การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้ออกหน้าขายส่งน้ำมันปาล์ม  มีหน้าที่ส่งน้ำมันปาล์มให้กับลูกค้า  มีลูกค้าหลายรายสั่งน้ำมันปาล์มเข้ามาเป็นจำนวนมาก  มี  ค  เป็นลูกค้ารายหนึ่งสั่งน้ำมันเป็นจำนวนมาก  ค  กลัวไม่ได้น้ำมันเพราะขณะนี้น้ำมันขาดแคลน  จึงส่งเงินให้มาก่อนที่จะได้รับน้ำมัน  เพราะ  ค  ก็มีลูกค้าของตนเป็นจำนวนมากเช่นกัน  ผลปรากฏว่า  ข  ไม่ส่งน้ำมันให้  ค  ตามกำหนด  ต้องโดนลูกค้าบอกเลิกไม่สั่งน้ำมันกับ  ค  อีก  ทำให้  ค  เสียหาย  ดังนี้  ค  จะฟ้อง  ข  ให้รับผิดในความเสียหายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  จากตัวอย่างข้างต้น  ถ้า  ค  ทราบว่า  แท้ที่จริงธุรกิจน้ำมันนั้นไม่ใช่  ข  เป็นเจ้าของ  แต่กลับเป็น  ก  เจ้าของ  ดังนี้  ค  จะฟ้องให้  ก  รับผิดในความเสียหายได้หรือไม่  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  มอบหมายให้  ข  ออกหน้าขายส่งน้ำมันปาล์ม  ซึ่งจากพฤติการณ์ทำให้บุคคลภายนอกเชื่อว่า  ข  เป็นตัวการนั้น  ถือเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  เมื่อ  ค  บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายและไม่รู้ว่ามีตัวการ  ข  จึงต้องรับผิดต่อ  ค  เช่นเดียวกับเป็นตัวการเอง  ดังนั้น  ค  จึงสามารถฟ้อง  ข  ให้รับผิดในความเสียหายได้  ข  จะปฏิเสธว่าตนเป็นเพียงตัวแทนเพื่อไม่ต้องรับผิดไม่ได้ตามมาตรา  806  (ฎ. 311/2523)

ส่วนอีกประการหนึ่งนั้น  ถ้า  ค  ทราบว่าแท้จริงธุรกิจน้ำมันไม่ใช่  ข  เป็นเจ้าของ  แต่กลับเป็น  ก  เป็นเจ้าของ  เมื่อเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  และบุคคลภายนอกรู้แล้วว่าตัวการคือใคร  ดังนั้น  ข  ตัวแทนจึงหลุดพ้นจากความรับผิด  ค  จึงฟ้อง  ก  ตัวการให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  และ  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้  เพราะบทบัญญัติมาตรา  806  เป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798

สรุป  ประการแรก  ค  ฟ้อง  ข  ให้รับผิดในความเสียหายได้  และประการที่สอง  ค  ฟ้อง  ก  ให้รับผิดในความเสียหายได้  ก  จะปฏิเสธว่า  ค  ไม่มิอำนาจฟ้อง  ก  เพราะ  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือไม่ได้

 

ข้อ  2  นายแดงเปิดร้านขายรถยนต์มือสองเป็นอาชีพอยู่ที่ถนนลาดพร้าว  นายดำได้นำรถยนต์ใช้แล้วหนึ่งคันไปฝากนายแดงขายโดยกำหนดให้ขายในราคาคันละ  300,000  บาท  และตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายแดงเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  ปรากฏว่านายแดงได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา  350,000  บาท  แต่ไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่นายดำโดยนำเงินจำนวนนั้นไปใช้จ่ายส่วนตัวเสีย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายแดงจะต้องรับผิดชอบต่อนายดำอย่างไร  เพราะเหตุใด

และอีกกรณีหนึ่ง  ถ้านายแดงได้นำเงินไปมอบให้แก่นายดำเพียง  300,000  บาท  ตามที่นายดำกำหนด  ส่วนอีก  50,000  บาท  ได้นำไปใช้จ่ายส่วนตนเสีย  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของนายแดงถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

มาตรา  811  ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ  หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจกรรมของตัวการนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย  ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

มาตรา  833  อันว่าตัวแทนค้าต่าง  คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ  หรือขายทรัพย์สิน  หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา  835  บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น  ท่านให้ใช้บังคับถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา  840  ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด  หรือทำการซื้อได้ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้  ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่  ต้องคิดให้แก่ตัวการ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายดำได้นำรถยนต์ใช้แล้วหนึ่งคันไปฝากนายแดงขายในราคาคันละ  300,000  บาท  ซึ่งนายแดงได้เปิดร้านขายรถยนต์มือสองเป็นอาชีพนั้น  ถือว่านายแดงเป็นตัวแทนค้าต่างตามมาตรา  833

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายแดงได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา  350,000  บาท  แต่ไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่นายดำ  กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องตัวแทนมาบังคับใช้กับตัวแทนค้าต่างโดยอนุโลมตามมาตรา  835  กล่าวคือ  นายแดงจะต้องนำเงินจำนวน  350,000  บาท  ซึ่งได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น  ส่งให้แก่ตัวการจงสิ้นตามมาตรา  810  แต่เมื่อปรากฏว่านายแดงตัวแทนค้าต่างได้นำเงินของนายดำตัวการซึ่งควรจะได้ส่งแก่นายดำตัวการไปใช้จ่ายส่วนตัวเสีย  นายแดงตัวแทนค้าต่างจึงต้องรับผิดคือต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นให้กับนายดำตัวการนับแต่วันที่ได้เอาเงินไปใช้ตามมาตรา  811

และอีกกรณีหนึ่ง  ถ้านายแดงได้นำเงินไปมอบให้แก่นายดำเพียง  300,000  บาท  ตามที่นายดำกำหนด  ส่วนอีก  50,000  บาท  ได้นำไปใช้จ่ายส่วนตนเสีย  การกระทำของนายแดงย่อมไม่ถูกต้องเพราะถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด  ตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่  ต้องคิดให้แก่ตัวการตามมาตรา  840  ดังนั้น  นายแดงจึงต้องนำเงินจำนวน  50,000  บาท คืนให้แก่นายดำตัวการ  จะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนไม่ได้

สรุป  กรณีแรกนายแดงจะต้องรับผิดชอบต่อนายดำคือต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นให้กับนายดำ  นับแต่วันที่ได้เอาเงินไปใช้  และกรณีที่สองการกระทำของนายแดงไม่ถูกต้องตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  ก  มอบให้  ข  เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนในราคาสิบล้านบาท  โดยตกลงจะให้ค่านายหน้าร้อยละสาม  ข  พาผู้สนใจมาดูที่ดินหลายคน  รวมทั้ง  ค  ด้วย  ก็ยังไม่มีการตกลงซื้อขายเพราะต่างเห็นว่าราคาที่ดินสูงไป  ต่อมา  ค  ไปพบ  ก  เสนอร่วมทุนกันทำตลาดนัดเพราะทำเลดี  โดยให้  ก  ลงทุนฝ่ายที่ดิน  ส่วน  ค  เป็นผู้สร้างอาคารร้านค้าและดำเนินการหาผู้มาค้าขาย  นำกำไรมาแบ่งกัน  ซึ่ง  ก  ก็ตกลงด้วยในการทำตลาดนัดดังกล่าว  อยากทราบว่า  ก  จะต้องจ่ายค่านายหน้าให้  ข  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  845  วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  845  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่า  ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง  หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก  และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น  และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว  นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม  หากสัญญานายหน้านั้นมีวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่นใด  เช่น  ตกลงกันว่าให้นำทรัพย์สินไปขาย  หรือให้นำไปเช่า  นายหน้าจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จค่านายหน้าก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จตามวัตถุประสงค์นั้นแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  มอบให้  ข  เป็นนายหน้าขายที่ดินของตน  และ  ข  ได้พาผู้สนใจมาดูที่ดินหลายคน  รวมทั้ง  ค  ด้วย  แต่ยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินกันนั้น  เมื่อปรากฏว่าต่อมา  ค  ไปพบ  ก  และ  เสนอร่วมทุนกันทำตลาดนัดเพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ในทำเลดี  กรณีนี้ถึงแม้  ข  จะเป็นผู้มีส่วนทำให้  ค  ได้พบกับ  ก  และได้มีการร่วมทุนทำตลาดนัดกับ  ก  แต่การตกลงทำสัญญาร่วมทุนกันดังกล่าวถือเป็นเรื่องนอกกรอบวัตถุประสงค์ของสัญญานายหน้าที่ตกลงกันว่าให้นายหน้านำที่ดินออกขาย  ดังนั้น  ข  นายหน้าจึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จค่านายหน้าตามมาตรา  845  วรรคแรก  ก  จึงไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้กับ  ข

สรุป  ก  ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้  ข  ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

Advertisement