกับนายเอกชัยอย่างรุนแรงเนื่องจากว่านายเอกชัยระแวงว่านางวาสนา จะกลับไปอยู่กับสามีเก่าและคิดจะฆ่าตนเองเพื่อเอาเงินประกันภัย นางวาสนาน้อยใจนายเอกชัยจึงหนี ไปอยู่กับน้องสาว ต่อมาบริษัทประกันภัยส่งกรมธรรม์มาให้นายเอกชัยจึงทําหนังสือแจ้งไปที่บริษัท ประกันภัยว่าตนเองต้องการเปลี่ยนผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกราชลูกชายซึ่งเป็นลูกกับภริยาคนก่อน หลังจากนั้นอีก 2 ปี นายเอกชัยเดินทางไปดูงานที่ต่างจังหวัดได้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นางวาสนาได้ทราบ ข่าวทางหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปเรียกร้องขอเงินประกันชีวิต แต่บริษัทประกันภัยแจ้งว่าได้จ่ายเงินให้แก่นายเอกราชไปแล้ว ดังนี้ บริษัท แสนดีประกันภัยจ่ายเงินให้นายเอกราชนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 891 วรรคแรก “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอา ประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 891 วรรคแรกนั้น แม้ผู้เอาประกันชีวิตจะได้กําหนดตัวผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาประกันชีวิตไว้แล้ว ผู้เอาประกันชีวิตก็ยังมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์ตามสัญญานั้นให้บุคคลอื่นได้ (โอนสิทธิ เรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตในการที่จะได้รับชดใช้เงินที่เอาประกันภัย) เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการต่อไปนี้ ผู้เอาประกันชีวิตไม่มีสิทธิโอนประโยชน์ให้แก่ผู้ใดอีก คือ

1 ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ

2 ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกชัยทําหนังสือแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าต้องการเปลี่ยนตัว ผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกราชลูกชายนั้น ถือเป็นการโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัยให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง คือจากนางวาสนาเป็นนายเอกราช เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางวาสนาผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้รับมอบกรมธรรม์ ประกันภัย เนื่องจากหนีไปอยู่กับน้องสาว และไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทประกันภัยว่าตนเองประสงค์ จะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัยนั้น ดังนั้น การโอนประโยชน์ในสัญญาประกันภัยที่นายเอกชัยได้กระทํานั้น จึงมีผลสมบูรณ์ นายเอกราชจึงเป็นผู้รับโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัยตามมาตรา 891 วรรคแรก

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายเอกชัยประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย การที่บริษัท แสนดีประกันภัยจ่ายเงินประกันภัยตามที่ได้ กําหนดไว้ในสัญญาให้นายเอกราชนั้นจึงถูกต้องแล้ว

สรุป

บริษัท แสนดีประกันภัยจ่ายเงินให้นายเอกราชนั้นถูกต้องแล้ว

Advertisement